13/09/65 ประชุมห่วงโซ่การควบคุมผลิตภัณฑ์กุ้งทะเลจากการเพาะเลี้ยงอย่างยั่งยืน ครั้งที่ 3-3/2565

13 กันยายน 2565 เวลา 9.30-16.30 น สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย โดยคุณนคร หาญไกรวิไลย์ (กรรมการสมาคมฯ) และคุณวาสนา ตรังใจจริง (เจ้าหน้าที่สมาคมฯ) เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการวิชาการพิจารณามาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง ห่วงโซ่การควบคุมผลิตภัณฑ์กุ้งทะเลจากการเพาะเลี้ยงอย่างยั่งยืน ครั้งที่ 3-3/2565 ผ่านระบบ ZOOM จัดโดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.) สรุปประเด็นสำคัญดังนี้

1. รับรองรายงานการประชุมคณะกรรมการวิชาการพิจารณามาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง ห่วงโซ่การควบคุมผลิตภัณฑ์กุ้งทะเลจากการเพาะเลี้ยงอย่างยั่งยืน ครั้งที่ 2-2/2565 เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2565

2. คณะกรรมการวิชาการ ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นโดยจัดสัมมนา ระดมความเห็นต่อ(ร่าง) มาตรฐานสินค้าเกษตร
เรื่อง ห่วงโซ่การควบคุมผลิตภัณฑ์กุ้งทะเลจากการเพาะเลี้ยงอย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ที่ผ่านมา และเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทาง website มกอช. เป็นระยะเวลา 30 วัน รวมถึง ผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองมาตรฐานสินค้าเกษตรด้านประมงและผลิตภัณฑ์ 2 ครั้ง(ปรับภาษาและแก้ไขข้อความให้กระชับและได้ใจความมากขึ้น) ซึ่งนำเสนอต่อคณะกรรมการวิชาการฯพิจารณาในครั้งนี้ ดังนี้

2.1) คณะกรรมการฯ เห็นด้วยแก้ไขชื่อมาตรฐานใหม่ ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ
ภาษาไทย: ห่วงโซ่การคุ้มครอง ผลิตภัณฑ์กุ้งทะเลจากการเพาะเลี้ยงอย่างยั่งยืน
ภาษาอังกฤษ: CHAIN OF CUSTODY: MARINE SHRIMP PRODUCT FROM SUSTAINABLE AQUACULTURE

2.2) ข้อที่ 1 ขอบข่าย คณะกรรมการวิชาการฯ ให้ความเห็นว่า ควรระบุมาตรฐาน GSSI ไว้ใน cert scheme ของมาตรฐานสินค้าเกษตรฉบับนี้ และแก้ไขข้อความ “มาตรฐานอื่นที่เทียบเท่า” เป็น "มาตรฐานอื่นตามที่มกอช.ประกาศ" ดังนี้

ขอบข่าย: มาตรฐานสินค้าเกษตรนี้ ครอบคลุมห่วงโซ่การคุ้มครองผลิตภัณฑ์กุ้งทะเลจากกุ้งมาจากฟาร์ม ที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสินค้าเกษตรเรื่อง การปฏิบัติทางทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับฟาร์มเลี้ยงกุ้งทะเล(มกษ.7401) มาตรฐานอื่นตามที่มกอช.ประกาศ ซึ่งประกอบด้วยข้อกำหนดเกี่ยวกับผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทาน ผู้รับจ้างช่วงในห่วงโซ่อุปทาน การแยกผลิตภัณฑ์ บุคลากร ระบบเอกสาร บันทึกข้อมูลสำหรับการตามสอบ การแสดงฉลากและการกล่าวอ้าง การเก็บรักษาบันทึกข้อมูล เพื่อให้สามารถกล่าวอ้างและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาจากระบบการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลอย่างยั่งยืน

2.3) ข้อที่ 3 ข้อกำหนด ข้อย่อย 3.5 (ระบบเอกสาร) คณะกรรมการวิชาการฯ เห็นว่าเนื้อหาใกล้เคียงกับข้อ 3.6 (บันทึกข้อมูลสำหรับการตามสอบ) จึงให้รวมไว้ในข้อ 3.6 ซึ่งใจความสำคัญ คือ ควรมีระบบเอกสารและบันทึกข้อมูล เช่น มีบันทึกข้อมูลแสดงแหล่งที่มาของวัตถุดิบ, การเคลื่อนย้าย การแปรรูป การจัดเก็บ การกระจายสินค้า การขนส่ง รวมถึง ปริมาณการรับกุ้งและผลิตภัณฑ์กุ้งที่ผลิตได้ สำหรับประเมินปริมาณกุ้งเข้าและออกจากโรงงาน (mass-balance) เพื่อใช้ตามสอบผลิตภัณฑ์ในแต่ละชุดการผลิต (batch) ได้ในทุกขั้นตอนของห่วงโซ่อุปทาน

2.4) ข้อที่ 2 นิยาม/ ข้อที่ 4 บุคลากร/ ข้อ 3.7 การแสดงฉลาก/การกล่าวอ้าง และข้อ 3.8 การเก็บรักษาบันทึกข้อมูล
เห็นด้วยตามที่คณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองฯ ได้ปรับแก้ไขข้อความให้กระชับ และได้ใจความมากขึ้น


ทั้งนี้ มาตรฐานสินค้าเกษตรเรื่อง ห่วงโซ่การคุ้มครองผลิตภัณฑ์กุ้งทะเลจากการเพาะเลี้ยงอย่างยั่งยืนเป็นมาตรฐานทั่วไป ซึ่งจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา


Public on 6th September 2022
Copyright of Thai Frozen Foods Association