เมื่อเช้าวันที่ 7 ธันวาคม 2564 คุณวิบูลย์ สุภัครพงษ์กุล อุปนายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย เข้าร่วมการประชุมพิจารณาร่างแผนกลยุทธ์การวิจัยและพัฒนาด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรและ อาหารของประเทศไทย ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) ซึ่งจัดโดยสถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (NIDA) โดยภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องได้เข้าร่วมรับฟังเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและใช้เป็นแนวทางในการวางรากฐาน ยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเกษร เพื่อพัฒนาประเทศให้มีเสถียรภาพและยั่งยืน รอบแนวทางการบูรณาการ
1. แผนกลยุทธ์และการวิจัยด้านเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารภายใต้กรอบระยะเวลา 5 ปี เน้นการพัฒนา 3 ด้านดังนี้
(1)เพิ่มความสามารถการแข่งขันในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ด้วยการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อเพิ่มผลิตภาพและการเข้าถึงตลาดสินค้ามูลค่าสูง
(2) ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรเกษตร แหล่งเงินทุน เทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรมด้านการเกษตร
(3) จัดการปัจจัยการผลิต ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาแผนการทำงานที่อยู่ภายใต้กลยุทธ์ดังกล่าว โดยมีความเห็นรวมว่าสถานการณ์ด้านสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม จะมีการเปลี่ยนแปลงตามบริบทของสิ่งแวดล้อมและสถานการณ์ของประเทศคู่ค้า มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทับซ้อน รวมถึงกฎหมายของแต่ละหน่วยงานที่กำหนดใช้กับผู้ประกอบการบางครั้งไม่เกิดความเชื่อมโยงหรือเป็นอุปสรรคต่อการนำไปใช้ปฏิบัติในการพัฒนาด้านผลผลิตและการจัดการด้านการเกษตร ซึ่งควรจะมีการทบทวนเรื่องของกฎหมายกฎระเบียบร่วมในแผนงาน
จากข้อมูลของคณะผู้วิจัย พบว่างานวิจัยที่สนับสนุนการแปรรูปเป็นมูลค่าเพิ่มในช่วงปลายน้ำมีน้อยมาก จึงส่งผลต่อศักยภาพในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านตลาด ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่จะย้อนกลับไปสนับสนุนและให้การช่วยเหลือพัฒนาในต้นน้ำ จึงขอให้มีการเพิ่มเติมแผนกิจกรรมเพื่อเกิดความเชื่อมโยงตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรมและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ
คุณวิบูลย์ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การสนับสนุนงานวิจัยในด้านสัตว์น้ำในแผนกิจกรรมตามกลยุทธ์มีน้อยมาก โดยเฉพาะด้านสัตว์น้ำ และยกตัวอย่างสัตว์น้ำเศรษฐกิจสำคัญ ในอุตสาหกรรมการผลิตและส่งออกสินค้ากุ้ง ซึ่งเดิมเป็นสินค้าที่ทำรายได้ให้กับเศรษฐกิจไทย เมื่อเกิดโรคระบาด EMS มาเกือบ 10 ปี ไทยยังไม่มีงานวิจัยออกมารองรับ และสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรในการเพาะเลี้ยงกุ้ง จึงขอให้พิจารณาเพิ่มแผนงานในด้านการวิจัยและส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้เกิดความยั่งยืน มีคุณภาพ ให้มีปริมาณมากสามารถสร้างมูลค้าจากการส่งออกรวมถึงบริโภคในประเทศได้

