วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน 2565 เวลา 15.30-18.00 น. ทางระบบ Zoom Online Meeting
สมาคมฯ โดย นายประมุข ตะเคียนคาม ผู้จัดการฝ่ายบริการข้อมูลวิชาการ เข้าร่วมการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาด้านผลิตภัณฑ์อาหารของอาเซียน ครั้งที่ 61-10/2565 โดยมีสาระสำคัญจากการประชุม ดังนี้
1. ที่ประชุมรับรองรายงานการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ครั้งที่ 60-9/2565 เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565
2.
เรื่องเพื่อพิจารณา สำหรับการจัดทำท่าทีผู้แทนที่เข้าร่วมการประชุม ACHPFS ครั้งที่ 6 มีประเด็น ดังนี้
2.1 การพิจารณา List 2 ของค่า MLs ของวัตถุเจือปนอาหาร ที่ประชุมมีมติเห็นควรให้ฝ่ายเลขานุการฯ ประสานกับผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาในการจัดทำข้อคิดเห็นของประเทศไทยที่มีต่อการปรับมาตรฐานวัตถุเจือปนอาหาร ซึ่งเบื้องต้น ทาง อย. เสนอให้เห็นชอบในหลักการกับการปรับประสานค่า MLs ของวัตถุเจือปนอาหารทุกค่าใน Table 3 ของ CODEX STAN 192-1995
2.2 ผลการพิจารณาของอินโดนีเซียต่อข้อเสนอของประเทศไทยเกี่ยวกับการทบทวนค่า ASEAN MLs ของวัตถุเจือปนอาหาร ซึ่งข้อเสนอจากไทย คือ ให้เป็นไปตามหลักการสำหรับการจัดทำข้อกำหนดสำหรับวัตถุเจือปนอาหารตามเอกสารของอาเซียน (ASEAN Principles and Guidelines for the Establishment of Maximum Use Level for Food Additives) โดยพิจารณา Codex General Standard for Food Additives - CODEX STAN 192-1995 (GSFA) และ Codex Commodity Standard ที่เกี่ยวข้องร่วมด้วย ทั้งนี้ อินโดนีเซียแจ้งว่าจะอภิปรายเพิ่มเติมในการประชุม ACHPFS
2.3 การแจ้งความคืบหน้า/สถานะของผลการหารือในประเทศสำหรับค่า MLs ของโลหะหนัก ซึ่งที่ประชุมได้อภิปรายและเห็นควรให้รวมค่า MLs สำหรับแคดเมียมในน้ำแร่ธรรมชาติ (0.003 mg/l) และตะกั่วในน้ำแร่ธรรมชาติ (0.01 mg/l) ใน Annex II ของ ASEAN Standards for Contaminants and Toxins in Food and Feed นอกจากนี้ ฝ่ายเลขานุการฯ ได้สอบถามไปยังกระทรวงสาธารณสุข
ในประเด็นนี้ โดยทราบว่า ปัจจุบันการแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่องน้ำแร่ธรรมชาติอยู่ในขั้นตอนการเสนอคณะกรรมการพิจารณา และเห็นควรให้แจ้งสถานะเดิมสำหรับการปรับประสานค่าสารหนูในน้ำแร่ธรรมชาติให้สอดคล้องกับค่า ML ของ Codex ไปก่อน ซึ่งที่ประชุมเห็นควรจัดทำท่าทีนี้ตามที่ อย. เสนอ
2.4 การพิจารณารายละเอียดของ discussion paper สำหรับข้อกำหนดด้านความปลอดภัยอาหารสำหรับวัสดุสัมผัสอาหาร ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบในการรับรองข้อเสนอฉบับล่าสุด ซึ่งได้แก้ไขตามข้อคิดเห็นจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทยแล้ว รวมถึงขอบคุณ ARISE Plus ที่ให้การสนับสนุนในการดำเนินงานนี้ และขอให้ดูท่าทีของสิงคโปร์และมาเลเซียที่จะเสนอในที่ประชุมอีกครั้งหนึ่ง
2.5 การพิจารณา Revised ASEAN General Standard for Labelling of Prepackaged Foods (GSLPF) ร่วมกับข้อคิดเห็นจากประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบว่า การประชุม Codex สาขาฉลากอาหาร ประเทศไทยได้เห็นชอบกับ General Standard for the Labelling of Prepackaged Foods (CXS 1-1985) Revised in 2018 โดยไม่ได้มีการขอสงวนท่าทีต่อมาตรฐานดังกล่าว ทั้งนี้ ที่ประชุมจึงมีท่าทีไม่ขัดข้องกับร่างเอกสาร ASEAN General Standard for Labeling of Prepackaged Foods (GSLPF) ที่ได้ทบทวน เนื่องจากเป็นการปรับปรุงแก้ไขร่างมาตรฐานโดยรับ adoption ตาม Codex ทั้งหมด