ประชุมชี้แจงผลการประเมินความก้าวหน้าโครงการปรับปรุงการทำประมงปูม้าของไทยอย่างยั่งยืน ประจำปี 2566

วันที่ 20-21 มีนาคม 2567 เวลา 14.30-18.00 น. ณ ห้องประชุมกุลาดำ กรมประมง และทางระบบการประชุม Zoom Online Meeting
สมาคมฯ โดย คุณตรีรัตน์ เชาวน์ทวี ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการกลุ่มผลิตภัณฑ์ปู, คุณธวัชชัย พูนช่วย กรรมการสมาคมฯ และประธานคณะอนุกรรมการฯ, คุณโอปอ ศรีผา คณะอนุกรรมการฯ เข้าร่วมการประชุมชี้แจงผลการประเมินความก้าวหน้าโครงการปรับปรุงการทำประมงปูม้าของไทยอย่างยั่งยืน ประจำปี 2566 ร่วมกับหน่วยงาน Marine Resources Assessor Group (MRAG) โดยมีสาระสำคัญจากการประชุม ดังนี้
1. ทาง MRAG ได้ชี้แจงผลการประเมินตามแต่ละหลักการภายใต้มาตรฐาน MSC (Marine Stewardship Council) ได้แก่
หลักการที่ 1 Stock
- ประเด็นในส่วนของการกำหนดค่า Minimum Landing Size (MLS) ของปูม้า ซึ่งยังไม่สามารถกำหนดขนาดได้ เนื่องจากยังมีความคิดเห็นขัดแย้งกันระหว่างประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ โดยกรมประมงชี้แจงเพิ่มเติมว่า ประเด็นนี้ติดขัดในส่วนของ พรก.ประมง มาตราที่ 57 ซึ่งตอนนี้กรมประมงอยู่ระหว่างการเสนอปรับแก้ไข มาตรา 57 เพื่อให้สามารถกำหนดขนาดปูม้า และกำหนด Allowance ของการจับปูม้าขนาดเล็กได้ โดยกองกฎหมายจะจัดทำเปรียบเทียบการปรับแก้มาตรา 57 และกระบวนการประกาศกฎหมายลำดับรอง และจัดส่งให้กับ MRAG ต่อไป
- ประเด็นการประกาศใช้ HCRs การประมงปูม้า สมาคมฯ ได้ชี้แจงว่า กรมประมงได้จัดทำการประชุมขอความเห็น HCRs กับชาวประมงเรียบร้อยแล้ว โดยจัดทำใน 6 พื้นที่ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมชาวประมงทั้งหมด 300 คน โดยผลการประชุมขอความเห็น ส่วนใหญ่ชาวประมงเห็นด้วยกับการประกาศใช้ HCRs ดังกล่าวในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งสมาคมฯ ได้รับรายงานการประชุมจากกรมประมงเรียบร้อยแล้ว และจะเร่งแปลเอกสารและจัดส่งให้กับ MRAG ต่อไป
- การจัดทำการประเมิน Uncertainty Factor สำหรับการคำนวณค่าทรัพยากรปูม้า ด้วยวิธี MSY นั้น ทาง MRAG มีคำถามว่า ทางกรมประมงมีการลด Uncertainty Factor ในโมเดลของ MSY หรือไม่ อย่างไร ซึ่งกรมประมงและอาจารย์ทวนทองจะประสานข้อมูลระหว่างกันและส่งให้กับสมาคมฯ ต่อไป
- ประเด็นการวิจัย เรื่อง การประเมินธนาคารปูม้าต่อการเพิ่มจำนวนทรัพยากรปูม้า นั้น ทางอาจารย์สนธยาจะจัดทำคำอธิบายเพิ่มเติมในประเด็นที่ MRAG สอบถาม โดยเฉพาะประเด็นการยืนยันนัยสำคัญของผลจับ และการ Run Model เพื่อยืนยันค่า CPUEs
หลักการที่ 2 ระบบนิเวศ
- การทบทวนมาตรการและสถานะของระบบนิเวศ โดยสมาคมฯ จะนำข้อมูลเดิมทีเคยจัดส่งให้กับ MRAG เพื่อยืนยันว่าการประมงปูม้าไม่ได้ทับซ้อนกับแหล่งที่อยู่อาศัย และ ETP Species
- การจัดทำกลยุทธ์สำหรับการจัดการ Ghost Gear โดยทางกรมประมงได้ชี้แจงว่า กรมประมงยังไม่มีการจัดทำกลยุทธ์ในเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ตาม มีการวิจัยในเรื่องจากกรมประมงอยู่ 2 เรื่อง และกรมประมงได้จัดทำโครงการเก็บขยะทะเลร่วมกับชาวประมงอยู่ ซึ่งกรมประมงจะจัดส่งข้อมูลให้กับ MRAG ต่อไป
หลักการที่ 3 การบังคับใช้กฎหมาย
- ทาง MRAG ต้องการข้อมูลจำนวนเรือประมงพื้นบ้านในอ่าวไทย โดยแยกเครื่องมืออวนจมปูและลอบปู ซึ่งกรมประมงมีข้อมูลดังกล่าวจากการขึ้นทะเบียนเรือประมงกับกรมเจ้าท่าอยู่แล้ว
- การจับการกระทำการประมงผิดกฎหมาย เพื่อให้เห็นแนวโน้มว่า การกระทำผิดจากการประมงมีแนวโน้มลดลงหรือไม่ โดยกรมประมงจะเพิ่มเติมข้อมูลในส่วนนี้ให้กับทาง MRAG
- องค์ประกอบและหน้าที่ของคณะกรรมการ/คณะทำงานที่เกี่ยวข้องกับปูม้า โดยสมาคมฯ ได้ชี้แจงว่า มีคณะกรรมการ/คณะทำงานที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงปูม้า 2 คณะหลัก ได้แก่ คณะกรรมการประมงจังหวัด และคณะกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรปูม้าของไทยอย่างยั่งยืน ซึ่งสมาคมฯ จะแปลคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ทั้ง 2 คณะนี้ รวมถึงอำนาจหน้าที่ และจัดส่งให้กับ MRAG ต่อไป

ทั้งนี้ ทาง MRAG ได้เสนอว่า ข้อมูลที่จะจัดส่งเพิ่มเติม ควรจัดส่งภายในสัปดาห์หน้า ก่อนจะจัดทำรายงานผลการประเมินให้แล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2567

Public on 6th September 2022
Copyright of Thai Frozen Foods Association