วันพุธที่ 19 มิถุนายน 2567 เวลา 10.30-12.30 น. ณ สหกรณ์ประมงแม่กลอง และระบบการประชุม VRoom
สมาคมฯ เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาแนวปฏิบัติต่อสัตว์ทะเลหายากระหว่างการทำประมงอวนลาก (Workshop to reviews and planning for ETP species recording and trawl interaction) ซึ่งจัดโดยคณะทำงาน 8 สมาคม (TSFR) โดยมีสาระสำคัญจากการประชุม ดังนี้
การประชุมปฏิบัติการในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นและแนวปฏิบัติจากชาวประมง
ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้โครงการแนวทางการพัฒนาการประมงอวนลากในอ่าวไทยสู่ความยั่งยืนตามแนวปฏิบัติมาตรฐานสากลร่วมกับกรมประมง โดยมีชาวประมงและผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมประมาณ 40 ราย
การบรรยายโดยผู้แทนกองตรวจสอบเรือประมง สินค้าสัตว์น้ำ และปัจจัยการผลิต ได้นำเสนอคู่มือและแนวทางปฏิบัติเมื่อชาวประมงพบกับสัตว์ทะเลหายากในขณะทำการประมง ซึ่งเสนอว่า ชาวประมงควรรายงานการพบเห็นสัตว์ทะเลหายากไปยังหน่วยงานในพื้นที่เพื่อเข้าไปตรวจสอบและควรมีการบันทึกลงใน Logbook ด้วย อย่างไรก็ตาม ชาวประมงไม่ได้ขัดข้องประการใดในการแจ้งและบันทึกการพบเห็นสัตว์ทะเลหายาก แต่ขอเสนอกรมประมงว่า มีบางเคส พบว่า ชาวประมงพบซากของสัตว์ทะเลหายากและนำขึ้นเรือแต่ถูกกรมประมงดำเนินคดี จึงทำให้ชาวประมงไม่กล้าที่จะรายงานสัตว์ทะเลหายาก
กรมประมงได้เสริมว่า กรมประมงได้มีการประกาศระเบียบกรมประมง ว่าด้วยการแจ้งช่วยเหลือสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง สัตว์ป่าคุ้มครองที่เพาะพันธุ์ได้ และสัตว์ป่าควบคุม ที่ถูกทอดทิ้ง บาดเจ็บ ป่วย หรืออ่อนแอ พ.ศ. 2563 เพื่อคุ้มครองชาวประมงในส่วนนี้ แต่ชาวประมงได้แจ้งว่า ระเบียบดังกล่าวนี้ชาวประมงไม่ทราบเลย จึงขอให้กรมประมงแจ้งชาวประมงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย โดยเจ้าหน้าที่ของกรมประมงรับประเด็นจากชาวประมงไปหารือในระดับนโยบายต่อไป
การบรรยายจากผู้แทนจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้อธิบายให้ชาวประมงทราบชนิดของสัตว์ทะเลหายาก และวิธีการช่วยเหลือชีวิตสัตว์ทะเลหายาก
ทั้งนี้ ทางคณะทำงาน TSFR แจ้งว่า หลังจากการประชุมในครั้งนี้ ทางคณะทำงานฯ จะนำข้อคิดเห็นไปปรับปรุงคู่มือการช่วยเหลือชีวิตสัตว์ทะเลหายากร่วมกับ กรมประมงและ ทช. รวมถึงออกแบบวิธีการบันทึกการพบเห็นสัตว์ทะเลหายากและจะทดลองนำไปใช้กับเรือประมงอวนลากที่ต้องการเข้าร่วมโครงกาารฯ สัก 5 ลำ ก่อนนำผลไปเสนอกับผู้ประเมินในปลายปี 2567