21/10/65 ประชุมรายงานผลการเจรจาความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมงภายใต้องค์การการค้าโลก

วันที่ 21 ตุลาคม 2565 คุณอนุชา เตชะนิธิสวัสดิ อุปนายกสมาคมฯ เข้าร่วมการประชุมรายงานผลการเจรจาความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมงภายใต้องค์การการค้าโลก จัดโดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ผ่านระบบ Zoom Meeting มีรายละเอียดดังนี้

กรมเจรจาการค้าได้รายงานความคืบหน้าโดยสรุปผลความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมงภายใต้องค์การการค้าโลก แสดงให้เห็นความสำเร็จของความร่วมมือของชาติสมาชิกในหลายด้าน โดยสรุปสาระสำคัญของความตกลงฯที่สมาชิก WTO ได้ข้อยุติร่วมกันแล้ว และตัดประเด็นที่ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันออก ดังนั้น ความตกลงฯ จึงมีเนื้อหาและกฎเกณฑ์น้อยกว่าร่างความตกลงฯ ก่อนหน้านี้โดยมี ประเด็นดังนี้

1. การห้ามการอุดหนุน IUU Fishing มีข้อยกเว้นให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถให้การอุดหนุนแก่ IUU Fishing ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (EEZ) (200 ไมล์ทะเล) เป็นระยะเวลา 2 ปี

2. การห้ามการอุดหนุนที่เกี่ยวข้องกับ Overfished Stocks มีข้อยกเว้นให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถให้การอุดหนุนแก่ประมงในกลุ่ม Overfished Stocks ในเขต EEZ เป็นระยะเวลา 2 ปี

3. การห้ามการอุดหนุนที่นำไปสู่ Overcapacity & Overfishing ประเด็นนี้ถูกตัดออก

4. การกำหนดให้ความตกลงฯ ครอบคลุมถึงการอุดหนุนน้้ามันเชื้อเพลิงที่ไม่เฉพาะเจาะจง (non-specific fuel subsidies) และประเด็นการใช้แรงงานบังคับ (forced labour) ประเด็นนี้ถูกตัดออก เนื่องจากสมาชิกหลายประเทศเห็นควรให้ไปหารือใน ILO มากกว่า WTO

สาระสำคัญของทั้ง 12 ข้อบทในความตกลงฯ

(1) ข้อบทว่าด้วยขอบเขต (Article 1: Scope) กำหนดขอบเขตของความตกลงให้ครอบคลุมเฉพาะการอุดหนุนที่เฉพาะเจาะจงตามนิยามของความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนและมาตรการตอบโต้การอุดหนุน สำหรับการทำประมงและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงทางทะเลตามธรรมชาติ

(2) ข้อบทว่าด้วยคำนิยาม (Article 2: Definitions) ระบุนิยามของถ้อยคำที่ใช้ในความตกลง ได้แก่ สัตว์น้ำ การทำประมงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำประมง เรือประมง และผู้ประกอบการประมง

(3) ข้อบทว่าด้วยการอุดหนุนที่นำไปสู่การทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Article 3: Subsidies Contributing to IUU Fishing): ห้ามสมาชิกให้การอุดหนุนแก่เรือประมงหรือผู้ประกอบการประมงที่ถูกตัดสินโดยรัฐเจ้าของธงรัฐชายฝั่ง หรือองค์กรบริหารจัดการประมงระดับภูมิภาค (RFMO) ว่าเป็น IUU Fishing รวมถึงการห้ามอุดหนุนที่ให้แก่กิจกรรมที่สนับสนุนการทำ IUU Fishing

(4) ข้อบทว่าด้วยการอุดหนุนเกี่ยวกับการทำประมงในกลุ่มสัตว์น้ำที่ถูกจับมากเกินควร (Article 4: Subsidies Regarding Overfished Stocks) ห้ามสมาชิกให้การอุดหนุนที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงในกลุ่ม Overfished Stocks ยกเว้นในกรณีที่สมาชิกมีการอุดหนุนเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ พร้อมทั้งมีการระบุ SDT เพื่อให้ประเทศสมาชิกกำลังพัฒนายังคงให้การอุดหนุนที่เกี่ยวข้องกับ Overfished Stocks ในเขต EEZ ต่อไปได้อีกเป็นระยะเวลา 2 ปี นับจากวันที่ความตกลงฯ มีผลบังคับใช้

(5) ข้อบทว่าด้วยการอุดหนุนอื่นๆ (Article 5: Other Subsidies) ห้ามสมาชิกให้การอุดหนุนในพื้นที่ทะเลหลวง รวมทั้งการให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษสำหรับการอุดหนุนเรือประมงที่ไม่ได้ชักธงของรัฐที่ให้การอุดหนุน และการอุดหนุนในพื้นที่ที่ไม่ทราบสถานะของทรัพยากรสัตว์น้ำ

(6) ข้อบทว่าด้วยบทบัญญัติเฉพาะสำหรับประเทศสมาชิกที่พัฒนาน้อยที่สุด (Article 6 Specific Provisions for LDC Members) สมาชิกจะต้องใช้ความระมัดระวังในการหยิบยกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประเทศสมาชิกพัฒนาน้อยที่สุด และแนวทางแก้ปัญหาจะต้องคำนึงถึงสถานการณ์เฉพาะของ LDCs ที่เกี่ยวข้อง

