วันอังคารที่ 4 มิถุนายน 2567 เวลา 14.30-17.00 น. ณ ห้องประชุมกุลาดำ กรมประมง และระบบการประชุม Zoom Online Meeting
สมาคมฯ โดย คุณอนุชา เตชะนิธิสวัสดิ์ นายกสมาคมฯ, คุณวิบูลย์ สุภัครพงษ์กุล อุปนายกสมาคมฯ, คุณนคร หาญไกรวิไลย์ ปฏิคมสมาคมฯ, คุณเสาวนีย์ คำแฝง ผู้อำนวยการสมาคมฯ และนายประมุข ตะเคียนคาม ผู้จัดการฝ่ายบริการข้อมูลวิชาการ เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำ ครั้งที่ 5/2567 โดยมีนายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เป็นประธานที่ประชุม มีสาระสำคัญจากการประชุม
ดังนี้
1. เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ
นายบัญชา สุขแก้ว ประธานที่ประชุม แจ้งที่ประชุมว่า ในช่วงวันที่ 5-7 มิถุนายน 2567 ทางผู้แทนจากสหภาพยุโรป จำนวน 6 ท่าน และผู้แทนจากสถานฑูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย จะเข้าร่วมประชุมกับกรมประมง ภายใต้คณะทำงานร่วมไทย-สหภาพยุโรปที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี (มีกรมประมงเป็นประธาน)
รูปแบบการประชุมจะแบ่งเป็น วันที่ 5 มิถุนายน 2567 สอบถามท่าทีประเทศไทยในประเด็นต่างๆ ได้แก่
1.1 นโยบายกรมประมง และท่าทีของสหภาพยุโรป
1.2 มาตรการตรวจติดตาม (MCS : Monitoring Control and Surveilance)
1.3 กองเรือของไทย (ในประเด็นจำนวนเรือประมงและสภาวะทรัพยากร)
1.4 การตรวจสอบย้อนกลับสินค้าประมงของไทย
1.5 การบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะการแก้ไข พรก.การประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2560
วันที่ 6 มิถุนายน 2567 ลงพื้นที่ดู Port In-Port Out (PIPO) และเรือประมง
วันที่ 7 มิถุนายน 2567 ประชุมสรุปผลการหารือ
ทั้งนี้ ทางสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยได้เสนอว่า ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมาได้มีสำนักข่าวต่างประเทศได้มาขอสัมภาษณ์และได้แสดงความกังวลในเรื่องระบบการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าประมงของไทยที่ส่งออกไปยังสหภาพยุโรป นอกจากนี้ หากกรมประมงจะสามารถให้ภาคเอกชนเข้าร่วมสังเกตุการณ์ในที่ประชุมได้ จะเป็นการดีมากๆ ซึ่งประธานที่ประชุมได้ชี้แจงว่า ผู้เข้าร่วมประชุมต้องเป็นคณะทำงานไทย-สหภาพยุโรปที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรีเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากการประชุมเสร็จแล้ว กรมประมงจะจัดส่งรายงานการประชุมให้กับภาคเอกชนเพื่อทราบต่อไป
2. ที่ประชุมรับรองรายงานการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำ ครั้งที่ 4/2567 เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2567
3.1 การตรวจสอบการดำเนิคดีกับผู้นำเข้าที่ปลอมแปลงเอกสารประกอบการขออนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำ
กรมประมงโดยศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการนำเข้า-ส่งออกสินค้าประมงผิดกฎหมาย ร่วมกับ กองตรวจสอบเรือประมง สินค้าสัตว์น้ำ และปัจจัยการผลิต ได้ตรวจสอบเอกสารประกอบการขออนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำผ่านระบบ Fisheries Single Window (FSW) พบการปลอมแปลงเอกสารประกอบการขออนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำเข้ามาในราชอาณาจักร โดยมีการปลอมแปลงเอกสาร Product Movement Document (PMD) ของประเทศเมียนมา เป็นผู้นำเข้าทางด่านสิงขร จำนวน 2 ราย น้ำหนักสัตว์น้ำ 13,929 กก. คิดเป็นมูลค่า 646,275 บาท และการขออนุญาตนำเข้าทางด่านตรวจประมงนราธิวาส เป็นผู้นำเข้าทางด่านตรวจประมงนราธิวาส จำนวน 2 ราย น้ำหนักสัตว์น้ำ 57,330 กก. คิดเป็นมูลค่า 1,120,980 บาท
ทั้งนี้ กรมประมงได้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ดังนี้
(1) ข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหายตามมาตรา 137 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน
