ประชุมเพื่อแจ้งความคืบหน้าและรับฟังความการเจรจาความ FTA ของไทยกับประเทศคู่ค้า

วันที่ 6 สิงหาคม 2567 คุณบุญเลิศ ฝูงวรรณลักษณ์ นายทะเบียนสมาคมฯ คุณเสาวนีย์ คำแฝง ผู้อำนวยการสมาคมฯ และคุณกรวิชญ์ ทุมมานนท์ เจ้าหน้าที่สมาคมฯ เข้าร่วมการประชุมเพื่อแจ้งความคืบหน้าและรับฟังความการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ของไทยกับประเทศคู่ค้า ผ่านระบบ Zoom Meeting จัดโดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สรุปดังนี้


การเจรจา FTA ไทย-EFTA

ความคืบหน้าโดยรวม

• การเจรจาเริ่มต้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2565

• มีการประชุมเจรจาเป็นระยะๆ โดยเฉลี่ยประมาณทุก 2-3 เดือน

• มีการแบ่งกลุ่มย่อยในการเจรจา 16 กลุ่ม ครอบคลุมประเด็นสำคัญต่างๆ เช่น การค้าสินค้า, กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า, มาตรการสุขอนามัย, การค้าบริการ, การลงทุน, และทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น

• ทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าหมายที่จะสรุปผลการเจรจาภายในปี 2567

หากการเจรจาสำเร็จ จะเป็น FTA ฉบับแรกของไทยกับกลุ่มประเทศในยุโรป และถือเป็นการปูทางไปสู่การเจรจาความตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป (EU) ในอนาคต


ประเด็นที่ได้รับความสนใจ

1. Climate Change ประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถูกนำเข้ามาใช้ในการเจรจา ซึ่งเป็นประเด็นที่สอดคล้องกับความต้องการที่จะส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน โดย EFTA มีท่าทีที่ยืดหยุ่นกว่า EU ในประเด็นนี้

2. ผลกระทบต่อภาคประมง โดยเฉพาะประเด็นด้านแรงงานในภาคการประมง และการแก้กฎหมายประมงฉบับใหม่ ที่จะส่งผลกระทบในการเจรจา และมีความเสี่ยงในประเด็นของการทำประมงแบบ IUU ที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าประมงของไทย  


การเจรจา FTA ไทย-EU

การแบ่งกลุ่มตามความคืบหน้า

1. กลุ่มที่มีความคืบหน้าค่อนข้างมาก มาตรการเยียวยาทางการค้า, วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, การแข่งขัน, หลักปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบ, พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า

2. กลุ่มที่มีความคืบหน้าปานกลาง การค้าบริการและการลงทุน, การค้าสินค้า, มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช, อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า, การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และทรัพย์สินทางปัญญา

3. กลุ่มที่มีความคืบหน้าค่อนข้างน้อย พลังงานและวัตถุดิบ, ระบบอาหารที่ยั่งยืน และการอุดหนุน


การดำเนินการสำคัญและพัฒนาการของการเจรจา


การจัดตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการเจรจา FTA ไทย-EU ภายใต้คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยประธานผู้แทนการค้าไทย (หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร) เป็นประธานคณะอนุกรรมการ ทั้งนี้ ภายหลังการเจรจารอบที่ 3 EU เสนอให้เริ่มการหารือเรื่องแนวทางการเปิดตลาด (Market Access Modalities) ในทั้ง 3 กลุ่ม ได้แก่ การค้าสินค้า, การค้าบริการและการลงทุน และการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ


แผนและเป้าหมายการเจรจา

รอบที่ 4: วันที่ 25-29 พฤศจิกายน 2567 ณ กรุงเทพฯ

รอบที่ 5: มีนาคม 2568 ณ กรุงบรัสเซลส์

ตั้งเป้าหมายสรุปผลการเจรจาภายในปี 2568


**สำหรับความคืบหน้าในเรื่องของอัตราภาษี ที่ประชุมแจ้งว่าอยู่ระหว่างพิจารณารูปแบบ และแนวทางการลดภาษี ซึ่งยังไม่ได้มีการวิเคราะห์การปรับลดแต่ละรายการสินค้า**


การเจรจา FTA ไทย-ภูฏาน

เมษายน 2567 คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ไทยเข้าร่วมเจรจาความตกลง FTA กับภูฏาน

