ประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อร่างมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ และกลไกในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ/การจูงใจ เพื่อสนับสนุนการผลิตที่ยั่งยืน

วันที่ 14 มิถุนายน 2566 นายกรวิชญ์ ทุมมานนท์ เจ้าหน้าที่สถิติและการค้า ฝ่ายวิชาการสมาคมฯ เข้าร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อร่างมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ และกลไกในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ/การจูงใจ เพื่อสนับสนุนการผลิตที่ยั่งยืน ผ่านระบบ ZOOM Cloud Meetings จัดโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สรุปดังนี้

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้อุตสาหกรรม และธุรกิจหันมาให้ความสำคัญกับการผลิตแบบยั่งยืน และค้นหาวิธีการผลิตที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการดำเนิน งานของภาคธุรกิจ ที่จำเป็นต้องมีมาตรการทางเศรษฐกิจและสิ่งจูงใจ เพื่อสนับสนุนและผลักดันการผลิตแบบยั่งยืน ที่สามารถนำมาแข่งขันและทำกำไรให้กับธุรกิจได้

การสนับสนุนและส่งเสริมการผลิตที่ยั่งยืน ธุรกิจต้องกำหนดเป้าหมายและนโยบายการผลิตแบบยั่งยืนที่ชัดเจน ที่ธุรกิจสามารถทำได้จริงในขบวนการผลิต เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การลงทุนในพลังงานหมุนเวียน การลดของเสียจากการผลิต รวมถึงการใช้วัสดุที่ไม่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม

มาตรการการใช้ภาษีคาร์บอน อาจเป็นมาตรการทางเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพในการลดการปล่อยคาร์บอนและส่งเสริมแนวทางการผลิตแบบยั่งยืน ด้วยการกำหนดราคาสำหรับการปล่อยคาร์บอน ซึ่งภาคธุรกิจได้รับแรงจูงใจให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และลงทุนในโครงการฯ ที่สร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจสามารถสร้างรายได้

ดังนั้น มาตรการทางเศรษฐกิจและการจูงใจ มีความสำคัญต่อการส่งเสริมและผลักดันการผลิตที่ยั่งยืน รวมถึงการได้รับคำแนะนำและการสนับสนุนจากภาครัฐที่สามารถช่วยให้ธุรกิจดำเนินการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ ดังนั้น ภาครัฐควรสนับสนุนภาคธุรกิจและให้ความสำคัญกับการผลิตแบบยั่งยืนเพื่ออนาคต

มาตรการด้านฉลากสินค้า เป็นร่างมาตรการทางเศรษฐกิจ/มาตรการจูงใจอย่างหนึ่งที่ส่งเสริมให้บรรลุเป้าหมายนโยบายการผลิตฉลากสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การอุดหนุนค่าธรรมเนียม เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและการค้ำประกันสินเชื่อผ่านโครงการสินเชื่อสีเขียว รวมถึงฉลากสินค้าและบริการ เพื่อลดการทำซ้ำและพัฒนาเกณฑ์มาตรฐาน รวมถึง การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ สามารถช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคต่อสินค้าและบริการที่ได้รับฉลากสินค้า

รัฐบาลควรมีมาตรการทางเศรษฐกิจ และมาตรการสร้างแรงจูงใจในการขับเคลื่อนการผลิตแบบยั่งยืน เช่นการสนับสนุนด้านการเงิน, ลดภาษีหรืออุดหนุนสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการสนับสนุน และกระตุ้นให้เกษตรกรปฏิบัติตามแนวทางการผลิตสินค้าแบบยั่งยืนมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

สิ่งสำคัญคือ การผลิตที่ยั่งยืน ไม่ได้เป็นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเพิ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในการทำการเกษตร, การปรับปรุงประสิทธิภาพของทรัพยากร เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลกำไรให้กับธุรกิจ รวมถึง ได้รับประกันความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืน

Public on 6th September 2022
Copyright of Thai Frozen Foods Association