ประชุมคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน ครั้งที่ 4-1/2567

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 คุณวิบูลย์ สุภัครพงษ์กุล อุปนายกสมาคมฯ และคุณเสาวนีย์ คำแฝง ผอ.สมาคมฯ ได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน ครั้งที่ 4-1/2567 ณ ห้องประชุมสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยมีดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและประธานคณะกรรมการแรงงานฯ เป็นประธานที่ประชุม สรุปสาระสำคัญดังนี้
1. ประธานแจ้งที่ประชุมทราบ ข้อสังเกตประเด็นด้านแรงงาน
เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะให้มีการทบทวนในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในเดือนเมษายน 2567 ซึ่งต้องมีการหารืออีกครั้ง โดยสถานการณ์ปัจจุบันการส่งออกกำลังฟื้นตัว แต่ก็มีต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นจากการขนส่งค่า Freight ของเรือขนสินค้า การท่องเที่ยวกำลังขยายตัว นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น แต่จะสังเกตว่า การจ้างงานเป็นการจ้างงานอิสระมากขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการยังไม่มั่นใจถึงความยั่งยืนหรือแนวโน้มเศรษฐกิจว่าจะเป็นอย่างไร บางงานจึงยังเป็นการจ้างอิสระอยู่ ทั้งนี้ เห็นด้วยในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ทั้งนี้ควรมีการศึกษาข้อมูลและหารือร่วมกัน เพราะหากมีการปรับค่าจ้างที่สูงเกินไปจะกระทบต่อต้นทุนที่สูงขึ้นโดยรวม
การนำเสนอแก้ร่างพระราชบัญญัติประมง ซึ่งได้มีการส่งคณะรัฐมนตรีพิจารณา และทาง ครม.ส่งให้กฤษฎีกา พิจารณาทบทวน จะมีการหารือในช่วงบ่าย ข้อสังเกตคือมีการแยกเรื่องแรงงานออกจากพรบ. , มีเรื่องเพิ่ม อัตราค่าธรรมเนียมการเก็บสินค้านำเข้ากิโลกรัมละ 20 บาท, ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากการอนุญาตให้นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำให้หักไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการตรวจและควบคุมสัตว์น้ำ ส่วนที่เหลือนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน
2. สรุปผลงานคณะกรรมการแรงงานฯ ปี 2566 เช่น ผลักดันนโยบายบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนแรงงานถูกกฎหมาย, ขับเคลื่อน GLP ร่วมกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน, จัดสัมมนาด้านแรงงานให้กับสมาชิก เป็นต้น
3. สรุปสาระสำคญต่อ ร่าง พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของ คนต่างด้าว พ.ศ. 2560 เพื่อยกเลิกหลักเกณฑ์ในการห้ามไม่ให้ผู้ประกอบการรับเหมาแรงงานหรือรับเหมาค่าแรงนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ
4. การศึกษาการจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงและพิจารณาแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยและการงดจ่ายภาษี กรณีได้เงินเนื่องจากออกจากงาน ที่ประชุมไม่เห็นด้วยในการตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง เนื่องจากเป็น การเก็บเงินจากนายจ้างเพิ่มภาระให้ผู้ประกอบการ ทั้งนี้กองทุนนี้ตั้งขึ้นมาสำหรับเป็นหลักประกันของผู้ประกอบการที่จะไม่ทำตามกฎหมายเรื่องการจ่ายค่าชดเชย
ทั้งนี้สภาอุตฯ ได้มีการทำหนังสือถึงภาครัฐในประเด็นไม่เห็นด้วยในการจัดตั้งกองทุนฯ เนื่องจากเงินทุนต้องถูก Freeze ไว้ ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ในส่วนหอการค้าไทยจะมีการรวบรวมประเด็นความคิดเห็นจากสมาคมการค้า หอการค้าภูมิภาคนำส่งหอการค้า เพื่อสรุปและเสนอต่อภาครัฐที่เกี่ยวข้องต่อไป
5. คุณวิบูลย์ สุภัครพงษ์กุล นำเสนอในส่วนความคืบหน้ากิจกรรม GLP ในการจัดสัมมนาให้ความรู้กับสมาชิก TFFA & TTIA ตามกิจกรรมในโครงการ Ship To Shore Rights ร่วมกับ ILO โดยจัดที่กรุงเทพฯ และสงขลา มีโรงงานเข้าร่วมทั้งหมด 40 บริษัท 91 คน และผู้ร่วมสังเกตการณ์จากภาคประชาสังคม คือ PLAN International (Thailand) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) 3 คน
6. ประเด็นในการขับเคลื่อนการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87&98 โดยฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัว
และการเจรจาต่อรองร่วม ซึ่งจะส่งผลทางการเจรจาการค้าเสรี FTA TH-EU,TH-UK เป็นต้น โดยที่ประชุมขอให้มีการหาข้อมูลที่ชัดเจนประโยชน์ ข้อดี ข้อเสียที่ได้รับที่จะดำเนินการต่อไป เพื่อภายในไตรมาสที่ 3 หอการค้าฯ จะได้นำเสนอข้อมูลต่อกรมเจรจาการค้าฯ

เนื่องจากมีประเด็นด้านแรงงาน รวมถึงสถานการณ์แรงงานที่ประเทศคู่ค้าให้ความสำคัญ และเกี่ยวโยงด้านการค้า ดังนั้นการนำเสนอ แก้ไขปัญหาด้านแรงงานต่างๆ จึงมีความสำคัญมาก ประธานคณะกรรมการฯ เสนอให้ฝ่ายเลขาสรุปข้อคิดเห็นของคณะกรรมการฯ พร้อมทั้งเสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคเอกชนด้านแรงงาน หรือ กรอ. ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานต่อไป นอกจากนี้คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาเห็นชอบผลักดันคณะทำงานขับเคลื่อนส่งเสริมการมีงานทำให้ทหารกองประจำการที่จะปลดเป็นทหารกองหนุน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานและทดแทนแรงงานทักษะฝีมือของประเทศไทย ร่วมกับ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน

Public on 6th September 2022
Copyright of Thai Frozen Foods Association