ประชุมเพื่อหารือความคืบหน้าแผนปฏิบัติการจัดการประมงอวนลากอ่าวไทย (Gulf of Thailand Trawl Fisheries Action Plan: FAP)

วันอังคารที่ 18 กรกฎาคม 2566 เวลา 09.30-14.00 น. ณ ห้องประชุมพะยูน อาคารจุฬาภรณ์ กรมประมง
สมาคมฯ โดย นายประมุข ตะเคียนคาม ผู้จัดการฝ่ายบริการข้อมูลวิชาการ เข้าร่วมการประชุมเพื่อหารือความคืบหน้าแผนปฏิบัติการจัดการประมงอวนลากอ่าวไทย (Gulf of Thailand Trawl Fisheries Action Plan : FAP) กับหน่วยงานมาตรฐานสากล MarinTrust โดยมี นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง เป็นประธานที่ประชุม มีสาระสำคัญจากการประชุม ดังนี้
1. ผู้แทนจาก MarinTrust ได้มีการรายงานความคืบหน้าการพัฒนามาตรฐานการประมงแบบหลากหลายสายพันธุ์ (Fisheries Multi - Species) ซึ่งจะมีการประกาศใช้มาตรฐาน Version 3 ภายในเดือนตุลาคม 2566 โดยเพิ่มมาตรการด้านแรงงาน, Zero Waste และ Environment Control ซึ่งเริ่มที่โรงงานผู้ผลิตปลาป่นและอาหารสัตว์ก่อน ขณะนี้อยู่ระหว่างการขอข้อคิดเห็นต่อมาตรฐาน Version 3 ในส่วนของประเทศไทย ทาง MarinTrust มองว่า มีความก้าวหน้าในการจัดทำโครงการฯ อย่างต่อเนื่อง โดยมีโรงงานปลาป่นและอาหารสัตว์ ได้เข้าร่วม Improvement Program แล้ว 4 ราย
2. ผู้แทน TSFR ได้มีการรายงานความคืบหน้าโครงการแนวทางการพัฒนาประมงอวนลากในอ่าวไทยและที่ประชุมได้ร่วมพิจารณาแนวทางการดำเนินงานภายใต้แผนปฏิบัติการบริหารจัดการประมงอวนลากอ่าวไทย (FAP) รวมถึงรับทราบการดำเนินงานโครงการวิจัยเพื่อปิดช่องว่างการประเมิน (GAP) ผ่านการจัดทำงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) ด้วย ได้แก่ การประเมินความเปราะบางของชนิดพันธุ์สัตว์น้ำ (Productivity Susceptibility Analysis : PSA) ของการประมงอวนลากฝั่งอ่าวไทย, การวิเคราะห์องค์ประกอบด้านสิ่งแวดล้อมของน้ำทะเลในอ่าวไทย และการวิเคราะห์แหล่งที่อยู่อาศัย (Habitat) และ ETP Species ที่เกี่ยวข้องกับการประมงอวนลากฝั่งอ่าวไทย โดยการวิจัยเหล่านี้อยู่ในช่วงการวิจัยปีที่ 3 และรอรายงานความก้าวหน้ากับ สวก. ต่อไป
3. กรมประมง โดยกองวิจัยและพัฒนาประมงทะเล ได้นำเสนอภารกิจของกรมประมงที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงการทำประมงอวนลาก อาทิ การขึ้นทะเบียนเรือประมง การกำหนดวันทำการประมง โครงการซื้อเรือคืน การประกาศขนาดตาอวนลาก การประกาศปิดพื้นที่ทำการประมง เป็นต้น
4. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้จัดทำแผนงานที่น่าจะเกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการฯ ได้แก่ การติดตามสถานภาพแหล่งที่อยู่อาศัย การติดตามสัตว์ทะเลหายากและสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม และการอบรมการช่วยชีวิตสัตว์ทะเล เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมในส่วนของการสำรวจสาเหตุการตายของ ETP Species ด้วย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อโครงการฯ
5. ทั้งนี้ ทาง Marintrust มีความพึงพอใจกับความก้าวหน้าของโครงการฯ และขอให้ทางคณะทำงานฯ จัดส่งข้อมูลความก้าวหน้าโครงการฯ ให้กับ MarinTrust ทราบเป็นระยะ (ทุก 6 เดือน) เพื่อนำไปประเมินผลสัมฤทธิ์รายกิจกรรมภายใต้แผนปฏิบัติการฯ ต่อไป

หลังจากการประชุม หน่วยงาน Marintrust มีกำหนดจะลงพื้นที่ดูขั้นตอนการขึ้นปลาของเรืออวนลากคู่ที่จังหวัดสมุทรสาคร และโรงงานผู้ผลิตปลาป่นในวันที่ 19-20 กรกฎาคม 2566 ก่อนเดินทางไปยังประเทศเวียดนาม เพื่อติดตามโครงการในลักษณะเดียวกันนี้ต่อไป

Public on 6th September 2022
Copyright of Thai Frozen Foods Association