ประชุมพิจารณาร่าง มาตรฐานสุขอนามัยในเรือประมงเพื่อการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำไปยังสหภาพยุโรป

วันพุธที่ 5 มีนาคม 2568 เวลา 13.30-16.00 น. ณ ห้องประชุมกุลาดำ กรมประมง


สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย โดยคุณอนุชา เตชะนิธิสวัสดิ์ นายกสมาคมฯ และคุณนคร หาญไกรวิไลย์ ปฏิคมสมาคมฯ เข้าร่วมการประชุมพิจารณาร่างประกาศกรมประมง เรื่อง มาตรฐานสุขอนามัยในเรือประมงเพื่อการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำไปยังสหภาพยุโรป และหลักเกณฑ์ในการออกหนังสือรับรอง พ.ศ.... โดยมีสาระสำคัญจากการประชุม ดังนี้


1. `ความเป็นมา`


สืบเนื่องจากคณะผู้ตรวจประเมินจาก Directorate - General for Health and Food Safety (DG SANTE) ของสหภาพยุโรปเดินทางมาตรวจสอบระบบควบคุมการผลิตสินค้าประมงเพื่อการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป ณ ประเทศไทย เมื่อวันที่ 9 - 17 พฤษภาคม 2566 เพื่อประเมินระบบตรวจสอบควบคุมด้านการผลิตสินค้าประมง และการออกหนังสือรับรองสุขอนามัยสินค้าประมงเพื่อการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป ซึ่งในการตรวจประเมินดังกล่าวพบข้อบกพร่องที่ไม่สอดคล้องกับข้อบังคับของสหภาพยุโรป และคณะผู้ตรวจประเมินฯ ได้มีข้อแนะนำให้ปรับปรุงแก้ไขประกาศกรมประมง เรื่อง มาตรฐานด้านสุขอนามัยในเรือประมงและหลักเกณฑ์ในการออกหนังสือรับรอง พ.ศ. 2566 ให้สอดคล้องกับข้อบังคับของสหภาพยุโรป จึงได้จัดการประชุมครั้งนี้ เพื่อพิจารณาร่างประกาศกรมประมง เรื่อง มาตรฐานสุขอนามัยในเรือประมงเพื่อการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำไปสหภาพยุโรป และหลักเกณฑ์ในการออกหนังสือรับรอง พ.ศ. ....


2. `ข้อคิดเห็นจากที่ประชุม`


ที่ประชุมโดยเฉพาะผู้แทนจากสมาคมการประมง ได้พิจารณาร่างมาตรฐานสุขอนามัยเรือประมงฯ และมีประเด็นในเรื่องของการตรวจประเมิน เช่น การตรวจสภาพสีหลุดร่อนของห้องเก็บสัตว์น้ำบนเรือ การใช้ถังเก็บสัตว์น้ำที่ไม่ใช่ถังเก็บสารเคมีหรือน้ำมันมาก่อน การใช้ถังน้ำมันมาดัดแปลงเป็นพลั่วในการตักสัตว์น้ำ เป็นต้น ซึ่งกรมประมงได้ชี้แจงว่า ข้อกำหนดเหล่านี้ไม่แตกต่างจากการตรวจขอหนังสือรับรอง สร.3 เดิมของเรือประมงมากนัก โดยหากเรือที่ต้องการขอรับรองการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปและสามารถปฏิบัติได้ตามมาตรฐานที่กำหนดขึ้นมาใหม่ ก็จะได้รับหนังสือรับรอง สร.3-EU ซึ่งจากข้อมูลจากกองตรวจสอบคุณภาพสินค้าประมง (กตส.) พบว่า เรือที่ส่งสัตว์น้ำเข้าโรงงานแปรรูปไป EU จำนวน 2,392 ลำ อย่างไรก็ตาม ผู้แทนจากสมาคมประมงอวนล้อมได้ทักท้วงว่า ชาวประมงอาจไม่ทราบว่า เรือของตนเองเป็นเรือที่ส่งสัตว์น้ำไปยัง EU จึงขอให้กรมประมงแจ้งชาวประมงเพือ่ทราบและเตรียมการสำหรับการตรวจขอหนังสือรับรองด้วย


มาตรฐานดังกล่าวนี้เป็นมาตรฐานทั่วไป ไม่เป็นการบังคับให้ขอการรับรอง โดยที่ประชุมมองว่า เมื่อพิจารณาจากข้อกำหนดการตรวจขอหนังสือรับรองที่คล้ายกับข้อกำหนดเดิม อาจทำได้ไม่ยาก แต่อยากให้มีการประชาสัมพันธ์กับชาวประมง รวมถึงจัดประชุมทำความเข้าใจกับชาวประมงเกี่ยวกับข้อกำหนดการตรวจขอหนังสือรับรองก่อนที่จะมีการประกาศใช้ร่างประกาศกรมประมงฉบับนี้


ในส่วนของสมาคมฯ โดยคุณอนุชา ได้เสนอให้กรมประมงจัดทำระบบการตรวจสอบเรือประมงและเอกสารประกอบ อาทิ หนังสือกำกับการซื้อขายสัตว์น้ำ หรือ MCPD ว่ามาจากเรือประมงที่สามารถส่งออกสินค้าสัตว์น้ำไปยังสหภาพยุโรปให้ชัดเจน เพื่อผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบได้ และคุณนครได้เสริมว่า หากมีคณะเดินทางมาในครั้งหน้าอยากให้กรมประมงประสานกับสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยหรือสมาคมประมงในพื้นที่ด้วย


ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติรับรองร่างประกาศกรมประมงฯ โดยกรมประมงจะนำร่างประกาศนี้ เข้าสู่ระบบกฎหมายกลาง เพื่อขอความเห็นเพิ่มเติม ก่อนประกาศใช้ร่างประกาศกรมประมงดังกล่าว


Public on 6th September 2022
Copyright of Thai Frozen Foods Association