ประชุมคณะทำงานพัฒนาสารสนเทศการเกษตร ระดับประเทศ ครั้งที่ 3/2567

5 สิงหาคม 2567 เวลา 9.30-12.30 น. สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย
โดยคุณเสาวนีย์ คำแฝง (ผู้อำนวยการสมาคมฯ) และคุณวาสนา ตรังใจจริง (เจ้าหน้าที่สมาคมฯ) เข้าร่วมประชุมคณะทำงานพัฒนาสารสนเทศการเกษตร ระดับประเทศ ครั้งที่ 3/2567 ผ่านระบบ Zoom Cloud Meetings สรุปสาระสำคัญสินค้ากุ้ง และทูน่า ดังนี้
สถานการณ์สินค้ากุ้ง และผลิตภัณฑ์
ปี 2567 คาดการณ์ว่าการค้ากุ้งทั่วโลกเติบโตเล็กน้อย จากปัจจัยด้านราคาที่ลดลง และการหมุนเวียนผลผลิตกุ้งของเอกวาดอร์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกกุ้งขาวที่มีบทบาทสำคัญในตลาดโลก ณ ปัจจุบัน แต่ก็มีข้อจำกัดทางปัจจัยสิ่งแวดล้อม เช่น ผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการส่งออกของเอกวาดอร์
เอกวาดอร์ : เดือน เม.ย. 67 ปริมาณการผลิตกุ้งภายในประเทศ และส่งออกเพิ่มขึ้น ส่งออก ปริมาณ 111,684 ตัน มูลค่า 539 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 19% และ 4% ตามลำดับ โดยก่อนหน้านี้ เอกวาดอร์ส่งออกกุ้งลดลงต่อเนื่องติดต่อกัน และราคากุ้งเฉลี่ย 4.91 เหรียญสหรัฐ/กก. ลดลง 11% จากปีก่อนหน้า โดยจีนเป็นประเทศคู่ค้ากุ้งอันดับหนึ่ง นำเข้ากุ้ง 62,000 ตัน มูลค่า 278 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปริมาณเพิ่มขึ้น 6 % มูลค่าเพิ่มขึ้น 10% ราคาลดลง 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และผู้นำเข้ารายอื่นๆ ก็มีทิศทางเพิ่มขึ้น อาทิ สหรัฐอเมริกา สเปน อิตาลี ฝรั่งเศส และรัสเซีย ส่วน ไต้หวัน และลิทัวเนียร์การนำเข้าเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวมาก เนื่องจากอุตสาหกรรมกุ้งเอกวาดอร์มีการปรับตัว โดยเฉพาะราคากุ้งหน้าฟาร์มขนาด 50/60 ตัว/กก. ปรับจาก 2.8 เหรียญสหรัฐฯ ช่วงต้นปี เป็น 3.15 เหรียญสหรัฐฯในช่วงปลาย พ.ค. 2567
ไทยมีฟาร์มเลี้ยงกุ้ง ตามข้อมูลแจ้งประกอบกิจการการเพาะเลี้ยงปสัตว์น้ำ ควบคุมประเภทกิจการการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล(จสค.) จำนวน 43,378 ฟาร์ม มีฟาร์มที่ได้รับรองมาตรฐานฟาร์มกุ้งทะเล จำนวน 7,425 ฟาร์ม แยกตามใบรับรองมาตรฐานฟาร์มกรมประมง ได้แก่ CoC 33 ราย/ GAP 6,184 ราย/ GAP มกษ.7401-2557/7401-2562 จำนวน 151 ราย และมกษ. 7436-2563 จำนวน 1,057 ราย
ข้อมูลการจำหน่ายลูกพันธุ์กุ้งจากระบบ FMD และAFPD เดือนมกราคม-มิถุนายน 2567 16,010 ล้านตัว ลดลง 11% จากปีก่อน โดยมีสัดส่วนการจำหน่ายลูกพันธุ์รายภาคดังนี้ ภาคตะวันออก 30% ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย 29% ภาคใต้ฝั่งอันดามัน 27% ภาคใต้ตอนบน 12% และภาคกลาง 2%
ข้อมูลผลผลิตกุ้งจากระบบ MD และAPPD เดือนมกราคม-มิถุนายน 2567 ผลผลิต 116,353 ตัน ลดลง 11% จากปีก่อน โดยมีสัดส่วนผลผลิตรายภาค ดังนี้ ภาคใต้ตอนบน 36% ภาคใต้ฝั่งอันดามัน 23% ภาคใต้อ่าวไทย 11% ภาคตะวันออก 20%และภาคกลาง 10%
