12/10/65 ประชุมเชิงปฏิบัติการเสียงของแรงงานในประเทศไทย สำหรับลูกเรือประมง

12 ตุลาคม 2565 ณ Centre Point Hotel Silom สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย โดยนายวิบูลย์ สุภัครพงษ์กุล (อุปนายกสมาคมฯ) และคุณวาสนา ตรังใจจริง (เจ้าหน้าที่สมาคมฯ) เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเสียงของแรงงานในประเทศไทย สำหรับลูกเรือประมง จัดโดย Key Traceability Ltd. ในนามของ Global Seafood Alliance (GSA) วัตถุประสงค์ เพื่อรวบรวมข้อมูล และรับฟังการอภิปราย เสียงของแรงงาน และการร้องทุกข์สำหรับลูกเรือที่ทำงานบนเรือประมง จากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคาดว่ารายงานฉบับสมบูรณ์ “เสียงคนงานบนเรือประมง” จะแล้วเสร็จในต้นปี 2566 และเผยแพร่ต่อสาธารณทราบโดย GSA

Key Traceability เป็นทีมดำเนินการวิจัยทำงานร่วมกับ GSAจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เปิดรับฟังความคิดเห็นในโครงการ เสียงของแรงงาน เพื่อพัฒนาแนวทางการปฏิบัติที่ดี ที่จะทำให้เสียงของแรงงานบนเรือประมง โดยเฉพาะเรือประมงที่ได้รับการรับรองมาตรฐานตามอนุสัญญาสากล (The Responsible Fishing Vessel Standard) ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีประเด็นคำถามดังนี้

คุณคาดหวังว่าเสียงของแรงงาน และกระบวนการร้องทุกข์ในอุตสาหกรรมประมงนั้น แรงงานจะเข้าถึงได้อย่างปลอดภัย และง่ายดาย ลูกเรือเข้าใจอย่างกว้างขวางและมีการแก้ไขอย่างเป็นธรรม ที่ประชุมส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า ควรอบรมแรงงาน และแจ้งข้อมูลให้แรงงานทราบถึงข้อปฏิบัติ และสวัสดิการต่างๆ รวมถึงการร้องเรียน กรณีที่แรงงานไม่ได้รับความเป็นธรรม และควรมีช่องทางหรือระบบให้แรงงานสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ตลอดในขณะปฏิบัติงานบนเรือ อาทิ กล่องดำรับความเห็น, ให้อุปกรณ์ติดต่อสื่อสาร หรือมีคนกลางหรือหัวหน้างานบนเรือ สำหรับรับทราบและแก้ไขปัญหาเกิดขึ้น
สมาคมฯ ให้ความเห็นว่า สินค้าส่งออกของสมาชิก ส่วนใหญ่มาจากการเพาะเลี้ยงภายในประเทศ และเมื่อเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา 4 สมาคมฯ (สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย, สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อการส่งออก, สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย และสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย)ได้เซ็น MOU กับกระทรวงแรงงาน ผลักดัน โครงการ GLP ในภาคอุตสาหกรรมประมง โดย GLP มีหลักการด้านแรงงานที่สำคัญ 4 ไม่ 6 มี ดังนี้

4 ไม่ : 1) ไม่ใช้แรงงานเด็ก 2) ไม่ใช้แรงงานบังคับ 3) ไม่เลือกปฏิบัติ และ 4) ไม่ค้ามนุษย์

6 มี : 1) มีการบริหารจัดการด้านแรงงาน 2) มีเสรีภาพในการทำงาน 3) มีโอกาสแลกเปลี่ยนความเห็น 4) มีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัย 5) มีการจัดการสุขอนามัยและของเสีย 6) มีสวัสดิการเหมาะสม

คุณคาดหวังให้มีการบันทึกการใช้งาน และกระบวนการในการแก้ไขปัญหาแรงงานที่เกิดบนเรือประมงหรือไม่อย่างไร และใครมีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูล ที่ประชุมให้ความเห็นว่า กรณีเกิดปัญหาควรมีการบันทึกปัญหาที่เกิดขึ้น หากปัญหาได้รับการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว ควรเคลียร์ปัญหานั้น แต่หากต้องการจะบันทึกไว้เป็นตัวอย่างในการแก้ไขปัญหาครั้งต่อไป ควรกำหนดระดับของตำแหน่งในการเข้าถึงข้อมูล เพื่อรักษาความลับของแรงงาน ทั้งนี้ เห็นด้วยว่าปัญหาแรงงานมีความแตกต่างกันไปตามสัญชาติ สถานที่ และระยะเวลาที่ใช้ในการออกทำการประมง

Note
GSA เป็นองค์กรนอกภาครัฐระดับนานาชาติที่ขับเคลื่อนโดยสมาชิก อุทิศตนเพื่อพัฒนาแนวทางปฏิบัติด้านอาหารทะเลอย่างรับผิดชอบ ผ่านการศึกษาการสนับสนุน และการรับรองจากบุคคลที่สาม

Key Traceability เป็นบริษัทที่ให้คำปรึกษาและตรวจสอบอิสระ ตั้งขึ้นเมื่อปี 2558 โดยให้คำแนะนำด้านความยั่งยืนแก่ภาคธุรกิจอาหารทั่วโลก โดยทำงานร่วมกับ ผู้ค้าปลีก สหภาพแรงงาน NGO และบริษัทที่ประกอบธุรกิจการประมง


Public on 6th September 2022
Copyright of Thai Frozen Foods Association