(2) ข้อหาปลอมเอกสารตามมาตรา 264 และใช้เอกสารปลอมในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน มาตรา 268 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(3) ข้อหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชนตามมาตรา 14 (1) (2) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(4) ดำเนินการเพิกถอนใบอนุญาตนำเข้า และแจ้งความดำเนินคดีเพิ่มเติมในข้อกล่าวหา นำเข้าสัตว์น้ำโดยมิได้ได้รับอนุญาตตามมาตรา 92 มีความผิดตามมาตรา 158 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ปรับไม่เกินห้าเท่าของมูลค่าสินค้า และระงับการเข้าใช้งานระบบ FSW
ของผู้กระทำความผิด และหากขออนุญาตนำเข้าครั้งถัดไปจะต้องได้รับการยืนยันจากประเทศต้นทางว่าเอกสารประกอบการนำเข้าถูกต้องก่อนจึงจะได้รับอนุญาตให้นำเข้า
3.2 ความก้าวหน้าในการดำเนินมาตรการควบคุมการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำทางจุดผ่อนปรนพิเศษ
สืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำ ครั้งที่ 4/2567 เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2567 ที่ประชุมเห็นชอบมอบหมายให้กรมประมงจัดส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ด่านสิงขร) และจังหวัดกาญจนบุรี (ด่านพระเจดีย์สามองค์) เพื่อขอความอนุเคราะห์ให้เข้มงวด มิให้มีการนำเข้าสินค้าประมงที่ส่งผลกระทบต่อสินค้าประมงไทยทางจุดผ่านแดนที่เป็นจุดผ่อนปรนพิเศษ ซึ่งกรมประมงได้จัดทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ด่านสิงขร) และผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี (ด่านพระเจดีย์สามองค์) แล้ว
สำหรับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ - ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้ประชุมคณะกรรมการศูนย์สั่งการชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านด้านเมียนมา มติที่ประชุมให้ตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาผลกระทบโดยละเอียด เนื่องจากหอการค้าจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ไม่เห็นด้วยกับ
การระงับการนำเข้า เพราะอาจเกิดปัญหาเรื่องวัตถุดิบไม่เพียงพอ
สำหรับจังหวัดกาญจนบุรี - หัวหน้าด่านตรวจประมงกาญจนบุรี เข้าร่วมการประชุมการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าตกต่ำจังหวัดกาญจนบุรี โดยมีมติให้การนำเข้าทุกครั้งต้องแจ้งให้หน่วยเฉพาะกิจลาดหญ้า (ทบ.) ทราบก่อน โดยกำหนดเพดานการนำเข้าไม่เกิน 30 ตันต่อวัน (ตามศักยภาพที่เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมได้) และกำชับเจ้าหน้าที่ให้ดำเนินการตามประกาศกรมประมง เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการขออนุญาตและการอนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2567 อย่างเคร่งครัด
ในประเด็นนี้คุณอนุชาได้เสริมในที่ประชุมว่า การระงับการนำเข้าไม่น่าจะทำได้และขัดต่อหลักการของ WTO รวมถึงอาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการด้วย
3.3 การดำเนินการแก้ไขปัญหาสินค้าประมงของหอการค้าไทย
เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567 หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้จัดการประชุมหารือความร่วมมือแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรของประเทศไทยอย่างยั่งยืน ร่วมกับหน่วยงานภาคเอกชน ได้แก่ สมาคมผู้ค้าปลีกไทย สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย สมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมโรงแรมไทย สมาคมภัตตาคารไทย สมาคมเชฟประเทศไทย และผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) ซึ่งหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้มีข้อห่วงใยต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการประมงเกี่ยวกับราคาสินค้าเกษตรและประมงในปัจจุบัน จึงได้ระดมความร่วมมือจากเอกชนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องดังกล่าวเพื่อช่วยในการรับซื้อสินค้าเกษตรและประมงจากทั่วประเทศ และจะจัดตั้งศูนย์ประสานงานกลางและประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรและอาหาร (Coordination Center) เพื่อทำหน้าที่ประสานงานช่วยเหลือและประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรและอาหารทั่วประเทศ โดยหอการค้าไทยร่วมกับหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ จะเชิญกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาทิ กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงพาณิชย์ อาทิ กรมการค้าภายใน กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเข้าร่วมเป็นคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรและอาหารตกต่ำร่วมกัน โดยยังอยู่ระหว่างการจัดตั้งองค์ประกอบของคณะทำงานฯ และที่ประชุมเสนอให้จัดส่ง Action Plan มาเพื่อพิจารณาร่วมกัน
