ประชุมคณะอนุกรรมการกลุ่มผลิตภัณฑ์ปู ครั้งที่ 1/2566

วันพุธที่ 16 สิงหาคม 2566 เวลา 10.00-13.00 น. ทางระบบการประชุม Zoom Online Meeting

คณะอนุกรรมการกลุ่มผลิตภัณฑ์ปู โดยคุณธวัชชัย พูนช่วย ประธานคณะอนุกรรมการฯ, คุณตรีรัตน์ เชาวน์ทวี ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการฯ, คุณวศธรรศ ปริยนันทวัฒน์ อนุกรรมการฯ, คุณโอปอ ศรีผา อนุกรรมการฯ และคุณสมพร ลีคณภัทร์ อนุกรรมการฯ เข้าร่วมการประชุมคณะอนุกรรมการกลุ่มผลิตภัณฑ์ปู ครั้งที่ 1/2566 โดยมีสาระสำคัญจากการประชุม ดังนี้

1. ที่ประชุมรับรองรายงานการประชุมคณะอนุกรรมการกลุ่มผลิตภัณฑ์ปู ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2565

2. รับทราบรายนามคณะอนุกรรมการกลุ่มผลิตภัณฑ์ปูที่ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566 ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ ได้เสนอให้เพิ่มชื่อ คุณสมพร ลีคณภัทร์ จาก บจก.โรยัลซีโปรดักส์ และคุณอติยุตว์ หาญมนตรี จาก บจก.สิชลเดลิเฟรช เข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการฯ ด้วย โดยฝ่ายเลขาฯ รับทราบและจะนำเรียนที่ประชุมคณะกรรมการสมาคมฯ เพื่อพิจารณาในลำดับถัดไป

3. รับทราบความก้าวหน้าโครงการปรับปรุงการทำประมงปูม้าของไทยอย่างยั่งยืน (FIP ปูม้า) โดยฝ่ายเลขาฯ ได้นำเรียนผลการดำเนินงานภายใต้โครงการฯ ปี 2566 ซึ่งผลการประเมินความก้าวหน้าโครงการฯ จากหน่วยงาน Marine Resources Assessor Group (MRAG) และเวปไซต์ Fisheryprogress.org ยังคงอยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ

ทั้งนี้ คุณธวัชชัย ประธานที่ประชุมได้ชี้แจงว่า สำหรับการจัดทำ FIP ปูม้านั้น หลายประเทศที่เป็นประเทศผู้นำเข้าเริ่มให้ความสนใจสอบถามสินค้าที่มาจากการทำโครงการ FIP เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าในเอเชีย สหภาพยุโรป และแคนาดา ดังนั้น การทำ FIP ปูม้าจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยตอบสนองความต้องการสินค้ากลุ่มส่งเสริมด้านความยั่งยืนได้ในอนาคต

คุณโอปอ อนุกรรมการฯ ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า สำหรับพื้นที่การจัดทำ FIP ในขณะนี้ยังคงมีพื้นที่เดียว ได้แก่ สุราษฎร์ธานี โดยในอนาคตหากมีการขยายพื้นที่การจัดทำ FIP ในพื้นที่อื่นๆ ได้ (อาทิ ชุมพร) ก็จะเป็นการดีที่จะช่วยให้สามารถจัดหาวัตถุดิบที่ได้จากโครงการ FIP ได้มากขึ้น และตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มที่ต้องการสินค้าจาก FIP ได้

คุณตรีรัตน์ ได้กล่าวเสริมในที่ประชุมว่า การขยายพื้นที่ FIP สามารถดำเนินการได้ อย่างไรก็ตาม อาจจะต้องหารือกันในกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพิ่มเติมในส่วนของงบประมาณที่จะนำมาใช้ในการขยายพื้นที่ด้วย โดยอาจมีการทำ FIP ปูม้าแยกกันระหว่างสุราษฎร์ธานีและชุมพร เนื่องจาก FIP ปูม้าที่สุราษฎร์ธานีน่าจะเข้าสู่การทำ Full Assessment และนำไปขอการรับรองมาตรฐาน MSC ได้ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า

