หมึก เป็นสัตว์ทะเลไม่มีกระดูกสันหลัง ลำตัวมีรูปร่างกลมยาว หรือเป็นถุง แต่มีลักษณะพิเศษ คือ มีขา (หนวด) ยื่นออกจากหัว 4-5 คู่ อยู่รอบปาก บนหนวดมีปุ่มดูดเรียงเป็นแถว หนวดมีหน้าที่จับเหยื่อป้อนเข้าปาก ภายในตัวมีท่อทางเดินอาหาร ระบบขับถ่าย และระบบสืบพันธุ์ ที่ส่วนปลายสุดของท่อทางเดินอาหาร มีถุงน้ำมีสีดำติดอยู่ เรียกว่า ถุงหมึก ซึ่งพร้อมที่จะพ่นออกทางท่อน้ำออก เมื่อถูกรบกวนหรือมีศัตรูเพื่อพรางตัวในการหลบหนี จึงเป็นที่มาของชื่อที่เราเรียกกันติดปาก ว่า “ปลาหมึก”
หลายคนอาจสงสัยว่า หมึก เป็นปลาหรือไม่ ซึ่งแท้จริงแล้วสัตว์กลุ่มนี้ไม่ใช่ปลา แต่เป็นสัตว์ในกลุ่มจำพวกเดียวกับหอย หรือมอลลัส (molluscs) ซึ่งเป็นสัตว์ในไฟลัมมอลลัสกา (mollusca) ไฟลัมเดียวกับหอย หมึกเป็นสัตว์ที่มีวิวัฒนาการมากที่สุดในไฟลัมนี้ และยังเป็นอาหารทะเล (seafood) ที่นิยมบริโภคทั่วไป
ประเภทของหมึก
1. หมึกกระดอง (Cuttlefish, Rainbow Cuttlefish) ชื่อวิทยาศาสตร์ Sepia brevimana, Sepia pharaonic
หมึกกระดองมีลำตัวเป็นถุงรูปไข่ มีแผ่นกล้ามเนื้อคลุมลำตัว คือ ครีบ เป็นอวัยวะที่ใช้ในการพยุงตัว ทำให้เคลื่อนไหวในน้ำได้อย่างรวดเร็ว ลำตัวเป็นกล้ามเนื้อมีลักษณะเป็นแผ่นเนื้อหนาหุ้มห่ออวัยวะภายใน กระดองรูปคล้ายใบหอกที่ เรียกว่า ลิ้นทะเล หัวมีนัยน์ตาขนาดใหญ่ มีหนวดสั้น 4 คู่ และหนวดยาว 1 คู่ ปลายของหนวดแต่ละเส้นมีอวัยวะดูดใช้ในการจับอาหาร ถิ่นอาศัย หากินอยู่ในบริเวณผิวน้ำในเวลากลางคืน พบทั่วไปในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน
2. หมึกหอม / หมึกตะเภา (Soft Cuttlefish) ชื่อวิทยาศาสตร์ Sepioteuthis lessoniana
ลำตัวเป็นรูปทรงกระบอก ครีบหรือแผ่นข้างตัวทั้งสองด้าน มีลักษณะกว้างและแบน ยาวเกือบตลอดลำตัวคล้ายหมึกกระดอง ต่างกันที่กระดองของหมึกหอมจะเป็นแผ่นใสดูบาง เห็นเส้นกระดองได้ชัดเจน หนวดรอบปากมี 10 เส้น เป็นแขน 8 เส้น มีหนวดคู่ยาว 2 เส้น ลำตัวใส มีสีน้ำตาลอมแดง ประเป็นจุด นัยน์ตาสีเขียว ตัวผู้จะมีขนาดยาวและเรียวกว่าตัวเมีย ถิ่นอาศัย รวมกลุ่มอยู่เป็นหมู่ ทั้งในบริเวณผิวน้ำถึงพื้นทะเล
3. หมึกยักษ์หรือหมึกสาย (Octopus) ชื่อวิทยาศาสตร์ Octopus membranaceous
