ติดตามผลสัมฤทธิ์ของตัวชี้วัดตามแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2563-2565

วันอังคารที่ 20 มิถุนายน 2566 เวลา 09.30-12.00 น. ณ ชั้น 3 อาคาร 2 สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.)

สมาคมฯ โดยคุณตรีรัตน์ เชาวน์ทวี ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการกลุ่มผลิตภัณฑ์ปู ให้สัมภาษณ์ติดตามผลสัมฤทธิ์ของตัวชี้วัดตามแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2563-2565 กับคณะผู้ประเมินจากมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะหน่วยงานที่ได้รับทุนอุดหนุนโครงการวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้ติดตามผลสัมฤทธิ์ของตัวชี้วัดสำคัญ (OKRs) ตามแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) พ.ศ. 2563-2565 กลุ่มที่ 3 ของสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) และได้มอบหมายให้ ศ.ดร.ศรีสมบัติ โชคประจักษ์ชัด มหาวิทยาลัยมหิดล เป้นคณะผู้ประเมินผลสัมฤทธิ์ ดังกล่าว

2. คณะผู้ประเมินได้เลือก "โครงการแผนการพัฒนาและปรับปรุงระบบการประมงทะเลเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมประมงที่ยั่งยืนภายใต้หลักการของมาตรฐานสากล" (โครงการรวม FIP ของกรมประมง : ปูม้า อวนลาก อวนล้อม) เป็นหนึ่งในโครงการวิจัยของ สวก. มาเพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ เนื่องจากเป็นโครงการที่มีงบวิจัยสูงและมีความคืบหน้าของโครงการชัดเจน

3. จากการสัมภาษณ์ ทีมสัมภาษณ์ได้สอบถามความเป็นมาของการจัดทำโครงการวิจัย ซึ่งสมาคมฯ ได้ชี้่แจงว่า ประเทศผู้นำเข้าสินค้าประมงหลักของไทยได้เล็งเห็นว่า ทรัพยากรทางทะเลของไทยบางชนิดเริ่มมีแนวโน้มลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง จึงผลักดันให้มีการจัดทำแนวทางการปรับปรุงการทำการประมง (Fishery Improvement Project : FIP) เพื่อให้ทรัพยากรทางทะเลฟื้นฟูและมีความยั่งยืนในอนาคต โดยสินค้าประมงที่ถูกผลักดันในระยะต้น ได้แก่ สินค้าปูม้า และสินค้าประมงที่ได้จากการประมงอวนลากและอวนล้อม ตามลำดับ ในส่วนของสมาคมฯ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณการวิจัยจาก สวก. มาตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน ก็ไม่พบปัญหาการของบประมาณสนับสนุนการวิจัย และขอขอบคุณ สวก. ที่ยังคงไว้วางใจสมาคมฯ และคณะนักวิจัยภายใต้โครงการฯ โดยการจัดทำโครงการ FIP ปูม้านี้ ทำให้ภาพลักษณ์สินค้าของปูม้าของไทยดีขึ้น รวมถึงได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภคทั่วโลกว่า มีการจัดทำโครงการด้านความยั่งยืน ซึ่งสามารถดูข้อมูลภาพรวมได้จากเวปไซต์ Fisheryprogress.org และคิดเป็นปริมาณการส่งออกกว่า 3,000 ตันต่อปี มูลค่า 1,100 ล้านบาท นอกจากนี้ สมาคมฯ ได้เสนอให้ สวก. ยังคงให้การสนับสนุนโครงการ FIP ต่อไป และหากในอนาคตมี FIP สินค้าประมงชนิดอื่นที่จำเป้นต้องจัดทำ ก็อยากให้ ทาง สวก. พิจารณาสนับสนุนเพิ่มเติมด้วย

4. ทีมผู้ประเมินได้กล่าวชื่นชม สวก. ที่ให้การสนับสนุนโครงการในลักษณะนี้ เนื่องจากเห็นการประเมินค่าตัวชี้วัดที่ชัดเจน และได้ประโยชน์ทั้งในส่วนของภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงสถาบันการศึกษา อย่างไรก็ตาม ขอให้ทาง สวก. ประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจของโครงการในภาพรวมต่อไป


Public on 6th September 2022
Copyright of Thai Frozen Foods Association