ประชุมคณะทำงานศึกษาสถานการณ์กุ้งทะเลต่างประเทศ ครั้งที่ 5/2566

วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 เวลา 13.30-16.30 น.
สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย โดยคุณนคร หาญไกรวิไลย์
(กรรมการสมาคมฯ) และคุณวาสนา ตรังใจจริง (เจ้าหน้าที่สมาคมฯ) เข้าร่วมประชุมคณะทำงานศึกษาสถานการณ์กุ้งทะเลต่างประเทศ
ครั้งที่ 5/2566 ผ่านระบบ ZOOM Cloud Meetings
โดยมีคุณณาตยา ศรีจันทึก (ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจการประมง) เป็นประธานที่ประชุม สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
รับรองรายงานการประชุมคณะทำงานศึกษาสถานการณ์กุ้งต่างประเทศ ครั้งที่ 4/2566 เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา
กรมประมงจะนำ Script สรุปการวิเคราะห์สถานการณ์กุ้งโลก เดือนเมษายน 2566 ของคุณสรพัศ ปณกร ที่ได้เสนอไว้ใน Facebook มาจัดทำสื่อวีดิทัศน์ ให้กระชับขึ้น และให้ผู้ที่สนใจได้รับรู้สถานการณ์กุ้งไทยในปัจจุบัน
รับทราบกรมประมงจัดทำข่าวสารกุ้ง ซึ่งผ่านการพิจารณาแล้ว จำนวน 9 ข่าว และจะดำเนินการเผยแพร่บนเว็บไซต์ของกรมประมง ทั้งนี้ สมาชิกสามารถอ่านรายละเอียดข่าวกุ้งเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์กรมประมง ดังนี้
ข่าวที่ 1. การประชุมกุ้งของ Aquaculture Stewardship Council (ASC) ครั้งที่ 2 และ Sustainable
Shrimp Partnership (SSP) ในเอกวาดอร์ดึงดูดผู้ซื้อจากตลาดหลักทั่วโลก
ข่าวที่ 2. สาธารณรัฐอินเดียมีแนวทางส่งเสริมอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศ
ข่าวที่ 3. สินค้าอาหารทะเลพบกับความยากลำบากในการส่งออก
ข่าวที่ 4. ผู้ผลิตอาหารสัตว์ Haid และ Tongwei ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ริเริ่มทำโครงการฟาร์มกุ้ง
ข่าวที่ 5. การให้การรับรองการเพาะเลี้ยงสำหรับฟาร์มขนาดเล็ก
ข่าวที่ 6. ความต้องการนำเข้ากุ้งของสหรัฐอเมริกาในช่วงไตรมาสแรกไม่ดี
ข่าวที่ 7. ไตรมาสแรกของปี 2566 กุ้ง Southern white สร้างรายได้กว่า 274 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ข่าวที่ 8. Cargill และ Skretting ร่วมมือกับกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล( WWF) จัดตั้งกองทุนการประมงยั่งยืน
ข่าวที่ 9. INFOFISH (รอบ 8 - 9/2023)
ที่ประชุม คณะทำงานฯ ให้ข้อสังเกต และข้อมูลเพิ่มเติมต่อข่าวสารกุ้ง ดังนี้
ข่าวที่ 2 อินเดียมีแนวทางส่งเสริมอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และตั้งเป้าหมายผลผลิต 2 ล้านตัน
(เป็นกุ้งกุลาดำ 5 แสนตัน) ในปี 2567 ภาครัฐอินเดียให้การสนับสนุนการเลี้ยงกุ้ง ขยายพื้นที่เลี้ยงกุ้งในเขตน้ำเค็ม
และการส่งเสริมการศึกษาด้านการเลี้ยงกุ้ง อีกทั้ง รัสเซียเปิดให้โรงงานอินเดียเข้ามาลงทุนด้านการผลิตกุ้งได้
ทั้งนี้ ทราบข่าวว่าการเลี้ยงกุ้งของอินเดียในปัจจุบัน มีการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ลดลง มีปัญหาด้านโรคสัตว์น้ำ เช่น EHP และตัวแดงดวงขาว อีกทั้ง พบปัญหาด้านเศรษฐกิจและราคาขาย ซึ่งคาดว่าผลผลิตอินเดียน่าจะลดลงร้อยละ 30
ข่าวที่ 3 สินค้าอาหารทะเลพบกับความลำบากในการส่งออก สำหรับประเทศไทย ตลาดหลักส่งออกสินค้ากุ้งลดลง โดยเฉพาะอเมริกา ญี่ปุ่น เนื่องจากหลายปัจจัย เช่น ปัญหาเศรษฐกิจซบเซา ค่าพลังงานสูง ทำให้ประเทศคู่ค้าหันไปซื้อสินค้าที่ราคาถูกกว่า เพื่อลดต้นทุน สำหรับอเมริกาตั้งแต่ปลายปีได้สต็อคสินค้าไว้เยอะและหันไปซื้อกุ้ง ราคาถูกกับเอกวาดอร์เนื่องจากเอกวาดอร์สามารถผลิตกุ้งได้มากขึ้นและมีคุณภาพ ซึ่งอยู่ใกล้กับอเมริกา ทำให้สามารถลดต้นทุนด้านการขนส่งได้มาก
ตลาดญี่ปุ่น หันไปซื้อจากเวียดนามเป็นหลักและเวียดนามเป็นประเทศที่พัฒนาโรงงานแปรรูป