หมึกชนิดนี้มีรูปร่างผิดกับหมึกชนิดอื่น คือ ลำตัวกลมคล้ายลูกโป่ง ไม่มีครีบ ไม่มีกระดอง มีหนวด 8 เส้น แต่ละเส้นมีความยาวใกล้เคียงกันโคนหนวดแต่ละเส้นมีแผ่นหนังเชื่อมติดกัน ด้านในของหนวดทุกเส้นมีปุ่มดูดเรียงกันเป็นสองแถวสำหรับจับสัตว์กินเป็นอาหาร ลำตัวสีเทาอมดำหรือสีน้ำตาลอ่อน ด้านท้องสีขาว หมึกสายเป็นสัตว์ที่เคลื่อนไวค่อนข้างช้า ถิ่นอาศัย ซ่อนตัวอยู่ตามพื้นที่เป็นโคลนหรือโคลนปนทราย พบตามชายฝั่งทะเลทั่วไป
4. หมึกกล้วย (Squid / Splendid Squid) ชื่อวิทยาศาสตร์ Loligo spp. Loligo formosana
รูปร่างยาวเรียว ลำตัวกลม ครีบเป็นรูปสามเหลี่ยมอยู่ทางด้านซ้าย มีหนวดสั้น 4 คู่ และหนวดยาว 1 คู่ ปุ่มดูดที่อยู่บนหนวดเปลี่ยนรูปเป็นขนสั้นๆ เพื่อใช้ในการสืบพันธุ์ ถิ่นอาศัย หากินอยู่ในบริเวณผิวน้ำในเวลากลางคืน พบทั่วไปในอ่าวไทยและเวลากลางวันจะหลบอยู่ตามหน้าดิน
ชีววิทยาของหมึก
การสืบพันธุ์และการเจริญเติบโต
หมึกส่วนมากจะมีอายุขัยโดยเฉลี่ยไม่เกิน 4 ปี อย่างหมึกกระดองมีอายุขัยราว 240 วัน หมึกถือเป็นสัตว์ที่มีการเจริญเติบโตเร็วมาก เมื่ออายุถึง 3 เดือน ก็สามารถสืบพันธุ์ได้ หมึกมักจะจับคู่เป็นคู่ๆ โดยในหมึกกระดองตัวผู้จะมีถุงสเปิร์ม ซึ่งตัวผู้จะใช้หนวดดึงถุงสเปิร์มนี้ไว้ในตัวของตัวเมียบริเวณรอบปาก ในขณะที่หมึกกล้วยจะทิ้งไว้ข้างลำตัว
หมึกจะวางไข่ไว้ในโพรงหรือติดกับวัสดุต่างๆ ใต้น้ำ เช่น หินหรือปะการัง เมื่อฟักเป็นตัวแล้ว หมึกในวัยเล็กจะมีรูปร่างเหมือนตัวเต็มวัยทุกประการ หมึกตัวเมียในกลุ่มหมึกกระดองเมื่อวางไข่แล้ว น้ำหนักจะค่อยๆ ลดลงและตายลงในที่สุด ในขณะที่หมึกยักษ์ตัวเมียจะดูแลไข่และดูแลลูกจนกระทั่งฟักออกมาเป็นตัว
การเคลื่อนที่ของหมึก
การเคลื่อนที่ของหมึกจะใช้วิธีขับน้ำจากบริเวณส่วนในของลำตัวผ่านออกทางท่อที่อยู่ใกล้ๆ หัว จึงทำให้เกิดแรงดันตัวให้พุ่งไปอีกด้านหนึ่ง ขณะเคลื่อนที่จะลู่หนวดตัวเองไว้เพื่อไม่ให้ต้านน้ำ นอกจากนี้แล้ว หมึกยังมีอวัยวะที่ช่วยในการพยุงตัวที่เรียกว่า Statocyst ซึ่งหลักการทำงานเหมือนกับแท่งกระดูกในหูของมนุษย์ที่ช่วยในการทรงตัว จึงช่วยให้หมึกสามารถพุ่งไปในทิศทางต่างๆ ได้ทั้งขึ้นและลง และยังมีสิ่งที่คล้ายกับกระดูกอ่อนที่เรียกว่า Statolith จะอยู่ในระหว่างเซลล์ประสาทแบบขน ซึ่งในกลุ่มหมึกกล้วยจะมีอวัยวะส่วนนี้วิวัฒนาการถึงขีดสุด