คุณวิบูลย์ สุภัครพงษ์กุล ในนามหอการค้าและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้กล่าวเสริมว่า หอการค้าไม่ได้นิ่งนอนใจในการดำเนินงานในส่วนนี้ ขณะนี้หอการค้ากำลังรวบรวมข้อมูล และจะนำเสนอคณะกรรมการหอการค้าไทย ก่อนแจ้งความคืบหน้าให้กับกรมประมงต่อไป
3.4 คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำ กลุ่มปลาหน้าดินและคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำ กลุ่มปลาผิวน้ำ โดยที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำ ครั้งที่ 4/2567 เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2567 มีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำ 2 คณะ คือ กลุ่มปลาหน้าดิน และกลุ่มปลาผิวน้ำ เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้ตามความเหมาะสมและมีความรวดเร็วในการแก้ไขปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำได้ทันท่วงที โดยมีรองอธิบดีกรมประมงที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธานอนุกรรมการ
ทั้งนี้ ที่ประชุมเสนอให้เพิ่มผู้แทนจากสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป และนายกสมาคมประมงแสมสาร เข้าร่วมในคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำ กลุ่มปลาผิวน้ำ และคุณอนุชา เสนอเพิ่มผู้จัดการตลาดทะเลไทย เข้าร่วมในคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำ กลุ่มปลาหน้าดิน
4.1 มาตรการตรวจสอบสินค้าสัตว์น้ำเพิ่มเติม
กองนโยบายและแผนพัฒนาการประมง เป็นกรรมการและเลขานุการ ได้รายงานความก้าวหน้าพร้อมทั้งชี้แจงมาตรการในการดำเนินการแก้ไขปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำ สรุปดังนี้
- มาตรการป้องกันการลักลอบนำเข้าโดยผิดกฎหมาย ได้แก่ การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการนำเข้าส่งออกสินค้าประมงผิดกฎหมายของกรมประมง ร่วมกับชุดปฏิบัติการ “พญานาคราช”
ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อป้องกันการลักลอบการนำเข้าสินค้าประมงผิดกฎหมาย
- มาตรการเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสินค้าสัตว์น้ำนำเข้าที่ด่านตรวจประมง
- มาตรการควบคุมการนำเข้าสัตว์น้ำตามด่านชายแดน
- กลุ่มปลาหน้าดิน สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย สหกรณ์ประมงแม่กลอง และชมรมผู้ค้าปลาสมุทรสาคร ซึ่งเป็นผู้ขาย ร่วมกับสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยซึ่งเป็นผู้รับซื้อ ณ ตลาดทะเลไทย ได้ประชุมหารือกำหนดราคารับซื้อโดยอ้างอิงจากราคาปลา ณ ตลาดทะเลไทย ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป และให้เพิ่มเติมปลา 2 ชนิด คือ ปลาจวด และปลาหนวดฤาษีในกลไกการตกลงราคา
- กลุ่มปลาผิวน้ำ สมาคมอวนล้อมจับประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ขาย ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทยและสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปซึ่งเป็นผู้รับซื้อ โดยตกลงราคาหน้าโรงงานของปลาทูแขกและปลาหลังเขียว ไม่ต่ำกว่า 20 บาท/กก. เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567 เป็นต้นไป และห้ามโรงงานปฏิเสธการรับซื้อ พร้อมประสานให้กับโรงงานในเครือข่าย
ช่วยรับซื้อได้
การกำหนดราคารับซื้อปลาจวดและปลาหนวดฤาษี โดยคุณอนุชา ได้แจ้งที่ประชุมว่า หลังจากการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งก่อน สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยได้หารือราคาเสนอซื้อปลาจวดและปลาหนวดฤาษีกับสมาชิกสมาคมฯ และได้ข้อสรุปเรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งส่งราคารับซื้อให้กับสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และเวียนสมาชิก เพื่อให้เริ่มรับซื้อตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยได้ขอบคุณสมาคมฯ ที่เร่งแก้ไขปัญหาให้กับชาวประมงในประเด็นนี้