ประชุมคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทย ครั้งที่ 2/2566

วันพุธที่ 26 เมษายน 2566 เวลา 13.30-15.00 น. ทางระบบการประชุม Zoom Online Meeting
สมาคมฯ โดย ดร.ผณิศวร ชำนาญเวช นายกสมาคมฯ พร้อมด้วยนายประมุข ตะเคียนคาม ผู้จัดการฝ่ายบริการข้อมูลวิชาการ เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทย ครั้งที่ 2/2566 โดยมี นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานที่ประชุม มีสาระสำคัญจากการประชุม ดังนี้
1. ที่ประชุมรับรองรายงานการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566
2. รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงพื้นบ้านในประเด็น ดังนี้
- การออกใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน : ตามที่กรมประมงได้ดำเนินการเสนอแนวทางการออกใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้านต่อคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันศุกร์ที่ 27 มกราคม 2566 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวทางการออกใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน และมอบหมายพลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นร่วมกับชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งได้มีการจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากชาวประมงไปแล้ว จำนวน 2 ครั้ง และล่าสุด คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าอากรใบอนุญาตให้ใช้เครื่องมือทำการประมง และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน พ.ศ. .... เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ภายหลังการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของคณะทำงานวิเคราะห์สถานการณ์ตรวจ ติดตาม ควบคุม เฝ้าระวังการทำการประมงและแรงงานในภาคประมงได้ข้อยุติ จึงจะดำเนินการเสนอออกกฎกระทรวงฯ ต่อไป
- (ร่าง) โครงการบรรเทาผลกระทบราคาน้ำมันสำหรับเรือประมงพื้นบ้าน : กรมประมงได้จัดทำร่างโครงการบรรเทาผลกระทบราคาน้ำมันสำหรับเรือพื้นบ้านแล้วเสร็จ โดยมีเป้าหมายเป็นชาวประมงพื้นบ้านที่ทำการประมงโดยใช้เรือขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส ซึ่งจดทะเบียนและได้รับใบอนุญาตใช้เรือจากกรมเจ้าท่าและใช้เครื่องมือทำการประมงถูกต้องตามกฎหมาย จำนวน 48,380 ราย วงเงินงบประมาณ 366,733,360 บาท
3. รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงพาณิชย์ และการประมงนอกน่านน้ำไทย ในประเด็น ดังนี้
- โครงการนำเรือออกนอกระบบ : สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ประสานแจ้งกรมประมงว่า “กรอบวงเงินภาระที่ภาครัฐต้องรับชดเชยตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ไม่เพียงพอต่อการดำเนินโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบฯ จึงขอให้กรมประมงพิจารณาดำเนินการขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประจำปี พ.ศ. 2566 วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 1,806,334,900 บาท ในการดำเนินการโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบฯ ต่อไป ซึ่งกรมประมงได้มีหนังสือถึงสำนักงบประมาณ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2566 เพื่อรับฟังความคิดเห็นในการขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประจำปี พ.ศ. 2566 เรียบร้อยแล้ว
4. รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ในประเด็น ดังนี้
- การฟื้นฟูอุตสาหกรรมกุ้งไทยให้ได้ผลผลิต 4 แสนตัน ภายในปี 2566 : กรมประมงมีการดำเนินการในหลายด้าน อาทิ การส่งเสริมโรงเพาะฟักเข้าสู่ระบบ White list hatchery, การประชุมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกรในการคัดเลือกลูกกุ้งคุณภาพ, การส่งเสริมการใช้จุลินทรีย์ทดแทนการใช้สารเคมี, การประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้งานและประโยชน์ของระบบ APD, การจัดทำรูปแบบการเลี้ยงกุ้งทะเลที่เหมาะสม เพื่อใช้ประกอบการยื่นกู้ขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินหรือแหล่งทุน เป็นต้น
- การตรวจสอบคุณภาพสินค้าปัจจัยการผลิต : ผลการตรวจสอบร้านค้าปัจจัยการผลิตจำนวน 70 ร้าน ไม่พบการกระทำความผิด จำนวน 70 ร้าน
- การส่งออกปลากะพงขาวไปสาธารณรัฐประชาชนจีน : ฝ่ายเลขาฯ ได้จัดประชุมหารือวิธีการส่งออกปลากะพงขาวไปจีนตามแนวทางการส่งออกผลไม้ไปจีน เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2566 ร่วมกับฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit board), กองวิจัยและพัฒนาสุขภาพสัตว์น้ำ, กองตรวจสอบคุณภาพสินค้าประมง, กองตรวจเรือประมง สินค้าสัตว์น้ำและปัจจัยการผลิต, กองพัฒนาระบบการรับรองมาตรฐานสินค้าประมงและหลักฐานเพื่อการสืบค้น โดยมีข้อสรุปว่า เมื่อจีนยินดีให้เปิดตลาดจะดำเนินการประเมินความเสี่ยง ทำพิธีสารระหว่างสองฝ่ายและขึ้นทะเบียนโรงงาน จึงจะสามารถส่งออกสินค้าได้ ซึ่งกรมประมงอยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอน อย่างไรก็ตาม การทำพิธีสารที่ล่าช้าอาจเนื่องมาจากความต้องการปลากะพงขาวของไทยน้อย
- ผลการดำเนินงานคณะทำงานแก้ไขปัญหาการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำ : กรมประมงมีคำสั่งที่ 196/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำ ลงวันที่ 7 มีนาคม 2566 เพื่อให้การแก้ไขปัญหาการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในการพิจารณาต่อรองข้อตกลงกรอบการค้าเสรีได้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมจัดประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ 1/2566 โดยคาดว่าจะจัดประชุมหลังจากการเจรจากับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association: EFTA) รอบที่ 3
5. รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการพัฒนาผลิตผลผลิตภัณฑ์ประมงและการพาณิชย์ ในประเด็น ดังนี้
- การรับรองการปฏิบัติตามมาตรการเพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในกระบวนการผลิตอาหารส่งออก : กรมประมงได้ออกหนังสือรับรองการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในกระบวนการผลิตอาหารส่งออก จำนวน 269 ฉบับ โดยออกให้โรงงานผลิตสินค้าสัตว์น้ำแช่เยือกแข็ง จำนวน 132 ฉบับ โรงงานผลิตสินค้าสัตว์น้ำบรรจุกระป๋อง จำนวน 36 ฉบับ โรงงานผลิตสินค้าพื้นเมือง จำนวน 85 ฉบับ สถานบรรจุสัตว์น้ำ จำนวน 15 ฉบับ และห้องเย็นรับฝาก จำนวน 1 ฉบับ
- โครงการปรับปรุงการทำประมงปูม้าของไทยอย่างยั่งยืน (Thailand Blue Swimming Crab Fishery Improvement Project) : กรมประมงได้จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อการบริหารจัดการการทำประมงปูม้า พ.ศ. 2566 – 2570 ภายใต้ (ร่าง) นโยบายและแผนบริหารจัดการประมง พ.ศ. 2566 - 2570 ในส่วนของนโยบายการพัฒนาการประมงในน่านน้ำไทยโดยผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นอย่างมีส่วนร่วมจากผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในพื้นที่ 22 จังหวัดชายฝั่งทะเล ตั้งแต่เดือนกันยายน - พฤศจิกายน 2565 ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย และ National Fisheries Institute Crab Council สหรัฐอเมริกา และล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 สมาคมฯ ได้จัดการประชุมประเมินความก้าวหน้าโครงการฯ ซึ่งผลการประเมินโครงการอยู่ในระดับดีขึ้นในทุกหลักการ

