ประชุมเพื่อการจัดทำข้อมูลผลประโยชน์ของชาติทางทะเล

เมื่อช่วงเช้าวันพฤหัสบดีที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 คุณอนุชา เตชะนิธิสวัสดิ์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ได้เข้าประชุมและร่วมแสดงความเห็นในการ⛴️🐟🦑 “ประชุมเพื่อการจัดทำข้อมูลผลประโยชน์ของชาติทางทะเล” 🦐🦀ณ ห้องประชุมศรีวิสารวาจา สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงข้อมูลให้มีความทันสมัยและทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป มีมาตรฐานเท่าเทียมนานาชาติ รวมถึงการนำมาใช้เพื่อกำหนดนโยบายระดับชาติในด้านต่างๆ โดยมีศาสตราจารย์เผดิมศักดิ์ จารยะพันธ์ ประธานอนุกรรมการที่ปรึกษาและจัดการความรู้เพื่อผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เป็นประธาน
การจัดทำร่างแผนการรักษาความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566- 2570) ในเบื้องต้นได้ผ่านการอนุมัติจากนายกรัฐมนตรีเรียบร้อย และได้มีการนำเสนอต่อสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อพิจารณาแนวทางการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ในด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบ การบริหารจัดการภาครัฐและความมั่นคง โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับการวัดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ความเปลี่ยนแปลง และมูลค่าความสูญเสียที่จะเกิดจากภัยคุกคามความมั่นคงทางทะเล ในการประเมินมูลค่าผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
🐠🐟ในการประชุมวันนี้ ที่ประชุมกำหนดกรอบในการแสดงความเห็น 4 กลุ่มหลัก คือ การขนส่งและพาณิชยนาวี การผลิตพลังงาน การท่องเที่ยว และการประมง ซึ่งนายกสมาคมฯ ได้ให้ข้อมูลต่อที่ประชุมในเรื่องของผลประโยชน์ทางทะเลที่มีต่อเศรษฐกิจ เกี่ยวกับการประมงในประเด็นดังต่อไปนี้
1. มูลค่าทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทย ทั้งในส่วนอาหารแช่เยือกแข็ง และผลิตภัณฑ์ทูน่ากระป๋อง สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศเกือบสองแสนล้าน เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบโดยตรงทั้งจับจากทะเล และการทำประมงชายฝั่ง ด้วยอาศัยน้ำทะเลที่มีคุณภาพในการเพาะเลี้ยง แต่ในช่วง 8 ปีหลังอุตสาหกรรมอาหารทะเลถดถอย โดยเป็นผลสืบเนื่องจากการที่เรือประมงลดลง เพราะผู้ประกอบการให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามนโยบาย IUU และวัตถุดิบกุ้งที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด EMS ซึ่ง เกี่ยวข้องกับคุณภาพของน้ำทะเล วัตถุดิบลดน้อยลง ราคาสูงขึ้น ไม่สามารถเสนอขายกับประเทศอื่นๆได้ ทำให้ไทยสูญเสียการแข่งขัน ทางด้านตลาด
2. การทำประมงอย่างยั่งยืน โดยปฎิบัติตามกฎหมายประมงอย่างเข้มงวด มีการจัดทำระบบการตรวจสอบที่มาของวัตถุดิบ ที่ชัดเจน สามารถแสดงข้อมูลสถิติการจับปลาเศรษฐกิจในการนำมาใช้ประโยชน์ เป็นผลให้มีทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องช่วยกันหาแนวทางเพื่อให้เกิดความยั่งยืน
3. การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยอาศัยน้ำทะเลมาใช้เพื่อเพาะเลี้ยงในพื้นที่ชายฝั่ง หรือในแหล่งเลี้ยงกุ้งทะเล คุณภาพน้ำทะเลมีผลโดยตรงต่อปริมาณผลผลิต แนวทางการแก้ปัญหาด้านคุณภาพของน้ำ และการบริหารจัดการแหล่งน้ำ และงานวิจัยต่างๆ โดยเฉพาะจากภาครัฐ จะช่วยให้เกษตรกรประเมินการใช้แหล่งน้ำที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มผลผลิตของทรัพยากร

4. การอนุญาตให้มีการเพาะเลี้ยงปลาเศรษฐกิจทางทะเล โดยรัฐบาลจัดสรรและสนับสนุน พร้อมทั้งมีงานวิจัยในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมารองรับ เชื่อว่าจะมีผู้ประกอบการเข้าไปลงทุนในพื้นที่ อันจะเป็นการเพิ่มวัตถุดิบจากทะเล เพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศและการส่งออก ลดการจับจากธรรมชาติ

Public on 6th September 2022
Copyright of Thai Frozen Foods Association