ประชุมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาแนวปฏิบัติต่อสัตว์ทะเลหายากระหว่างทำการประมง

วันจันทร์ที่ 25 กันยายน 2566 เวลา 11.00-16.00 น. ณ สหกรณ์ประมงแม่กลอง จำกัด จังหวัดสมุทรสงคราม

สมาคมฯ โดย คุณอนุชา เตชะนิธิสวัสดิ์ นายกสมาคมฯ พร้อมด้วยนายประมุข ตะเคียนคาม ผุ้จัดการฝ่ายบริการข้อมูลวิชาการ เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาแนวปฏิบัติต่อสัตว์ทะเลหายากระหว่างทำการประมง (Workshop to reviews and planning for ETP species recording and trawl interaction) ซึ่งจัดโดย กรมประมง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และคณะทำงาน 8 สมาคมฯ ภายใต้โครงการปรับปรุงการทำประมงอวนลากฝั่งอ่าวไทย โดยมีสาระสำคัญจากการประชุม ดังนี้

ผู้แทนคณะทำงาน 8 สมาคมฯ ได้ชี้แจงวัตถุประสงค์ในการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ โดยผลที่ได้จากการประชุมเชิงปฏิบัติการในประเด็นของ ETP Species ทั้งข้อมูลการพบเห็น ETP species, ผลกระทบของการประมงต่อ ETP Species, การช่วยเหลือชีวิตสัตว์ รวมถึงข้อเสนอแนะต่างๆ จากการประชุม จะถูกนำไปจัดทำเป็นรายงานในเรื่องของการประมงอวนลากต่อ ETP Species และจัดทำคู่มือสำหรับการประมงอวนลาก นอกจากนี้ จะใช้เป็นข้อมูลสำหรับการประเมินความก้าวหน้าโครงการฯ กับหน่วยงานผู้ประเมิน (MarinTrust) ในช่วงปลายปี 2566 ด้วย

ผู้แทนจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้บรรยายให้ความรู้กับชาวประมงเกี่ยวกับกาารจำแนกชนิดและการกระจายตัวของ ETP Species ที่พบในพื้นที่อ่าวไทยและทะเลอันดามัน ได้แก่ โลมาชนิดต่างๆ, พะยูน, เต่า และกลุ่มวาฬ รวมถึงได้บรรยายเกี่ยวกับการช่วยเหลือชีวิตสัตว์ทะเลหายาก โดยกรมรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้มีการเก็บข้อมูลการพบเห็น ETP Species และการกระจายตัว รวมถึงประเมินสถานภาพ (บางชนิด) อยู่แล้ว และมีการทำงานในส่วนนี้ร่วมกับกรมประมง โดยเฉพาะในประเด็นของ MMPA (Marine Mammals Protection Act)

ชาวประมงได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในการประมงอวนลากนั้น ส่วนใหญ่มีการพบโลมามากที่สุด โดยพบบริเวณจังหวัดชุมพร และบางส่วนของสมุทรสงครามและสมุทรสาคร นอกจากนี้ ยังพบเต่าและฉลามวาฬในบางครั้งที่มีการทำการประมง อย่างไรก็ตาม ชาวประมงพยายามที่จะเลี่ยงทำการประมงในบริเวณที่มีการพบ ETP Species และอาจยังมีความไม่เข้าใจถึงเหตุผลในการบันทึกหรือแจ้งการพบเห็น ETP Species กับหน่วยงานภาครัฐ นอกจากนี้ ยังได้เสนอแนวทางการแก้ไขการทำการประมงที่อาจติด ETP species อาทิ การใช้เครื่องมือประมงสีสะท้อนแสง, การทำอวนคลุมด้านนอกอีกชั้น เพื่อป้องกันการกัดอวนของโลมา เป็นต้น

ในส่วนของสมาคมฯ คุณอนุชา ได้ชี้แจงว่า การดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงการฯ ดังกล่าวนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการชี้แจงให้กับคู่ค้าที่จับตามองในเรื่องของการประมงยั่งยืนว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญในประเด็นนี้ รวมถึงการบริหารจัดการที่ดีในเรื่องของ ETP Species ด้วย และสมาคมฯ ยินดีที่จะให้การสนับสนุนโครงการฯ นี้อย่างต่อเนื่องร่วมกับคณะทำงาน 8 สมาคมฯ

ทั้งนี้ หลังจากจบการประชุมในครั้งนี้ กรมประมงจะนำข้อมูลไปจัดทำเป็นรายงานผลการประชุมและจะเวียนให้กับผู้เข้าร่วมการประชุมพิจารณาอีกครั้ง และกรมประมงมีแผนที่จะจัดการประชุมในลักษณะนี้กับชาวประมงในพื้นที่อื่นด้วย อาทิ กลุ่มชาวประมงปูม้าในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และชาวประมงอวนล้อมในจังหวัดพื้นที่ชายฝั่ง


Public on 6th September 2022
Copyright of Thai Frozen Foods Association