ประชุมหารือเพื่อเตรียมการให้ข้อมูลและชี้แจงกับเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ

18 กันยายน 2567 ณ กรมประมง สมาคมฯ โดย ดร.ผณิศวร ชำนาญเวช นายกกิตติคุณสมาคมฯ, คุณนคร หาญไกรวิไลย์ กรรมการสมาคมฯ, คุณเสาวนีย์ คำแฝง ผอ.สมาคมฯ และคุณวาสนา ตรังใจจริง จนท.สมาคมฯ เข้าร่วมประชุมหารือ เพื่อเตรียมการให้ข้อมูลและชี้แจงกับเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา ร่วมกับกรมประมงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม อาทิ สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย  สมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย ปศุสัตว์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และ Seafood Task Force โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา(U.S Department of Labor: DOL) ได้จัดทำรายงานและเผยแพร่ 3 รายงาน สรุปประเด็นสำคัญ ดังนี้

1. รายงานประจำปี ฉบับที่ 23 ด้านการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด (Findings on the Worst Forms of Child Labor (TDA Report)) ของประเทศต่างๆ ทุกปี  เผยแพร่เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2567 สาระสำคัญคือ ในปี 2566 ประเทศไทยมีความพยายามในระดับปานกลาง ในการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย มีการเพิ่มการดำเนินคดีต่อบุคคล ที่มีความพยายามแสวงหาประโยชน์จากการค้าทางเพศจากเด็ก 197 คดี จากเดิม 67 คดี ในปี 2565 มีมติอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้ลงทะเบียน และบุตรซึ่งมีความเสี่ยงต่อการถูกแสวงหาประโยชน์ด้านแรงงาน และการค้ามนุษย์ได้ลงทะเบียน และอยู่ในประทศไทยได้ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2568 รัฐบาลสร้างเครือข่ายป้องกันด้านแรงงานขึ้นในแอพพลิเคชั่น Line มีสมาชิก 2,106 คน ครอบคลุม 33 จังหวัด เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับแรงงานเด็ก แต่ประเทศไทยยังไม่สามารถดำเนินการได้ตามมาตรฐานระหว่างประเทศ เรื่อง อายุขั้นต่ำในการทำงานเพราะกฎหมายไม่ให้การคุ้มครองเด็กที่ทำงานนอกระบบ  รวมถึง ประเทศไทยยังขาดการวิจัยและข้อมูลการใช้แรงงานเด็กในภาคส่วนที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เกษตรกรรม การผลิตเครื่องนุ่งห่ม การทำงานบ้าน และงานก่อสร้าง และกฎกระทรวงว่าด้วยการปกป้องการทำงานในภาคประมง ปี 2014 อนุญาตให้เจ้าของเรือใช้ญาติที่มีอายุ 16 ปี ฝึกงานในเรือได้

2. รายงานบัญชีรายชื่อสินค้าที่มีเหตุผลเชื่อได้ว่าผลิตโดยใช้แรงงานเด็กหรือแรงงานบังคับ (List of Good Produced by Child Labor or Forced Labor (TVPRA List)) ฉบับที่ 11 จัดทำทุก 2 ปี เผยแพร่เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2567  และจัดทำรายชื่อสินค้าที่มีการใช้แรงงานเด็กหรือแรงงานเด็กขัดหนี้ (List of Products Produced by Forced or Indentured Child Labor หรือ EO List) ด้วย ทั้งนี้ การจัดทำ TVPRA List จะไม่ส่งผลต่อการคว่ำบาตรทางการค้า โดยการพิจารณารอบนี้ ได้ถอดถอนสินค้ากุ้งของไทยออกจากบัญชีรายชื่อประเทศที่มีการใช้แรงงานเด็ก TVPRA List และ EO List แล้ว แต่ยังคงให้ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้ากุ้ง โดยใช้แรงงานบังคับที่เป็นผู้ใหญ่อยู่ นอกจากนี้ ได้เพิ่ม 3 รายการสินค้าใน TVPRA List ได้แก่ ปลาป่น (fishmeal) น้ำมันปลา(fish oil) และ อาหารสัตว์(Animal Feed) โดยมีเหตุอันเชื่อได้ว่าสินค้าปลาป่น น้ำมันปลา และอาหารสัตว์ที่ผลิตในประเทศไทยใช้วัตถุดิบที่ได้มาจากแรงงานบังคับ โดยเฉพาะสัตว์น้ำที่จับในประเทศ โดยสัตว์น้ำ(ปลา)ของไทยถูกขึ้นลิสต์ว่าเป็นสินค้าที่ผลิตโดยใช้แรงงานเด็กหรือแรงงานบังคับมาตั้งแต่ปี 2555 โดยระบุว่า แรงงานข้ามชาติจากเมียนมา กัมพูชา ลาว เป็นแรงงานบังคับที่ทำงานในเรือประมง โดยได้รับค่าจ้างต่ำ และไม่สม่ำเสมอ ทำงานอาจมากถึง 20 ชม.ต่อวัน ไม่มีอาหาร น้ำ ยารักษาโรคอย่างเพียงพอ และมีการละเมิดทางร่างกาย และจะถูกเจ้าของเรือยึดเอกสารระบุตัวตนของแรงงาน