ราคากุ้งขาว ช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2567 ราคากุ้งยังชะลอตัว เนื่องจากเศรษฐกิจยังซบเซา ผู้บริโภคกำลังซื้อลดลง แต่คาดว่าราคาจะปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยในไตรมาสที่ 3 และกำลังซื้อจากผู้ส่งออกมีแนวโน้มดีขึ้น
การนำเข้ากุ้งของไทย เดือนมกราคม-มิถุนายน 2567 ไทยนำเข้ากุ้ง ปริมาณ 8,010 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1,329 ล้านบาท ปริมาณ ลดลง 55% และมูลค่า ลดลง 63% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสัดส่วนตลาดนำเข้าหลัก ได้แก่ อาร์เจนติน่า ร้อยละ 55, เอกวาดอร์ 6% , ปากีสถาน 5% , อินเดีย 5 % และแคนาดา 3%
การส่งออกกุ้งของไทย เดือนมกราคม-มิถุนายน 2567 ไทยส่งออกกุ้ง ปริมาณ 61,926 ตัน คิดเป็นมูลค่า 20,005 ล้านบาท ปริมาณและมูลค่าลดลง 0.37% และ 7.95 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสัดส่วนตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ ญี่ปุ่น 27%, จีน 24% , อเมริกา 21 % , เกาหลีใต้ 6 % ไต้หวัน 5% และประเทศอื่นๆ 17 %
สมาคมฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้านสถานการณ์ตลาดเนื่องจากแต่ละตลาดมีความต้องการ สินค้ากุ้งแตกต่างกัน และขึ้นกับเศรษฐกิจของแต่ละประเทศในปัจจุบัน
ตลาดสหรัฐอเมริกา ปีนี้ผู้นำเข้า USA ไม่รับข้อเสนอ Settlement AD สินค้ากุ้งจากไทย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการค้าในปีนี้และปีหน้า อีกทั้ง ลูกค้ายังคงให้ความสำคัญต่อมาตรฐานส่งออก เช่น ASC และความปลอดภัยของอาหารอย่างต่อเนื่อง และจากภาวะเงินเฟ้อ และอัตราการว่างงานในอเมริกายังคงสูง ทำให้ผู้บริโภคใช้จ่ายอย่างประหยัด
ตลาดญี่ปุ่น มีความต้องการสินค้าประเภทพร้อมรับประทาน (ready to eat) เช่น กุ้งเทมปุระ กุ้งที่ตัดแต่งเรียบร้อยพร้อมใช้ประกอบทำอาหารประเภท ซูชิ (sushi) และ ซาชิมิ (sashimi) หรือขนาดพอดีคำ
ตลาดจีน ยังนิยมสินค้ากุ้งจากไทย ทั้งกุ้งขาว และกุ้งกุลาดำ เนื่องจากมีคุณภาพดี สีและขนาด ได้ตามที่ลูกค้าต้องการ
ทั้งนี้ ขอให้ภาครัฐส่งเสริมตลาดภายในประเทศ โดยจัดกิจกรรมกระตุ้นส่งเสริมการบริโภคกุ้งไทย
อย่างไรก็ตาม กรมประมงได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง เช่น การลดตันทุนแฝงจากการเกิดโรค,การส่งเสริมการให้บริการด้านสุขภาพสัตว์น้ำ พัฒนาศักยภาพและสร้างเครือข่ายห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์โรคกุ้ง, ส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงกุ้งแบบปิดในระบน้ำหมุนเวียน, การใช้พลังงานทางเลือกและใช้จุลินทรีย์ในการเพาะเลี้ยงกุ้งทดแทนการใช้ยาและสารเคมี รวมถึง โครงการเสริมสภาพคล่องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง
- การควบคุมการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำ ผู้นำเข้าต้องมีใบรับรองสุขอนามัย (Health Certificate) ซึ่งจะถูกเปิดตรวจและสุ่มตรวจโรคสัตว์น้ำ และสารตกค้างทุกครั้งที่มีการนำเข้า
สถานการณ์สินค้าทูน่า และผลิตภัณฑ์