ตลาดจีน เป็นประเทศเดียวที่การส่งออกกุ้งไทยไปจีนเป็นบวก เนื่องจากจีนมีความต้องการกุ้งไทยอย่างต่อเนื่องหลังโควิด ทั้งนี้ จีนยังซื้อขายกุ้งเป็นกับอินเดียมากขึ้น
ปัจจุบันไทยยังคงรักษาตลาดหลักไว้ได้ ด้วยแรงงานไทยมีฝีมือและทักษะในการแปรรูปได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ
สามารถผลิตสินค้าได้ตามสเปกที่ลูกค้าต้องการ และกุ้งไทยไม่พบสารตกค้างจึงเป็นจุดแข็งสินค้ากุ้งไทย และ
ควรหันมาส่งเสริมตลาดกุ้งในประเทศ ทำอย่างไรให้คนไทยกินกุ้งปัจจุบันราคากุ้งในตลาดยังคงสูง ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่รับประทานเนื้อสัตว์มากกว่า
ทั้งนี้ ประเทศผู้ผลิตที่เป็นคู่แข่งของไทย เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย และเอกวาดอร์ พัฒนาด้านการแปรรูปมากขึ้น เพื่อสนองความต้องการของตลาดหลัก หากไทยไม่ปรับตัวในด้านการตลาดหรือการผลิต อาจไม่ทันคู่แข่งที่มีการพัฒนาแบบก้าวกระโดด
ข่าวที่ 5 การรับรองการเพาะเลี้ยงสำหรับฟาร์มขนาดเล็ก ปัจจุบันมีฟาร์มขนาดเล็ก กว่า 1,000 ราย ใน 4 กลุ่ม
1.ฟาร์มกุ้งขาวประเทศอินโดนีเซีย 560 ฟาร์ม 2. ฟาร์มกุ้งกุลาดำจากเวียดนาม 450 ฟาร์ม ฟาร์ม 3. ฟาร์มสาหร่ายและปลาของญี่ปุ่น 26 ฟาร์ม ได้รับการรับรองมาตรฐานการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (Aquaculture Stewardship Council: ASC) สำหรับประเทศไทย ใน 2-3 ปีข้างหน้าฟาร์มเพาะเลี้ยงอาจต้องเร่งยกระดับ มาตรฐานฟาร์มให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน ASC มากขึ้น เนื่องจากประเทศคู่ค้าร้องขอ และให้ความสำคัญกับมาตรฐาน ASC เพิ่มมากขึ้น
แต่การจัดทำมาตรฐาน ASC ของไทย ยังติดปัญหาเรื่องของพื้นที่เลี้ยง ต้องถูกต้องตามกฎหมาย และ ข้อกำหนดเรื่องการระบายน้ำทิ้ง และด้านแรงงาน รวมถึงเอกสารในการจัดทำมาตรฐานค่อนข้างเยอะ และใช้เวลานาน ปัจจุบันหากฟาร์มใดได้รับมาตรฐาน ASC ราคาซื้อจะสูงกว่าตลาดประมาณ 5 บาท/กก. รวมถึงประเทศไทยยังมี CB ในการให้การรับรองฟาร์มน้อย ไม่เพียงพอและการขอรับรองฟาร์มมีค่าใช้จ่ายสูง
ดังนั้น หากสามารถรวมกลุ่มในการขอรับรองฟาร์มได้ จะช่วยลดต้นทุนให้กับเกษตรกรได้มาก
ขอให้ผลักดันและเร่งเจรจาสิทธิประโยชน์ทางภาษี(GSP) ยุโรป เนื่องจากไทยต้องเสียภาษีสินค้ากุ้งแปรรูปสูงถึงร้อยละ 7-20 ทำให้เสียเปรียบประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม และเอกวาดอร์ รวมถึงต้นทุนการผลิตสินค้ากุ้งของไทยสูงกว่าประเทศอื่นๆ ทำให้ขายสินค้าได้ยากขึ้น
ฝากกรมประมงติดตามความคืบหน้าหลังจากรัสเซีย เข้าตรวจประเมินโรงงานสมาชิกสมาคมฯ เดือนกันยายน 2562 โดยกรมประมงแจ้งว่าได้มีการส่งแก้ไขข้อบกพร่องให้ทางรัสเซียเรียบร้อย และมีการติดตามอย่างต่อเนื่องแต่ยังไม่ได้รับการตอบรับ อย่างไรจะติดตามสอบถามความคืบหน้ากับทางสถานทูตไทยในรัสเซียอีกครั้ง
และให้ข้อสังเกตว่า รัสเซียเป็นประเทศใหญ่ หากไทยสามารถเปิดตลาดนี้ได้ จะเป็นโอกาสทางการค้าของไทย
ผลักดันการบริโภคกุ้งในประเทศ คุณนคร หาญไกรวิไลย์ (กรรมการสมาคมฯ) และในนามประธานตลาดทะเลไทย จะมีการจัดงานเทศกาลกินกุ้งสมุทรสาคร ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ผู้บริโภคนิยมกินกุ้งมากขึ้น และกระตุ้นเศรษฐกิจกุ้งในประเทศ ทั้งนี้ หากมีกำหนดการที่แน่นอนแล้ว จะแจ้งกรมประมงและสมาคมฯ ทราบ
ทั้งนี้ หากต้องการ รณรงค์การบริโภคกุ้งภายในประเทศ ควรมีกิจกรรมส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง และกระจายทั่วทุกภาค รวมถึงจัดทำแบบสอบถาม เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนว่าทำไมกุ้งไทยยังไม่เป็นที่นิยม หรือเพราะราคาแพงทำให้ไม่บริโภค

Public on 6th September 2022
Copyright of Thai Frozen Foods Association