(7) ข้อบทว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคและการสร้างศักยภาพ (Technical Assistance and Capacity Building) ให้มีการจัดตั้งกองทุนของ WTO ด้วยความร่วมมือจากองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคและการสร้างศักยภาพแบบเฉพาะเจาะจงแก่ประเทศสมาชิกกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศสมาชิกที่พัฒนาน้อยที่สุด เพื่อดำเนินการตามกฎระเบียบภายใต้ความตกลงฯ (😎 ข้อบทว่าด้วยการแจ้งข้อมูลและความโปร่งใส (Article 8: Notification and Transparency) ระบุข้อมูลที่สมาชิกต้องแจ้งเพิ่มเติมจากความตกลง ASCM ได้แก่ ประเภทหรือชนิดของกิจกรรมทางการประมงที่ได้รับการอุดหนุน และข้อมูลที่สมาชิกต้องแจ้งเพิ่มเติม หากทำได้ อาทิ สถานะของทรัพยากรสัตว์น้ำที่ได้รับการอุดหนุน

(9) ข้อบทว่าด้วยการจัดการเชิงสถาบัน (Article 9: Institutional Arrangements) ให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อดำเนินหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายและเปิดโอกาสให้สมาชิกหารือในประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับการบังคับใช้ความตกลงฯ

(10) ข้อบทว่าด้วยการระงับข้อพิพาท (Article 10: Dispute Settlement) ให้นำบทบัญญัติภายใต้ความเข้าใจว่าด้วยการระงับข้อพิพาท (DSU) และความตกลง ASCM มาใช้กับกระบวนการปรึกษาหารือ และการระงับข้อพิพาท ภายใต้ความตกลงเรื่องการอุดหนุนประมง เว้นเสียแต่มีการระบุไว้เป็นอย่างอื่นในความตกลงฉบับนี้

(11) ข้อบทว่าด้วยบทบัญญัติสุดท้าย (Article 11: Final Provisions) ระบุดังนี้

- การยกเว้นการอุดหนุนเพื่อบรรเทาภัยพิบัติจากการห้ามอุดหนุนภายใต้ความตกลงฉบับนี้

- กำหนดไม่ให้คำวินิจฉัย และคำตัดสินของความตกลงมีผลทางกฎหมายในประเด็นการอ้างสิทธิด้านอาณาเขต หรือการกำหนดขอบเขตทางทะเล และกำหนดให้คณะผู้พิจารณา ไม่รับคำฟ้องที่จะทำให้พิจารณาในประเด็นดังกล่าว

- อำนาจอธิปไตยและสิทธิของสมาชิกภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องจะไม่กระทบจากความตกลง

- ประเทศสมาชิกจะไม่ถูกผูกมัดโดยมาตรการ หรือมติของ RFMO ที่ตนไม่ได้เป็นภาคี

- ความตกลงฉบับนี้ไม่ได้ปรับแก้หรือทำให้สิทธิและพันธกรณีตามที่กำหนดให้ความตกลง ASCM ไม่มีผล

(12) ข้อบทว่าด้วยการสิ้นสุดของความตกลงหากไม่มีการรับรองกฎระเบียบที่ครอบคลุม (Article 12: Termination of Agreement If Comprehensive Disciplines are not Adopted) หากกฎระเบียบที่ครอบคลุม ไม่ได้ถูกให้การรับรองภายในสี่ปีหลังจากที่ความตกลงฉบับนี้มีผลใช้บังคับ และถูกตัดสินเป็นอย่างอื่นโดยคณะมนตรีใหญ่ ความตกลงฉบับนี้จะสิ้นสุดโดยทันที

คุณอนุชา ได้ตั้งข้อสังเกตต่อความหมายและการตีความของคำว่า "การอุดหนุน" และขอให้กรมช่วยแสดงตัวอย่างความชัดเจนของประเทศไทยต่อการอุดหนุนด้านการประมงว่ามีอะไรบ้าง เช่น การชดเชยมูลค่าการส่งออกให้ผู้ส่งออก หรือการชดเชยน้ำมันให้เรือประมง ถือเป็นการอุดหนุนหรือไม่ และการอุดหนุนจะมีผลกระทบอะไรกลับมาบ้าง
กรมประมงได้ให้ความเห็นว่า ขอบเขตของการอุดหนุนนั้นล้อมาจากข้อตกลงการปฏิบัติที่เป็นพิเศษและแตกต่าง (Special and Differential Treatment: SDT) ซึ่งรวมถึง การช่วยเหลือด้านการเงินจากภาครัฐที่ไทยได้เคยดำเนินการ เช่น การนำเรือออกนอกระบบ การเพิ่มขีดความสามารถด้านการผลิตกุ้งทะเล และการจัดทำธนาคารปูม้า เป็นต้น
กรมเจรจาการค้าได้ขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เข้าร่วมการประชุม ในการจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมดังหัวข้อต่อไปนี้ และส่งกลับกรมเจรจาการค้า ภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565

1. การปรับตัวของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจากการจัดทำความตกลงฯ ในกรณีที่ไทยเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลง

2. กฎหมาย/กฎระเบียบภายในของไทยที่ต้องปรับปรุงเพื่อรองรับการมีผลบังคับใช้ความตกลงฯ โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐ ที่กำหนดให้ผู้เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติอันจะเป็นการดำเนินการ เพื่อรองรับการมีผลบังคับใช้ของความตกลงฯ

Public on 6th September 2022
Copyright of Thai Frozen Foods Association