ประชุมหารือ ร่าง รายงานการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาแรงงาน

วันพฤหัสบดีที่ 7 ธันวาคม 2566 เวลา 09.30-12.00 น. ผ่านระบบ Zoom Meeting ประชุมหารือ "ร่าง รายงานการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาแรงงานเด็ก แรงงานบังคับในกลุ่มสินค้าประเภทกุ้ง ปลา อ้อย และเครื่องนุ่งห่ม" โดยผู้แทนสมาคมฯ (คุณวิบูลย์ สุภัครพงษ์กุล อุปนายกสมาคมฯ และคุณเสาวนีย์ คำแฝง ผอ.สมาคมฯ)
เนื่องจากคณะอนุกรรมการเพื่อติดตามและรวบรวมข้อมูลการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหา การใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ ในกลุ่มสินค้าประเภทกุ้ง ปลา อ้อย และเครื่องนุ่งห่ม ที่ประเทศไทยติดอยู่ในบัญชีรายการสินค้าของสหรัฐฯ มีเหตุเชื่อว่ามีการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ (List of Goods Produced by Child Labor or Forced Labor: TVPRA List) และบัญชีรายชื่อสินค้าที่มีการใช้แรงงานเด็ก หรือแรงงานเด็กขัดหนี้ (List of Products Produced by Forced or Indentured Child Labor: E.O. List) ที่มีท่านอธิบดีกรมสวัสดิการฯ เป็นประธานในการประชุม ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ได้หมดวาระลง และคณะชุดใหญ่ ยังไม่มีการแต่งตั้งขึ้น ในการประชุมวันนี้ จึงขอให้ท่านที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมเพื่อ “หารือพิจารณาร่างรายงานการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาแรงงานเด็ก แรงงานบังคับ ในกลุ่มสินค้าประเภทกุ้ง ปลา อ้อย และเครื่องนุ่งห่ม” ที่ทางกระทรวงแรงงานได้รวบรวมข้อมูลและร่างรายงานดังกล่าว เพื่อส่งให้ทางกระทรวงการต่างประเทศของไทย ส่งให้กับกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ภายในวันที่ 4 มกราคม 2567
โดยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. รายงานจะมีการแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่
- ความแพร่หลายของปัญหาแรงงานเด็ก แรงงานบังคับ ในกลุ่มสินค้าประเภทกุ้ง ปลา อ้อย และเครื่องนุ่งห่ม (ผลการตรวจสอบและการดำเนินคดีของภาครัฐ / ผลการตรวจสอบของภาคเอกชน / ผลการตรวจสอบของภาคประชาสังคม / กรณีตัวอย่างการดำเนินคดีแรงงานที่สำคัญ)
- ระบบ และมาตรการป้องกันและปัญหาการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ ในกลุ่มสินค้าประเภทกุ้ง ปลา อ้อย และเครื่องนุ่งห่ม (นโยบาย แผนปฏิบัติการ กฎหมาย และกระบวนการบังคับใช้กฎหมายรวมถึงกลไกการ้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ / การพัฒนา ปรับกรุงกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายและการดำเนินคดีในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ / โครงการคุ้มครองทางสังคมของภาครัฐ / ระบบการตรวจสอบและเยียวยาของภาคเอกชน / ระบบการตรวจสอบและให้ความช่วยเหลือของภาคประชาสังคม)
2. ข้อมูลในส่วนภาครัฐ เช่น เรื่องสถิติแรงงานเด็ก แรงงานบังคับ ทางสหรัฐฯ จะรับรองและเชื่อถือในหน่วยงานภาครัฐที่ทำด้านนี้โดยตรง หากเป็นนักวิจัยหรือเอกชนที่ไม่ได้ทำงานด้านนี้โดยตรง ความน่าเชื่อถือจะลดลง
3. ข้อมูลจากภาคเอกชนจะช่วยสนับสนุนให้รายงานมีความสมบูรณ์และน่าเชื่อถือมากขึ้น ทั้งนี้ คุณวิบูลย์ สุภัครพงษ์กุล ให้ความเห็นว่า ในส่วนของสินค้ากุ้งนั้น ปัจจุบันสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปถึงอาหารที่ใช้เลี้ยงได้ครบทุกวงจร และมีสมาคมการค้าซึ่งเป็นสมาชิกหอการค้าฯ ซึ่งเกี่ยวข้องและภาครัฐสามารถขอข้อมูลผ่านทางหอการค้าฯ ได้ เช่น สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมกุ้งไทย เป็นต้น และเนื่องจากข้อมูลที่ภาครัฐเก็บในส่วนประมงจะเป็นการรวมข้อมูลของกุ้งกับปลา จึงเห็นว่าหากสามารถแยกกันได้ จะสามารถทำให้ข้อมูลชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากแหล่งที่มาของทั้ง 2 สินค้ามีความแตกต่างกัน พร้อมทั้งเน้นย้ำ เรื่อง GLP ที่ผู้ประกอบการได้ทำนั้นเป็นมาตรการที่สมัครใจอยากให้ประชาสัมพันธ์และสื่อสารให้ต่างประเทศรับทราบว่าเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการมีความตั้งใจที่จะทำมากกว่าที่กฎหมายกำหนด
4. ในส่วนของกุ้งเป็นสินค้ามาจากการเลี้ยง ปลา เช่น ทูน่า เป็นสินค้าจากการจับจากประมง ซึ่งมีความแตกต่างกัน และข้อมูลในส่วนของกรมประมง ก็สามารถเสริมในส่วนนี้ได้
5. คุณเสาวนีย์ คำแฝง ผอ. สมาคมฯ แสดงความคิดเห็นในส่วนการนำเสนอของแต่ละสมาคม เช่น กิจกรรมการเข้าเยี่ยมสมาชิก ควรมีใส่รายละเอียดเพิ่มเติมจำนวนสมาชิกทั้งหมดของแต่ละสมาคม ทั้งนี้ในส่วน TFFA เนื่องจากมีสมาชิกจำนวนมาก ดังนั้นการเข้าเยี่ยมสมาชิกจะเป็นการสุ่มในแต่ละปี โดยให้ครอบคลุมสินค้าในทุกหมวด กุ้ง ปลา หมึก ปู ขนาดของโรงงานเล็ก กลาง ใหญ่ และในพื้นที่ทั้งภาคกลาง ใต้ ตะวันออก ตะวันตก

6. ทั้งนี้มีการเสนอว่า ข้อมูลควรใส่เท่าที่จำเป็น เช่น สถิติควรมี 4 สินค้าที่เกี่ยวข้องในรายงาน และในส่วนการดำเนินการภายในของภาคเอกชน ควรใส่ว่าเป็นระบบตรวจสอบภายในของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งจะทำให้เห็นถึงความน่าเชื่อถือ และการตรวจสอบตนเอง

Public on 6th September 2022
Copyright of Thai Frozen Foods Association