ประชุมรับฟังความคิดเห็นเพื่อเตรียมการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป

วันที่ 24 กรกฎาคม 2566 คุณบุญเลิศ ฝูงวรรณลักษณ์ นายทะเบียนสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย และนายกรวิชญ์ ทุมมานนท์ เจ้าหน้าที่สมาคมฯ เข้าร่วมการประชุมรับฟังความคิดเห็นเพื่อเตรียมการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป ผ่านระบบ ZOOM Meeting จัดโดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ โดยมีคุณสุรินทร สุนทรสนาน ผอ สำนักการค้าเป็นประธาน สรุปดังนี้
- การเปิดการเจรจาความตกลงการค้าเสรี FTA ระหว่างไทยกับ สหภาพยุโรป จะมีการหารือกันในด้านการค้า ช่วงเดือนกันยายน 2566 ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ อยู่ระหว่างรวบรวมพิกัดสินค้าที่จะนำไปหารือ เพื่อจัดทำรายการ (Request List) ในการเจรจาให้สหภาพยุโรปเปิดตลาด ขณะที่ EU มีการนำเข้าสินค้าที่มีอัตราอากร MFN (Most Favored Nation) จากประเทศที่ให้สิทธิทางภาษีที่ 0% เป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดจากโลก
- ปี 2565 EU มีสัดส่วนมูลค่าการนำเข้าจากไทยมากกว่า 80% ของมูลค่าการนำเข้าของ EU จากไทย ซึ่งเป็นการนำเข้าภายใต้รายการสินค้าที่มีอัตราอากร MFN 0%-10% หากไม่รวมการนำเข้าในอัตราอากร MFN 0% EU มีมูลค่านำเข้าจากไทยสูงที่ช่วงอากร 1%-5%
เกณฑ์ในการพิจารณาสินค้าที่ไทยต้องการเรียกร้องให้ EU เร่งเปิดตลาดภายใต้ FTA ไทย – EU มี 2 กลุ่มคือ
1. กลุ่มสินค้าที่ไทยมีมูลค่าการส่งออกไป EU สูง แต่ EU ยังมีการเก็บอากร MFN ที่ระดับสูง
2. กลุ่มสินค้าที่ไทยมีการส่งออกไปตลาดโลกสูง และ EU ก็มีการนำเข้าจากตลาดโลกสูง แต่ไทยยังมีมูลค่าการส่งออกไป EU ต่ำ
กรมเจรจาการค้าได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า สินค้าเกษตรที่ไทยต้องการเรียกร้องให้ EU เร่งเปิดตลาดใน FTA ได้แก่ อาหารสำเร็จรูป อาหารสุนัขและแมว และปลาทูน่าแปรรูป
ทั้งนี้ อัตราอากรและสัดส่วของตลาดอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามเวลาและเงื่อนไขที่กำหนดในสัญญา FTA และอาจมีการปรับปรุงตามสถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศในอนาคต การให้ความสำคัญในการตรวจสอบข้อมูลที่อัปเดตล่าสุดจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ในที่ประชุม คุณบุญเลิศ ฝูงวรรณลักษณ์ นายทะเบียนสมาคมฯ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับสภาพการค้าปัจจุบันและปัญหาที่เกิดขึ้นในการส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปไปยังสหภาพยุโรป โดยปัญหาหนึ่งคือภาษีที่ถูกเรียกเก็บมีอัตรา 20% จากเดิมที่เรียกเก็บ 7% เนื่องมาจากประเทศไทยถูกตัดสิทธิ Generalized System of Preferences (GSP) เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2558 ทำให้ต้นทุนการขายสินค้าสูงขึ้น และกระทบความสามารถการแข่งขัน ทั้งที่ในอดีตสินค้ากุ้งของไทยที่ส่งออกไปยุโรปถือเป็นสินค้าหลักที่ทำรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมาก

สำหรับสภาหอการค้าไทย (ดร.ชนินทร์) ได้เสนอความเห็นเพิ่มเติมว่า การเจรจา FTA ไทย-EU ในเดือนกันยายน เชื่อว่าจะมีการนำประเด็นด้าน Labour Right, Environment CBAM มาร่วมเจรจาด้วยโดยเฉพาะสินค้าเกษตรอาหารควรเตรียมความพร้อม
และต้นเดือนสิงหาคม 2566 สภาหอการค้าไทย จะมีการประชุมคณะกรรมการเจรจาความตกลงการค้าระหว่างประเทศ โดยขอความร่วมมือสมาคมฯ ต่างๆช่วยทำท่าทีตามแบบฟอร์ม และพิกัดตาม EU ข้อมูลด้านสถิติ เหตุและผลของความจำเป็นในการเปิดตลาด โดยเฉพาะด้านสินค้าเกษตรและอาหารที่จะขอให้ทาง EU เปิดตลาดเป็น 0% ทันทีที่ความตกลงมีผลบังคับใช้

Public on 6th September 2022
Copyright of Thai Frozen Foods Association