24/11/65 ประชุมคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทย ครั้งที่ 5/2565

วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน 2565 เวลา 09.30-12.30 น. ทางระบบ Zoom Online Meeting

สมาคมฯ โดย ดร.ผณิศวร ชำนาญเวช นายกสมาคมฯ, คุณเสาวนีย์ คำแฝง ผู้อำนวยการสมาคมฯ และนายประมุข ตะเคียนคาม ผู้จัดการฝ่ายบริการข้อมูลวิชาการ เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทย ครั้งที่ 5/2565 โดยมีสาระสำคัญจากการประชุม ดังนี้


*ที่ประชุมรับรองรายงานการประชุม ครั้งที่ 4/2565 เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2565


*รับทราบความก้าวหน้าคณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงพื้นบ้าน ในประเด็น

1) ผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาอาชีพและส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนประมง (กิจกรรมพัฒนาอาชีพชุมชนประมง) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

2) การดำเนินการออกใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน โดยกำหนดกรอบเวลาในการลงทะเบียนเข้าใช้งานระบบการออกใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน (Small Scale Service: SSS) ผ่าน Smartphone หรือ Tablet ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน ถึง 31 ธันวาคม 2565

* รับทราบความก้าวหน้าคณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงพาณิชย์ และการประมงนอกน่านน้ำไทย ในประเด็น

1) การดำเนินการมาตรการควบคุมการจับสัตว์น้ำขนาดเล็ก ตามมาตรา 57 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2560 ซึ่งกรมประมงได้มีหนังสือนำเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทราบเรียบร้อยแล้ว ซึ่งยังไม่มีความจำเป็นที่เหมาะสมในการออกประกาศมาตรการดังกล่าวในขณะนี้และกรมประมงมีแนวทางในการดำเนินการควบคุมการจับสัตว์น้ำขนาดเล็กแล้ว

2) ความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการนำเรือออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน

* รับทราบความก้าวหน้าคณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ในประเด็น

1) โครงการลดต้นทุนการผลิตกุ้งทะเลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในอุตสาหกรรมกุ้งทะเลอย่างยั่งยืน ปี 2564

2) การประชาสัมพันธ์ส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าสัตว์น้ำ

3) แนวทางแก้ไขปัญหาการนำเข้าปลากะพงขาวจากประเทศมาเลเซีย

4) การส่งออกปลากะพงขาวไปสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยการเปิดตลาดปลากะพงขาวส่งออกไปจีนผ่านกระบวนการของเปิดตลาดแล้วเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2565 ฝ่ายจีนเสนอร่างพิธีสารฯ ให้ฝ่ายไทยพิจารณาแล้ว และกรมประมงอยู่ระหว่างการประชุมหารือภายในใน 2 ประเด็น คือ 1) จีนนำสัตว์น้ำชนิดอื่นที่สามารถส่งออกได้ตามปกติมารวมอยู่ในพิธีสารฯ ซึ่งกรมประมงเห็นว่าสัตว์น้ำอื่น ๆ ที่ส่งออกได้อยู่แล้วควรปฏิบัติตามกฎเกณฑ์เดิมและ 2) เรื่องบังคับใช้การควบคุมป้องกันโรค COVID - 19

5) ผลการตรวจการนำเข้าปลาแซลมอนซึ่งมีข้อสังเกตุว่าปัจจุบันประเทศไทยมีการบริโภคปลาแซลมอนเป็นจำนวนมาก โดยกรมประมงมีขั้นตอนการดำเนินงานและเข้มงวดมากน้อยเพียงใดในการตรวจสอบการนำเข้าปลาแซลมอนจากต่างประเทศ ซึ่งผลการตรวจสอบสารตกค้างและสารปนเปื้อนจากการเฝ้าระวังมีทั้งไม่พบและพบสารตกค้างและสารปนเปื้อน แต่ไม่เกินค่ามาตรฐานที่กำหนด

* รับทราบความก้าวหน้า คณะอนุกรรมการพัฒนาผลิตผลผลิตภัณฑ์ประมงและการพาณิชย์ ในประเด็น

1) โครงการยกระดับและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้านการแปรรูปสัตว์น้ำแก่องค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น ปีงบประมาณ 2566 – 2567

2) การรับรองการปฏิบัติตามมาตรการเพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในกระบวนการผลิตอาหารส่งออก โดยกรมประมงได้ออกหนังสือรับรองการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในกระบวนการผลิตอาหารส่งออก จำนวน 267 ฉบับ โดยออกให้โรงงานผลิตสินค้าสัตว์น้ำแช่เยือกแข็งจำนวน 131 ฉบับ โรงงานผลิตสินค้าสัตว์น้ำบรรจุกระป๋อง จำนวน 36 ฉบับ โรงงานผลิตสินค้าพื้นเมือง จำนวน 84 ฉบับ สถานบรรจุสัตว์น้ำ จำนวน 15 ฉบับ และห้องเย็นรับฝาก จำนวน 1 ฉบับ

3) โครงการปรับปรุงและพัฒนาการทำประมงอวนลากในพื้นที่อ่าวไทย (The Gulf of Thailand Trawl Fishery Improvement Project) โดย MarinTrust ได้นำร่างแผนปฏิบัติการประมงเข้าสู่กระบวนการให้ข้อคิดเห็น (Peer review) ตามหลักเกณฑ์มาตรฐานแล้ว ซึ่งไม่มีข้อขัดข้องต่อการดำเนินกิจกรรมภายใต้แผนฯอหลังจากนี้ คณะทำงาน 8 สมาคมฯ (TSFR) จะประสานกับ MarinTrust เพื่อดำเนินการจัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้องต่อไป


Public on 6th September 2022
Copyright of Thai Frozen Foods Association