3. รายงานการศึกษาห่วงโซ่อุปทานด้านแรงงานบังคับในอุตสาหกรรมการประมงของประเทศไทย (Supply Chain study on Forced Labor in the Fishing Industry in Thailand) ของกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา ประเด็นสำคัญคือ ของกระทรวงแรงงานสหรัฐให้ทุนสนับสนุนการวิจัยดังกล่าวฯ  ซึ่งศึกษาโดย ICF และบริษัทสุภา 71 จำกัด วิธีการศึกษาเป็นแบบผสมผสาน โดยใช้การสำรวจและสัมภาษณ์โดยมุ่งเน้นไปที่ห่วงโซ่อุปทานที่มาจากท่าเรือหลัก 3 แห่ง ในจังหวัดสมุทรสาคร สงขลา และระนอง การสัมภาษณ์แรงงานดำเนินการในช่วงเดือนตุลาคม 2566 จำนวน 400 คน จากการสัมภาษณ์ มีแรงงาน 21 คน ที่มีการสัมภาษณ์แบบเชิงลึก และสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานและสภาพการทำงานในอุตสาหกรรมการทำประมง 31 คน โดยกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 97 เป็นแรงงานต่างชาติ จากจำนวน 400 คน มีผู้ตอบแบบสัมภาษณ์ 47 คน คิดเป็นร้อยละ 12 เข้าข่ายตามคำจำกัดความของแรงงานบังคับ โดยเป็นชาวประมง 23 คน คนงานท่าเรือ 6 คน คนงานในโรงงาน 18 คน(รายละเอียดตามเอกสารแนบ)

ที่ประชุม ผู้เข้าร่วมประชุม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความเห็นร่วมกัน ดังนี้

1. รายงานการศึกษาห่วงโซ่อุปทานด้านแรงงานบังคับฯ ของ DOLข้อมูลในรายงานวิจัยที่ได้จากการสัมภาษณ์คนงาน หรือเก็บข้อมูลบางส่วนไม่ถูกต้อง คลาดเคลื่อน ไม่สอดคล้องกับความจริงของอุตสาหกรรมประมง

ส่งผลกระทบในเชิงลบทำให้ภาพลักษณ์อุตสาหกรรมประมงเสียหาย ทำให้ประเทศคู้ค้าปลายทางขาดความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ประมงของไทย

2. กรมประมงและกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จะจัดตั้งทีมหรือคณะทำงานกลุ่มย่อย เพื่อดำเนินการจัดเตรียมข้อมูล และชี้แจงให้กับเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ที่จะมาในวันที่ 24 กันยายน 2567 เพื่อให้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ จะเข้าพบกระทรวงแรงงานในวันที่ 26 กันยายน 2567 เพื่อหารือทุกกลุ่มสินค้าที่อยู่ใน TVPRA List

3. กรมประมงจะประชาสัมพันธ์ชี้แจงข้อเท็จจริงในแต่ละประเด็น เป็นระยะ เช่น การทำงานของศูนย์ PIPO 

4. ข้อเสนอในที่ประชุม เห็นว่าควรมีการจัดจ้างหน่วยงานหรือสถาบันศึกษา จัดทำวิจัย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือในการชี้แจงข้อกล่าวหา

5. การดำเนินงานควรทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมหรือ NGO เพื่อให้ข้อมูลมีน้ำหนัก และสร้างความน่าเชื่อถือให้กับอุตสาหกกรรมประมงไทย

6. สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ยินดีเข้าร่วมและแบ่งปันประสบการณ์ในการจัดทำข้อมูลการแก้ไขปัญหาด้านแรงงานในกับคณะทำงานกลุ่มย่อยที่จะจัดตั้งขึ้น

Public on 6th September 2022
Copyright of Thai Frozen Foods Association