ที่ประชุม เสนอให้ฝ่ายเลขาฯ จัดทำกรอบการดำเนินงานของ FIP ปูม้าของทั้ง 2 พื้นที่ให้ชัดเจน และจัดการประชุมร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่จังหวัดชุมพรเสียก่อน (ทางระบบออนไลน์) ภายในเดือนกันยายน 2566

4. ที่ประชุมพิจารณาและแลกเปลี่ยนสถานการณ์ผลผลิต การนำเข้าและส่งออกผลิตภัณฑ์ปู โดยมีสรุปสถานการณ์ ดังนี้

ผลผลิตปู : ผลผลิตปูม้าเข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มผลผลิตเพิ่มมากขึ้นเล็กน้อยจากช่วงครึ่งปีแรกและปี 2565 ในส่วนของขนาดปูม้า ปูม้าขนาดเล็กอยู่ที่ขนาด 20-25 ตัว/กิโลกรัม, ปูม้าขนาดใหญ่อยู่ที่ขนาด 8-10 ตัว/กิโลกรัม เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ดีขึ้นมาก ทำให้ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย ส่งผลโดยตรงต่อการบริโภคปูม้าตามร้านอาหารและภัตตาคารก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย สำหรับแนวโน้มด้านราคาขาย ขณะนี้แบ่งเป็น 2 ขนาดหลัก ได้แก่ ปูม้าขนาดเล็กกิโลกรัมละ 120 บาทและปูม้าขนาดใหญ่กิโลกรัมละ 350-400 บาท โดยราคาปูมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากปูเข้าสู่ตลาดปริมาณมาก

การส่งออก

สหรัฐฯ : ปริมาณคำสั่งซื้อน้อยกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจไม่ค่อยดี และราคาปูของไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่ง (อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม) ทำให้แข่งขันได้ยาก

สหภาพยุโรป : มีความต้องการบริโภคสินค้าอยู่บ้าง อย่างไรก็ตาม ยังแข่งขันได้ยากเรื่องราคา เนื่องจากภาษีที่สูงขึ้นหลังจากการถูกตัดสิทธิประโยชน์ GSP

จีน : นิยมบริโภคปูเป็น เพื่อรองรับความต้องการของภัตตาคารและร้านอาหาร สำหรับการส่งออกยังทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากจีนมีการกำหนดกฎระเบียบในการนำเข้าสินค้าอาหารที่ค่อนข้างเข้มงวด

ญี่ปุ่น : มีการ Stock สินค้ามากในช่วงต้นปี เนื่องจากมีการประเมินว่าการบริโภคอาหารจะมากขึ้น แต่หลังจากนั้น ญี่ปุ่นพบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ จึงทำให้ระบาย Stock ได้อย่างช้าๆ คำสั่งซื้อจึงไม่สูงมากนัก

การนำเข้า

ส่วนใหญ่จะเป็นการนำเข้าปูม้าแช่แข็งจากประเทศแถบตะวันออกกลาง (ปากีสถาน ตูนีเซีย บาห์เรน) เพื่อนำมาใช้กับการบริโภคในประเทศ เช่น ร้านบุฟเฟ่ต์ ร้านอาหาร เป็นต้น เนื่องจากปูที่นำเข้านี้จะมีราคาถูกกว่าปูในประเทศ
สำหรับประเด็นปัญหาหลักๆ ในอุตสาหกกรมการผลิตและส่งออกปูของไทย ได้แก่

1) ปูม้ายังมีจำนวนน้อย ไม่สามารถรองรับความต้องการของตลาดได้

2) ข้อกังวลในเรื่องของการปรับขึ้นค่าแรงของภาครัฐ เนื่องจากมีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต ส่งผลให้แข่งขันได้ยากในตลาดโลก



5. กำหนดการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ครั้งถัดไป ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2566 โดยอาจจัดในรูปแบบการประชุมสัญจร และประชุมทำความเข้าใจกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในจังหวัดชุมพร

Public on 6th September 2022
Copyright of Thai Frozen Foods Association