การจับทูน่าจากการทำประมงพาณิชย์ : มกราคม-พฤษภาคม 2567 ปริมาณรวม 36,389 ตัน เพิ่มขึ้น 33.8 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็น ปลาโอดำ 31 % ปลาโอลาย 25 % ปลาโอหลอด 28 % ปลาทูน่าท้องแถบ 11 % อื่นๆ 5 %
การส่งออก: มกราคม-มิถุนายน 2567 ไทยส่งออกปลาทูน่า ปริมาณ 278,901 ตัน มูลค่า 42,127 ล้านบาท ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้น 24 % และ 21 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกส่วนใหญ่เป็นทูน่ากระป๋อง 92% ปลาทูน่าแช่เย็นแช่แข็ง 4 % ปลาทูน่าลอยน์สดแช่เย็นแช่แข็ง 1% และปลาทูน่าแปรรูป 3 % โดยสัดส่วนตลาดหลักส่งออกทูน่า ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 20 % ตะวันออกกลาง 22 % แอฟริกา 14 % ญี่ปุ่น 9 % ออสเตรเลีย 8 % แคนาดา 5% อเมริกาใต้ 4.5 % สหภาพยุโรป 2 % อาเซียน 4 % และอื่นๆ %
การนำเข้า: มกราคม-มิถุนายน 2567 ไทยนำเข้าปริมาณ 425,692 ตัน มูลค่า 24,417 ล้านบาท ปริมาณเพิ่มขึ้น 20% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสัดส่วนตลาดนำเข้าทูน่า ได้แก่ ไต้หวัน17 %, เกาหลีใต้ 15%ไมโครนีเซีย 14 % , นาอูรู 11 % , มัลดีฟ 6 %, และวานูอาตู 6 % แบ่งตามชนิดทูน่านำเข้า ได้แก่ Skipjack 82 %, Yellowfin 10 %, Albacore 4 %, Bigeye 2 % และอื่นๆ 2% ผลิตภัณฑ์ทูน่าที่นำเข้าส่วนใหญ่เป็นปลาทูน่าสดแช่เย็นแช่แข็ง 99 % , ปลาทูน่าแปรรูป 0.7 % และเนื้อปลาทูน่าสดแช่เย็นแช่แข็ง 0.3%
สถานการณ์ปลาทูน่า : ญี่ปุ่นนำเข้าปลาทูน่าสดแช่เย็นแช่แข็งสำหรับซาซิมิ ในไตรมาสแรกปี 2567 เพิ่มขึ้น 8 % เนื่องจากอยู่ในช่วงเทศกาลฉลองปีใหม่ และมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 3 ล้านคน ทำให้ความต้องการปลาทูน่าเพิ่มขึ้น รวมถึงช่วงเทศกาลวันหยุดยาว (Golden Week) เดือน เม.ย-พ.ค.ส่งผลให้ความต้องการปลาทูน่า สำหรับซาซิมิเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค. ซึ่งเป็นการช่วยระบายสต๊อกปลาทูน่าในประเทศ อย่างไรก็ตามเดือน มิ.ย. ญี่ปุ่นมีสภาพอากาศร้อน อาจส่งผลให้ demand & supply ปลาทูน่าลดลง
ความต้องการปลาทูน่าสดแช่แข็งสำหรับการแปรรูปของโลกในไตรมาสแรกปี 2567 สูงขึ้น โดยเฉพาะไทย ยกเว้นจีนที่นำเข้าปลาทูน่าสดแช่แข็ง 24,600 ตัน ลดลง 29% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
สถานการณ์การค้าปลาทูน่าสดแช่แข็งสำหรับการแปรรูป ตลาดปลา Yaizu ประเทศญี่ปุ่นทรงตัวในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2567 ราคาปลาทูน่า Skipjack และ Yellowfin ยังตกต่ำ แต่ปริมาณปลาทูน่า Skipjack เพิ่มขึ้น 21% ส่วนปลาทูน่าYellowfinเพิ่มขึ้น 41% และราคาปลาทูน่า Albacore ทรงตัว เนื่องจากมีปริมาณน้อย

เนื่องจากมีวาระสถานการณ์ปลาทูน่า สมาคมฯขอให้สำนักงานเศรษฐกิจ การเกษตรเชิญสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทยเข้าร่วมประชุม เพื่อให้ข้อคิดเห็นในการประชุมต่อไป

Public on 6th September 2022
Copyright of Thai Frozen Foods Association