- โครงการปรับปรุงและพัฒนาการทำประมงอวนลากในพื้นที่อ่าวไทย (The Gulf of Thailand Trawl Fishery Improvement Project) : คณะทำงาน 8 สมาคมฯ ได้มีการประชุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อรับทราบและแลกเปลี่ยนความเห็นแนวทางการพัฒนาการประมงอวนลากในอ่าวไทยสู่ความยั่งยืนตามแนวปฏิบัติมาตรฐานสากล ในวันที่ 19 เมษายน 2566 เวลา 13.30 -17.00 น. ณ โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว ฟอร์จูน กรุงเทพฯ ซึ่งในการประชุมได้มีการรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานกิจกรรมตามแผนปฏิบัติการจัดการประมงอวนลากอ่าวไทย (Fishery Action Plan: FAP) และรายงานผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาการประมงอวนลากในอ่าวไทยสู่ความยั่งยืนตามแนวปฏิบัติมาตรฐานสากลฯ และได้มีการแลกเปลี่ยนประเด็น
การพัฒนาโครงการฯ ระหว่างภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม ภาคผู้บริโภค เล็งเห็นถึงความสำคัญของการปรับเปลี่ยนโครงสร้างระบบการทำประมงโดยใช้ผลการศึกษาวิจัยและเทคโนโลยีด้านต่างๆ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานหรือสถานการณ์โลก

Public on 6th September 2022
Copyright of Thai Frozen Foods Association