พฤษภาคม 2567 ภูฏานเป็นเจ้าภาพการประชุมเจรจารอบแรก และทั้งสองฝ่ายได้ตกลงโครงสร้างของความตกลง FTA ซึ่งครอบคลุม 11 บทหลัก

กำหนดแผนการเจรจาทั้งหมด 5 รอบ โดยรอบที่ 2 จะจัดขึ้นที่ประเทศไทยในช่วงกลางเดือนกันยายน 2567 และตั้งเป้าหมายที่จะสรุปผลการเจรจาให้ได้ภายในกลางปี 2568


ประเด็นสำคัญที่ครอบคลุมใน FTA

1. การค้าสินค้า การลดภาษีศุลกากรและอุปสรรคทางการค้าอื่นๆ เพื่อส่งเสริมการค้าสินค้าระหว่างกัน

2. กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาว่าสินค้าผลิตขึ้นในประเทศใด เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากรภายใต้ FTA

3. มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช กำหนดมาตรฐานและขั้นตอนการตรวจสอบสินค้าเกษตรและอาหาร เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายและข้อบังคับของแต่ละประเทศ

4. อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ การบรรจุภัณฑ์ และฉลากสินค้า

5. ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่างๆ เช่น การลงทุน การท่องเที่ยว และการพัฒนาบุคลากร


การเจรจา FTA ไทย-เกาหลีใต้

ไทยและเกาหลีใต้ได้เริ่มต้นการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (EPA) หรือ FTA อย่างเป็นทางการแล้ว โดยมีเป้าหมายเพื่อลดอุปสรรคทางการค้า และเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับทั้งสองประเทศ 

มีการจัดตั้งคณะทำงาน 14 คณะ เพื่อหารือในประเด็นต่างๆ เช่น การค้าสินค้า, การลงทุน, การค้าดิจิทัล และทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น 

กำหนดแผนการเจรจาไว้ทั้งหมด 7 รอบ โดยคาดว่าจะสรุปผลการเจรจาได้ภายในปลายปี 2568 


**ประเด็นที่น่าสนใจ: คุณบุญเลิศมีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับอุปสรรคในการนำเข้าสินค้าประมงของไทยไปยังเกาหลีใต้ แม้ว่าจะมีการเจรจาเพื่อลดภาษีนำเข้า แต่ผู้ประกอบการไทยยังคงต้องเผชิญกับปัญหาที่ผู้นำเข้าต้องดำเนินการจัดซื้อหรือประมูลโควต้า ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนการนำเข้า**


ซึ่ง กรมฯ เห็นว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจและสะท้อนให้เห็นถึงความซับซ้อนของการเจรจา FTA แม้ว่าจะมีการตกลงหลักการในการลดภาษีนำเข้า แต่ในทางปฏิบัติอาจมีข้อจำกัดหรือเงื่อนไขเพิ่มเติมที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญ เช่น ระบบโควต้า


*สำหรับกรอบการเจรจาการลดภาษีระว่างไทย-อังกฤษ กรมเจรจารายงานว่าทางอังกฤษยังไม่ได้ให้ความสนใจที่จะนำมาเจรจา*


การเจรจาอาเซียน - แคนาดา (ACAFTA)

การเจรจา ACAFTA กำลังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยมีการตั้งคณะทำงานเจรจาในหลากหลายประเด็น ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านการค้าสินค้า บริการ การลงทุน และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ทั้งอาเซียนและแคนาดามีเป้าหมายที่จะสรุปการเจรจาให้ได้ภายในปี 2568 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง 


ประเด็นการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งรวมถึงเรื่องแรงงาน สิ่งแวดล้อม และการค้าที่ครอบคลุมทุกภาคส่วน เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการสร้างความสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคม 


แม้ว่าการเจรจาจะมีความคืบหน้า แต่ก็ยังคงมีความท้าทายอยู่บ้าง เช่น การหาข้อยุติในประเด็นที่ละเอียดอ่อน เช่น การเข้าถึงตลาด การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา และการแข่งขันทางการค้า


การมี FTA กับแคนาดาจะเปิดโอกาสทางการค้าและการลงทุนให้กับภาคเอกชนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ เช่น เกษตรกรรม อาหารแปรรูป อุตสาหกรรมยานยนต์ และบริการ



Public on 6th September 2022
Copyright of Thai Frozen Foods Association