แถลงข่าว “คัดค้านนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ”

แถลงข่าว “คัดค้านนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ” โดยเสนอ 4 ข้อ การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ และในวันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม 2567 จะมีการขอเข้าพบและยื่นหนังสือต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ก่อนการประชุมคณะกรรมการไตรภาคีในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้
ในวันอังคารที่ 7 พฤษภาคม 2567 เวลา 10.00-11.00 น. ณ ห้อง Activity Hall อาคารบรรเจิด ชลวิจารณ์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จัดโดยคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน คุณอนุชา เตชะนิธิสวัสดิ์ นายกสมาคมฯ, คุณวิบูลย์ สุภัครพงษ์กุล อุปนายกฯ ได้เข้าร่วมจัดแถลงข่าว “คัดค้านนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ”โดยมีหอการค้าทั่วประเทศ และสมาคมการค้าที่ใช้แรงงาน มากกว่า 50 สมาคม เข้าร่วมในการแสดงจุดยืนภาคเอกชนในการคัดค้านค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ โดยเสนอ 4 ข้อ
1. หอการค้าทั่วประเทศ และสมาคมการค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น เห็นด้วยกับการมุ่งมั่นตั้งใจยกระดับรายได้ เพื่อแรงงานไทยในประเทศไทยและวิถีชีวิตประชาชนให้ดีขึ้น แต่การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปีควรปรับตามที่กฎหมายบัญญัติกำหนดไว้ในมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ส่วนการยกระดับรายได้ลูกจ้างให้สูงขึ้น ก็สามารถทำได้โดยกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ซึ่งกฎหมายบัญญัติกำหนดไว้แล้วเช่นกัน
2. ไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ โดยไม่คำนึงถึงผลการศึกษาและการรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) อีกทั้ง ปัจจุบัน รัฐบาลได้ดำเนินการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2567 ไปแล้ว 2 ครั้ง จึงไม่ควรมีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปีเป็นครั้งที่ 3
3. อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเพียงอัตราค่าจ้างของแรงงานแรกเข้าที่ยังไม่มีฝีมือ แต่การปรับอัตราจ้างควรพิจารณาจากทักษะฝีมือแรงงาน ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งส่งเสริมมาตรการทางภาษี ลดอุปสรรคต่อการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการและแรงงาน ให้ความสำคัญกับการ UP-Skill & Re-Skill และ New Skill เพื่อสร้างแรงงานที่มีทักษะฝีมือให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity)
4. การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉพาะพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ ควรให้มีการรับฟังความคิดเห็น และศึกษาถึงความพร้อมของแต่ละพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ รวมทั้งควรให้มีการหารือร่วมกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำความเข้าใจก่อนปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉพาะพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ ดังกล่าว
โดยยังคงสนับสนุนให้รัฐบาลพิจารณานโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี ตามหลักกฎหมายซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ตามที่คณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) ต้องศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ ประกอบกับข้อเท็จจริงอื่นโดยคำนึงถึงดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้าและบริการ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความสามารถของประเภทธุรกิจตามที่กฎหมายกำหนด ผ่านระบบและกลไกการพิจารณาศึกษาของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) เพื่อปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปีให้เหมาะสมกับสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน

รศ.ดร. ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้มีข้อมูลในเรื่องหลักการที่เหมาะสมในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ตาม ILO โดยการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หลักประกันขั้นต้นแก่ลูกจ้างไม่มีฝีมือเมื่อแรกเข้าทำงาน ซึ่งลูกจ้างคนเดียวควรจะได้รับและสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ตามสภาพเศรษฐกิจและสังคม ณ ปัจจุบัน ทั้งนี้ค่าจ้างที่ได้รับจะต้องไม่น้อยกว่าค่าจ้างที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ยังต้องดูในประสิทธิภาพแรงงาน (Labour Productivity) และความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง (Ability to Pay) ด้วย นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจากสมาคมการค้าต่างๆ ร่วมแสดงความคิดเห็นผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ เช่น ผู้แทนสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย, สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย, สมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย, สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป, สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย, สมาคมยางพาราไทย, สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, สมาคมธุรกิจไม้, สมาคมเฟอร์นิเจอร์ไทย, สมาคมโรงแรมไทย, สมาคมผู้ค้าปลีกไทย, สมาคมผู้ประกอบการรักษาความปลอดภัยแห่งประเทศไทย และสมาคมตลาดสดไทย เป็นต้น

Public on 6th September 2022
Copyright of Thai Frozen Foods Association