ประชุมนำเสนอและรับฟังความคิดเห็นต่อร่างมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพธุรกิจบริการ อาชีพผู้สรรหาแรงงานข้ามชาติ

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 คุณวิบูลย์ สุภัครพงษ์กุล อุปนายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย เข้าร่วมการประชุมนำเสนอและรับฟังความคิดเห็นต่อร่างมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพธุรกิจบริการ อาชีพผู้สรรหาแรงงานข้ามชาติ ณ โรงแรมแกรนด์ ฟอร์จูน กรุงเทพฯ จัดโดยสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ รายละเอียดดังนี้
E-Workforce Ecosystem Platform คือ แพลตฟอร์มอัจฉริยะที่เชื่อมข้อมูลของแต่ละหน่วยงานให้เป็น Big Data ด้านตลาดแรงงาน มีการจัดเก็บข้อมูลด้วย E-Portfolio ซึ่งจะเปิดโอกาสให้แรงงานได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล สามารถเข้ารับการพัฒนาทักษะให้ตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้น จากผู้ให้บริการพัฒนาทักษะทั้งภาครัฐและเอกชน หรือผ่านกลไกความร่วมมือระหว่างผู้พัฒนาทักษะ แรงงาน การศึกษา และธุรกิจ
ระบบ E-portfolio เป็นระบบแฟ้มสะสมผลงานกลางของประเทศไทย เพราะทุกคนสามารถเข้าใช้งานในระบบได้ และเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างและเก็บโปรไฟล์อย่างเป็นระบบ เพื่อเข้าสู่กลไกการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการมีงานทำ ทั้งนี้ ระบบ E-portfolio ได้ดำเนินการ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 สำหรับการเก็บรวบรวมการประมวลผลและการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล และมีระบบความมั่นคงปลอดภัยในการดูแลข้อมูล
ความเป็นมา โครงการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพธุรกิจบริการ อาชีพผู้สรรหาแรงงานข้ามชาติ
ประเทศไทยมีความต้องการแรงงานข้ามชาติในสัดส่วนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรม ธุรกิจอาหารแปรรูป กิจการประมง และก่อสร้าง ที่ถือเป็นฐานกำลังทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ
แรงงานข้ามชาติมีความเสี่ยงต่อการเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์และการถูกเอารัดเอาเปรียบ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีสถานภาพที่ผิดกฎหมาย ที่ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงกลไกคุ้มครองทางสังคมและสิทธิขั้นพื้นฐานในการดำเนินชีวิต
สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพและองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ร่วมมือกันในการดำเนินโครงการจัดทำมาตรฐานอาชีพผู้สรรหาแรงงานข้ามชาติ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบ สอดคล้องกับแนวปฏิบัติและมาตรฐานสากล และเพื่อให้พวกเขาได้รับการปกป้องคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1. มีมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพในสาขาวิชาชีพธุรกิจบริการ อาชีพผู้สรรหาแรงงานข้ามชาติที่สอดคล้องกับกรอบคุณวุฒิวิชาชีพและกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ สามารถเทียบเคียงได้กับมาตรฐานสากล
2. มีมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์กับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งผู้ประกอบอาชีพที่ให้บริการตามมาตรฐานอย่างมีคุณภาพ และผู้รับบริการที่ได้รับผลงานที่มีคุณภาพ
3. ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพในการประกอบอาชีพ โดยการนำระบบคุณวุฒิวิชาชีพและมาตรฐานอาชีพไปพัฒนาตนเองเพื่อสร้างความก้าวหน้าในอาชีพ
อาชีพผู้สรรหาแรงงานข้ามชาติ ทำหน้าที่สรรหาแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในประเทศโดยถูกต้องตามกฏหมายที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย แบ่งเป็น 4 ระดับ
ระดับ 4 เป็นผู้ที่มีประสบการณ์การทำงานในการสรรหาแรงงานข้ามชาติอย่างน้อย 1 ปี มีหน้าที่ประสานงานและดูแลจัดการเกี่ยวกับการนำเข้าแรงงานข้ามชาติ จัดการเอกสารที่เกี่ยวกับการนำเข้าแรงงานข้ามชาติ ดูแลแรงงานข้ามชาติในการเดินทางเข้าประเทศไทย และปฏิบัติงานสรรหาแรงงานข้ามชาติตามหลักจริยธรรม
ระดับ 5 เป็นผู้ที่มีประสบการณ์การทำงานในการสรรหาแรงงานข้ามชาติอย่างน้อย 2 ปี มีหน้าที่ดูแลการจัดทำสัญญาจ้างแรงงาน 3 ภาษาของแรงงานข้ามชาติ จัดการเอกสารที่เกี่ยวกับส่งกลับของแรงงานข้ามชาติ ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งกลับแรงงานข้ามชาติ ดูแลแรงงานข้ามชาติในการเดินทางกลับประเทศ และปฏิบัติงานสรรหาแรงงานข้ามชาติตามหลักจริยธรรม
ระดับ 6 เป็นผู้ที่มีประสบการณ์การทำงานในการสรรหาแรงงานข้ามชาติอย่างน้อย 5 ปี หรือมีข้อมูลผลงานการนำเข้าแรงงานข้ามชาติจำนวนไม่น้อยกว่า 30 ครั้ง มีหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำแรงงานข้ามชาติกรณีการเปลี่ยนนายจ้าง ประสานงานให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ ให้คำปรึกษาแนะนำนายจ้างเกี่ยวกับการต่ออายุเอกสารของแรงงานข้ามชาติ ให้คำปรึกษาแนะนำนายจ้างเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ และปฏิบัติงานสรรหาแรงงานข้ามชาติตามหลักจริยธรรม
ระดับ 7 เป็นผู้ที่มีประสบการณ์การทำงานในการสรรหาแรงงานข้ามชาติอย่างน้อย 5 ปี หรือมีข้อมูลผลงานการนำเข้าแรงงานข้ามชาติจำนวนไม่น้อยกว่า 30 ครั้ง ปฏิบัติงานสรรหาแรงงานข้ามชาติตามหลักจริยธรรม และบริหารจัดการสรรหาแรงงานข้ามชาติตามแนวปฏิบัติที่ดีเพื่อการสรรหาอย่างมีจริยธรรม (International Recruitment Integrity System)
ปัจจุบันแรงงานข้ามชาติได้เข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายภายใต้ข้อตกลง MOU ระหว่างรัฐบาลประเทศไทย ลาว กัมพูชา และเมียนมาร์

