งาน “แถลงข่าวสถานการณ์การส่งออกเดือนมกราคม ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2566”

วันที่ 4 เมษายน 2566 นายกรวิชญ์ ทุมมานนท์ เจ้าหน้าที่สมาคมฯ เข้าร่วมงาน “แถลงข่าวสถานการณ์การส่งออกเดือนมกราคม ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2566” ผ่าน Google Hangouts Meet จัดโดยสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

การส่งออกของไทยในปี 2566 มีปัจจัยที่ท้าทายมากขึ้น และมีโอกาสที่จะเติบโตได้ไม่ถึง 1% คาดว่าการส่งออกช่วงไตรมาส 1/66 จะหดตัวราว 10% (YoY) เนื่องจากเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/65 การส่งออกของไทยมีการเติบโตค่อนข้างสูง และคาดว่าการส่งออกในไตรมาส 2/66 อาจจะยังไม่ฟื้นตัวนัก โดยจะยังหดตัวราว 5% แต่หลังจากนั้น การส่งออกของไทยจะขึ้นกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า เช่น จีน สหรัฐ และสหภาพยุโรป เป็นสำคัญ

โดยถ้าสถานการณ์ไม่ได้เลวร้ายไปมากกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของราคาน้ำมัน เงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยน ถ้าทุกอย่างยังสามารถบริหารจัดการได้ การส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังมีโอกาสจะกลับมาเป็นบวกได้ แต่ต้องติดตามเรื่องราคาน้ำมัน เงินเฟ้อสหรัฐ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนอย่างใกล้ชิด คาดว่าเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายนน่าจะเห็นความชัดเจน และคาดการณ์ได้ชัดกว่านี้ ทั้งนี้มองว่า สินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่ยังสามารถเติบโตได้ดี ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร รถยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์

สำหรับแนวโน้มการส่งออกในเดือนมีนาคม 2566 คาดว่าจะมีมูลค่าราว 23,000 - 23,500 ล้านดอลลาร์ ซึ่งต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 28,800 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่การส่งออกเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีมูลค่า 22,376 ล้านดอลลาร์ หดตัว 4.7% การส่งออกในเดือนมีนาคมได้รับผลกระทบจาก 3 ปัจจัยคือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ เศรษฐกิจจีนเติบโตได้ไม่เร็วอย่างที่คาด และดัชนี PMI ของยุโรปยังต่ำกว่าระดับ 50 ที่เป็นระดับปกติ

ทั้งนี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนภายหลังการเปิดประเทศ ยังเติบโตได้ช้ากว่าที่คาดไว้ การท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังคงเป็นการท่องเที่ยวภายในประเทศ การเดินทางไปต่างประเทศลดน้อยลง การฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมไม่เร็วเท่าที่คาดไว้ ดังนั้นจึงต้องติดตามว่าการส่งออกของไทยไปจีนจะเป็น

สถานการณ์ค่าระวาง SCFI จากข้อมูล Shanghai Containerized Freight Index (SCF) เปรียบเทียบอัตราค่าระวางช่วงเดือนมีนาคมพบว่า ภาพรวมสถานการณ์ค่าระวางแนวโน้มยังคงลดลง แต่ลดลงไม่มากเท่าช่วงก่อนหน้า และมีปรับขึ้นเล็กน้อยในบางสัปดาห์ สำหรับเส้นทางยุโรป ตลาดการขนส่งทรงตัวต่อเนื่อง ในขณะที่ค่าระวางปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยส่วนเส้นทางสหรัฐ ตลาดการขนส่งยังคงซบเซา ในขณะที่ค่าระวางปรับลดลงต่อเนื่อง

ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่

1. ความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความผันผวนของตลาดเงิน-ตลาดทุน และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหาทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ การแบ่งขั้วทางการเมืองและเศรษฐกิจ ที่ก่อให้เกิดสงครามทางการค้า เทคโนโลยี มาตรการกีดกันทางการค้า และต้นทุนราคาพลังงานโลกมีความผันผวนตามสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า และภาวะเงินเฟ้อ ปัญหาการขาดสภาพคล่องของสถาบันการเงินในสหรัฐฯ และยุโรป ที่หากลุกลามอาจทำให้เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยสูงขึ้น สะท้อนความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภคมีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้อุปสงค์การนำเข้าสินค้าปรับลดลงต่อเนื่อง

2. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ที่หดตัวรุนแรง โดยเฉพาะกิจกรรมภาคการผลิตในกลุ่มยูโรโซน ขณะที่ PMI ของสหรัฐหดตัวน้อยลง เป็นผลจากปัญหาอุปทานค่อนข้างกระจุกตัว สินค้าคงคลังยังคงทรงตัวในระดับสูง
ข้อเสนอแนะที่สำคัญถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องดังนี้

1. ขอให้ภาครัฐช่วยพิจารณาควบคุมหรือปรับขึ้นค่าไฟฟ้า (FT) ทั้งในภาคการผลิต และภาคครัวเรือน ให้อยู่ระดับที่เหมาะสมเพื่อลดภาระด้านต้นทุนให้ผู้ประกอบการสามารถรักษาระดับราคาสินค้าให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดและกำลังซื้อของผู้บริโภค

2. ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท ไม่ให้มีความผันผวนเกินกว่าประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย รวมถึงทบทวนการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และเพิ่ม Local Currency เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ส่งออกและนำเข้าของไทย


3.พิจารณามาตรการสนับสนุนเพื่ออุดหนุนการใช้พลังงานทางเลือก เช่น มาตรการลดหย่อนภาษี ในการเปลี่ยนไปใช้พลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar), พลังงานหมุนเวียน (Renewable) และพลังงานชีวมวล (Biomass) เป็นต้น

Public on 6th September 2022
Copyright of Thai Frozen Foods Association