ประชุมหารือการอนุญาตและการตรวจสอบสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำนำเข้า

วันพฤหัสบดีที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 09.30-11.45 น. ณ ห้องประชุมกุลาดำ กรมประมง และการประชุมออนไลน์ Zoom
สมาคมฯ โดย คุณอนุชา เตชะนิธิสวัสดิ์ นายกสมาคมฯ, ดร.นันทิยา อุ่นประเสริฐ ที่ปรึกษาอาวุโสสมาคมฯ และ คุณเสาวนีย์ คำแฝง ผู้อำนวยการสมาคมฯ พร้อมด้วยสมาชิกสมาคมฯ เข้าร่วมการประชุมหารือการอนุญาตและการตรวจสอบสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำนำเข้า โดยมี นายถาวร ทันใจ รองอธิบดีกรมประมง เป็นประธานที่ประชุม โดยมีสาระสำคัญจากการประชุม ดังนี้
กรมประมงได้ชี้แจงว่า ตามที่กรมประมงได้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ปราบปรามการลักลอบนำเข้า ส่งออกสินค้าประมงผิดกฎหมาย โดยได้ตรวจสอบเอกสารประกอบการนำเข้า ซึ่งมีการตรวจ พบว่า เอกสารที่แสดงเป็นเอกสารปลอมและเป็นเอกสารที่ ไม่ได้ออกจากหน่วยงานรัฐ ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว กรมประมงจึงได้พิจารณาแนวทางการแสดงเอกสารประกอบการขออนุญาตให้นำเข้าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำตามมาตรา 92 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จึงนำเสนอที่ประชุมพิจารณาประเด็น ดังนี้
เอกสารประกอบการนำเข้าตาม ประกาศกรมประมง เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตและการอนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ พ.ศ. 2560 ข้อ 10.2 การนำเข้าที่มิใช่การนำเข้าตาม 10.1 ต้องแสดงใบรับรองการจับสัตว์น้ำ (Catch Certificate) หรือสำเนาการแจ้งนำสินค้าออกจากต้นทาง (Custom Clearance) หรือสำเนาใบขนสินค้าขาออก (Custom Declaration) หรือใบรับรองการส่งออกสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ออกโดยหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้ว พบว่า มีบางเอกสารที่ไม่ได้ออกโดยหน่วยงานภาครัฐ อาทิ Certificate of Origin และ Health Certificate ที่ออกโดยสภาหอการค้า และเอกสารที่ใช้แสดงการขออนุญาตไม่ได้เป็นภาษาอังกฤษ จึงเสนอที่ประชุมพิจารณา ขอให้ใช้เอกสารที่ออกโดยหน่วยงานภาครัฐประกอบการขออนุญาตนำเข้าเท่านั้น และเอกสารที่ไม่ได้เป็นภาษาอังกฤษ จะต้องจัดทำคำแปลเอกสารเป็นภาษาไทยตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อใช้แนบประกอบเอกสารต้นฉบับ
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีข้อเสนอ ดังนี้
- การขอ Certificate of Origin ที่ออกโดยหน่วยงานภาครัฐ ค่อนข้างใช้เวลานาน
- การแปลเอกสารที่ต้องรับรองความถูกต้องตามกฎกระทรวง (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ใช้เวลานานและมีค่าใช้จ่ายในการรับรอง
จึงเสนอว่า หากผู้ประกอบการมีเอกสารตามข้อ 10.2 ที่ออกโดยหน่วยงานรัฐอยู่แล้วก็สามารถสำแดงต่อเจ้าหน้าที่ด่านตรวจสัตว์น้ำได้เลย และขอให้กรมประมงทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่แต่ละด่านเพื่อให้ปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน สำหรับกรณีการรับรองการแปลเอกสาร ขอให้กรมประมงพิจารณาว่า มีเอกสารประกอบการนำเข้าจากประเทศใดที่ต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษบ้าง รวมถึงข้อมูลที่ต้องการตรวจสอบ แล้วอาจแจ้งสมาคมฯ เพื่อนำไปแปลและส่งกลับให้กับกรมประมงต่อไป
การตรวจสอบสินค้าสัตว์น้ำนำเข้า ณ สถานประกอบการ กรณีการนำเข้าอาหารตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 โดยกรมประมงได้ยกระดับการตรวจสอบการนำเข้าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ โดยดำเนินการเปิดตรวจสินค้าร้อยละ 100 และผลการตรวจสอบพบสถานที่เก็บสินค้าจริงไม่ตรงตามที่ระบุในใบอนุญาต DOF2 จึงเสนอให้
1) ในขั้นตอนการอนุญาตนำเข้า ให้ระบุสถานที่เก็บสินค้าใน DOF2 ให้ตรงกับสถานที่เก็บอาหารตามที่ระบุในเอกสาร อ.2 หรือ อ.7 สถานที่ใดสถานที่หนึ่งที่จะไปจัดเก็บจริง
2) ในขั้นตอนการยื่นคำขอแจ้งตรวจ ให้ระบุสถานที่เก็บ/กระจายสินค้าในใบแจ้งตรวจ ให้ครบถ้วนทุกสถานที่ โดย
- กรณีการนำเข้าที่ผู้นำเข้าไม่มีการจัดเก็บสินค้าในสถานที่เก็บอาหารก่อนจำหน่าย ให้ระบุสถานที่เก็บ/กระจายสินค้าในใบแจ้งตรวจเป็นสถานที่ปลายทางจริง เช่น ตลาด ร้านอาหาร เป็นต้น
- กรณีการนำเข้าที่ผู้นำเข้าจะต้องจัดเก็บสินค้าในสถานที่เก็บอาหารให้ระบุสถานที่เก็บ/กระจายสินค้าในใบแจ้งตรวจ เป็นสถานที่เก็บจริงโดยจะต้องตรงกับสถานที่เก็บอาหารตามที่ระบุในเอกสาร อ./ หรือ อ.7
ทั้งนี้ ที่ประชุมแจ้งว่า
- การแจ้งเพิ่มสถานที่จัดเก็บใน อ.2 และ อ.7 มีค่าใช้จ่าย 500 บาท และใช้เวลามากกว่า 1 เดือน รวมถึง อย. ต้องมีการเข้าตรวจสถานที่เก็บนั้นๆ เพิ่มเติม ซึ่งค่อนข้างใช้เวลา จึงเสนอให้กรมประมงหารือกับ อย. เพื่อลดระยะเวลาในการรับรองสถานที่เก็บให้เร็วขึ้น ซึ่งกรมประมงรับว่า จะไปหารือกับ อย.เพิ่มเติมในประเด็นนี้

- อย่างไรก็ตาม กรมประมงแจ้งว่า สำหรับการตรวจสอบข้อมูลในขั้นตอนการยื่นคำขอแจ้งตรวจ ให้ระบุสถานที่เก็บ/กระจายสินค้าในใบแจ้งตรวจ หากผู้ประกอบการยังอยู่ในกระบวนการการเพิ่มสถานที่เก็บกับ อย. ก็ขอให้แนบเอกสารคำร้องการขอเพิ่มสถานที่เก็บเข้ามาแทนก่อนได้ โดยกรมประมงจะมีการประชาสัมพันธ์ประเด็นนี้ให้กับผู้ประกอบการทราบ และจะเริ่มใช้กับการนำเข้าสัตว์น้ำ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567

Public on 6th September 2022
Copyright of Thai Frozen Foods Association