วันพุธที่ 17 เมษายน 2567 เวลา 14.30-17.00 น. ณ ห้องกุลาดำ กรมประมง
สมาคมฯ โดย ดร.ผณิศวร ชำนาญเวช นายกกิตติคุณสมาคมฯ, คุณอนุชา เตชะนิธิสวัสดิ์ นายกสมาคมฯ, คุณวิบูลย์ สุภัครพงษ์กุล อุปนายกสมาคมฯ , คุณศิลปชัย ภูวเศรษฐ์ กรรมการสมาคมฯ, ดร.นันทิยา อุ่นประเสริฐ ที่ปรึกษาอาวุโสสมาคมฯ, คุณเสาวนีย์ คำแฝง ผู้อำนวยการสมาคมฯ พร้อมด้วยสมาชิก เข้าร่วมการประชุมหารือการแก้ไขปัญหา และแนวทางการป้องกันการใช้ยาปฏิชีวนะในวัตถุดิบกุ้งและผลิตภัณฑ์ โดยมี นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง
เป็นประธานที่ประชุม มีสาระสำคัญจากการประชุม ดังนี้
สมาคมฯ ได้ชี้แจงว่า ปัจจุบันสมาชิกกลุ่มผู้ผลิตและส่งออกกุ้งมีการรายงานมายังสมาคมฯ เกี่ยวกับการพบสารปฏิชีวนะในกุ้งเป็นจำนวนมาก ผู้ประกอบการจำเป็นต้องตรวจวิเคราะห์หาสารตกค้างก่อนซื้อ ส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้น ประกอบกับ มีการตรวจพบสารตกค้างจากกุ้งของประเทศไทย ซึ่งอาจทำให้การส่งออกกุ้งของไทยเสียภาพลักษณ์และสูญเสียตลาดไปได้ในอนาคต โดยสมาคมฯ ได้มีการรวบรวมข้อมูลการตรวจพบสารตกค้างจากสมาชิกและรายงานต่อกรมประมงอย่างต่อเนื่อง จึงนำเรียนกรมประมงเพื่อหาแนวทางร่วมกัน
ทั้งนี้ กรมประมงชี้แจงว่า กรมประมงให้ความสำคัญในประเด็นนี้ โดยมีการตรวจติดตามและควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มกุ้งมาอย่างต่อเนื่อง จึงได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวใน 8 แนวทาง ดังนี้
1. กรมประมงจะเพิ่มความเข้มงวดและเพิ่มความถี่ในการตรวจฟาร์มและวัตถุดิบกุ้ง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่พบการตกค้างของสารปฏิชีนะมาก อาทิ ระยอง จันทบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา ประจวบคีรีขันธ์ และสุราษฎร์ธานี และพื้นที่อื่นๆ
2. กรมประมงจะเพิ่มการสุ่มตรวจติดตามและทวนสอบปัจจัยการผลิตและยาสัตว์ในฟาร์มเลี้ยงกุ้งให้มากขึ้น
3. กรมประมงจะเร่งประชาสัมพันธ์ให้กับเกษตรกรและชมรมผู้เลี้ยงกุ้ง ทราบว่า กรมประมงจะให้ความสำคัญในการใช้ยาปฎิชีวนะ ซึ่งหากมีรายงานหรือเบาะแสการตรวจพบสารตกค้าง กรมประมงจะมีมาตรการดำเนินการกับฟาร์มและเกษตรกรทันที
4. กรมประมงเสนอให้นำประเด็นนี้เข้าสู่วาระการประชุมของคณะกรรมการ Shrimp Board และคณะทำงานควบคุมสารตกค้างในสัตว์น้ำ เพื่อพิจารณา
5. ในส่วนของการรายงานการพบสารตกค้างของสมาคมฯ ขอให้มีการรายงานกลับไปยังกรมประมงทุกสัปดาห์ เพื่อให้กรมประมงสามารถตรวจสอบและทวนสอบฟาร์มดังกล่าวได้อย่างทันท่วงที โดยส่งหนังสือนำไปยังอธิบดีกรมประมง และกองพัฒนาระบบการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าประมงและหลักฐานเพื่อการสืบค้น (กมป.)
6. เมื่อกรมประมงได้รับข้อมูลจากสมาคมฯ เรียบร้อยแล้ว จะมีการตรวจสอบและทวนสอบว่ามีสารตกค้างในกุ้งของฟาร์มนั้นๆ หรือไม่ และกรมประมง โดยท่านอธิบดีจะมีหนังสือตักเตือนไปยังฟาร์มยังกล่าวและชมรมผู้เลี้ยงกุ้งที่ฟาร์มนั้นๆ สังกัด
7. กรมประมงจะจัดการอบรมเกษตรกรให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มกุ้ง รวมถึงปัจจัยการผลิต
8. กรมประมงจะพิจารณากฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องในประเด็นสารตกค้างในฟาร์มกุ้ง เนื่องจากกุ้งจัดเป็นสัตว์น้ำควบคุมตามมาตรา 78 และ 102 ของ พรก.การประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และจะออกมาตรการควบคุมการตรวจฟาร์มที่พบปัญหาต่อไป