ประชุมร่วมกัน 3 ฝ่าย กระทรวงแรงงาน หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ILO

ความเป็นมาสืบเนื่องจาก การประชุมคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1/2566 ได้มีประเด็นเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมการจัดหางาน Recruitment Fee ที่ภาคเอกชนยังไม่มีความชัดเจน จึงได้มีมติเห็นชอบโดยขอให้ทางกระทรวงแรงงานเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย ประกอบด้วย กระทรวงแรงงาน หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ILO ได้มีการจัดประชุมในวันที่ 14 กรกฎาคม 2566 โดยมีคุณอนุชา เตชะนิธิสวัสดิ์ นายกสมาคมฯ คุณวิบูลย์ สุภัครพงษ์กุล รองประธานคณะกรรมการแรงงานฯ และคุณเสาวนีย์ คำแฝง ผอ.สมาคมฯ
สรุปสาระสำคัญ
1. ผู้แทน ILO โดย Mr.Nilim Baruah ผู้เชี่ยวชาญการย้ายถิ่นฐานระดับภูมิภาค ผู้แทนสำนักงานระหว่างประเทศ ประจำประเทศไทย กัมพูชา และ สสป.ลาว ได้นำเสนอ สำหรับหลักการทั่วไปและแนวปฏิบัติ ด้านสิทธิมนุษยชน ภายใต้อนุสัญญา C181 อนุสัญญาว่าด้วยสำนักจัดหางานภาคเอกชน ในเรื่องการจัดหางานที่เป็นธรรม (Fair Recruitment) โดยมีหลักการทั่วไปและแนวปฏิบัติ การประเมินเพื่อตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชน (General Principles and Operational) มีนิยามค่าธรรมเนียมในการจัดหางานและค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยตระหนักถึงหลักการที่ว่า “แรงงานไม่ควรต้องถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจัดหางานและค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม และไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วน”
- ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการจัดหางานทั้งหมดเป็นความรับผิดชอบของนายจ้างซึ่งรวมถึงค่าหนังสือเดินทางด้วย แต่หากเป็นกรณีแรงงานทำหายหรือต้องการทำเล่มใหม่ แรงงานต้องเป็นผู้รับผิดชอบเอง พร้อมทั้งกล่าวว่า
มีประเทศที่ทำการส่งออกไปยังสหรัฐฯ เคยถูกแบนมาแล้วจากผู้ซื้อรายใหญ่ เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามแนวมาตรฐาน โดยย้ำว่าตามหลักการของ ILO C181 ค่าใช้จ่ายจัดหางานไม่ควรเป็นความรับผิดชอบของแรงงาน
- สำหรับค่าใช้จ่ายที่ต้องห้ามตามกฎหมาย คือ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มเติมนอกเหนือจากที่ตกลง ไม่ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ถูกต้องตามกฎหมาย, ค่าใต้โต๊ะ ติดสินบน ส่วน การกรรโชก ค่ามัดจำ คอรัปชั่นต่างๆ ในขั้นตอนของกระบวนการจัดหางานทั้งหมด
2. กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน ได้นำเสนอแนวทางปฏิบัติการจ้างแรงงานต่างด้าว และการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการจัดหางาน (Recruitment Fee) โดยการดำเนินการนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานตามระบบ MOU ตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม แบ่งได้ 2 วิธี คือ
1) นายจ้างใช้บริษัทนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศดำเนินการนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงาน หรือ
2) นายจ้างเป็นผู้ดำเนินการนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานด้วยตนเอง (นายจ้างดำเนินการด้วยตนเอง) โดยขั้นตอนการดำเนินการนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานตามระบบ MOU ได้แก่ 1) การยื่นแบบคำร้องขอนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ 2) การจัดส่งคำร้องความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว 3) การดำเนินการของประเทศต้นทาง 4) การยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว 5) การอนุญาตให้นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศ 6) แรงงานต่างด้าวเดินทางเข้าประเทศผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง และ 7) การอบรมและรับใบอนุญาตทำงาน
สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานตามระบบ MOU มีดังนี้
1)กรณีนายจ้างใช้บริษัทนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศมีค่าใช้จ่ายการดำเนินการ ได้แก่
- ค่าบริการที่จ่ายให้กับบริษัทนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ โดยจ่ายไม่เกินร้อยละ 25 ของค่าจ้างรายเดือนที่คนต่างด้าวได้รับในเดือนแรกหรือระยะสามสิบวันแรกที่คนต่างด้าวเข้าทำงาน ซึ่งอัตราค่าบริการดังกล่าวเป็นไปตามสัดส่วนการนำคนต่างด้าวมาทำงาน และ
- ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จ่ายให้กับบริษัทนำคนต่างด้าวฯ ในการดำเนินการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ เช่น ค่าจัดเตรียมเอกสารต่าง ๆ ค่าพาหนะเดินทาง ค่าอาหาร และค่าที่พัก เป็นต้น
2)กรณีนายจ้างเป็นผู้ดำเนินการนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานด้วยตนเอง จะต้องมีการวางหลักประกัน 1,000 บาทต่อคนต่างด้าวหนึ่งคน ในการนำคนต่างด้าวจากต่างประเทศมาทำงานในประเทศ
3)ค่าใช้จ่ายในส่วนของคนต่างด้าว เช่น ค่าหนังสือเดินทาง ค่าตรวจสุขภาพ ค่าใบอนุญาตทำงาน และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นที่ประเทศต้นทาง เป็นต้น
3. ผู้แทนเอกชน คณะกรรมการแรงงานฯ โดย ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ ให้ข้อมูลว่า ผู้ซื้อต่างประเทศทั้งหมดต้องการให้นายจ้างรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด อย่างไรก็ดี ในส่วนของการดำเนินการนำคนต่างด้าวเข้ามา
ทำงานตามระบบ MOU ทั้ง 7 ขั้นตอน จะสามารถช่วยพิจารณาปรับลดค่าใช้จ่ายให้นายจ้างได้หรือไม่ เพื่อไม่ให้ธุรกิจรับภาระค่าใช้จ่ายมากเกินไป จึงขอเสนอให้พิจารณาช่วยลดค่าใช้จ่ายเหมือนช่วงโควิด 19 (เช่นค่า Visa ปกติ 2,000 บาท ในช่วงโควิดลดเหลือ 500 บาท) นอกจากนี้ ไม่ส่งเสริมเรื่องการคอร์รัปชั่น จึงอยากให้ ILO ให้ความชัดเจนเกี่ยวประเด็น Fair Recruitment โดยจะนัดหารือกับทาง ILO เกี่ยวกับต้นทุนจริงๆ เพื่อไม่ให้เกิดการคอร์รัปชั่นในการดำเนินดังกล่าว

ท้ายสุดนี้ ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า กระทรวงแรงงานยินดีที่จะสนับสนุนและช่วยเหลือ อย่างไรก็ดี การส่งออกไปยังต่างประเทศจำเป็นจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของผู้ซื้อและมาตรฐานสากล

Public on 6th September 2022
Copyright of Thai Frozen Foods Association