คุณวิบูลย์ สุภัครพงษ์กุล อุปนายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า แรงงานในภาคอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล ถือเป็นกลุ่มแรงงานที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนห่วงโซ่อุปทานของไทย ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคีเครือข่าย ได้ร่วมมือกันนำแนวปฎิบัติการใช้แรงงานที่ดี (Good Labour Practices - GLP) มาใช้ เพื่อพัฒนาแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ ไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติ ไม่มีการใช้แรงงานเด็ก ไม่มีการใช้แรงงานบังคับ และไม่มีการค้ามนุษย์
เมื่อปีที่ผ่านมากระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ จัดอันดับรายงานการค้ามนุษย์ให้ประเทศไทยดีขึ้นอยู่ที่ Tier2 ก็เป็นผลจากการที่สมาคมฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานร่วมกันและช่วยกันแก้ไขปัญหา
ดังนั้น ผู้ประกอบอาชีพผู้สรรหาแรงงานข้ามชาติกำลังจะกลายมาเป็นตัวแปรสำคัญ หากเข้ามาเพื่อกอบโกยผลประโยชน์ก็จะทำให้สถานการณ์แรงงานตกต่ำลง ความสำคัญจึงอยู่ที่ผู้ประกอบอาชีพผู้สรรหาต้องมี Mind Set ที่ดี ถึงจะช่วยกันพัฒนาแรงงานข้ามชาติต่อไปได้

Public on 6th September 2022
Copyright of Thai Frozen Foods Association