04/10/65 สรุปงานแถลงข่าวสถานการณ์การส่งออกเดือนสิงหาคม

สรุปงานแถลงข่าวสถานการณ์การส่งออกเดือนสิงหาคม ประจำเดือน กันยายน 2565 วันอังคารที่ 4 ตุลาคม 2565 เวลา 10.30-12.00 น. ผ่านระบบ Google Hangouts Meet โดยนายกรวิชญ์ ทุมมานนท์ เจ้าหน้าที่สถิติและการค้า ฝ่ายบริการข้อมูลวิชาการ เข้าร่วมงาน สรุปดังนี้

การค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนสิงหาคม 2565 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การส่งออกมีมูลค่า 23,632.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 7.5% คิดเป็นเงินบาท 861,169 ล้านบาท ขยายตัว 20.4% ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 27,848.1 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 21.3% คิดเป็นเงินบาทเท่ากับ1,026,654 ล้านบาท ขยายตัว 35.5% ส่งผลให้ดุลการค้าของไทย ขาดดุล 4,215.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 165,485 ล้านบาท

ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนมกราคม – สิงหาคมของปี 2565 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ไทยส่งออกรวม 196,446.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 11% คิดเป็นเงินบาทเท่ากับ 6,635,446 ล้านบาท ขยายตัว 21.9% ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 210,578.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 21.4% คิดเป็นเงินบาทเท่ากับ 7,218,870 ล้านบาท ขยายตัว 33.4% ส่งผลให้ดุลการค้าของไทยขาดดุลเท่ากับ 14,131.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 583,424 ล้านบาท

คาดการณ์การส่งออกปี 2565 ทั้งปีที่ 7-8% โดยมีปัจจัยปัจจัยเสี่ยงที่ได้แก่

1. อัตราเงินเฟ้อของประเทศคู่ค้าทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะสหรัฐฯ ส่งผลให้เฟดดำเนินนโยบายทางการเงินแบบเข้มงวดด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็วเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ดังนี้

1.1 เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเสี่ยงต่อการชะลอตัว ก่อให้เกิดความกังวลต่อนักลงทุนและคู่ค้ากับสหรัฐฯ

1.2 อัตราผลตอบแทนในการถือเงินดอลลาร์สูงขึ้น อุปสงค์เงินดอลลาร์มากขึ้น ค่าเงินดอลลาร์จึงเคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่าอย่างรวดเร็ว และส่งผลต่อเนื่องถึงสกุลเงินอื่นๆ ทั่วโลกให้ปรับตัวอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ในทางกลับกันไทยอาจเสียเปรียบจากการส่งออกไปยังตลาดอื่นที่มีค่าเงินอ่อนค่ากว่า โดยเฉพาะการแข่งขันด้านราคาของไทยลดลง

2. ราคาพลังงานทรงตัวในระดับสูง จากสถานการณ์ยูเครนและรัสเซียที่ยังยืดเยื้อ ปริมาณน้ำมันคงคลังของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง ประกอบกับการปรับขึ้นอัตราค่าไฟฟ้าภายในประเทศ ส่งผลต่อเนื่องถึงต้นทุนภาคการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและต้นทุนในการดำรงชีวิตภาคครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลก

3. ปัญหาต้นทุนวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน อาทิ เซมิคอนดักเตอร์, เหล็ก, ธัญพืช เช่น ข้าวสาลี ถั่วเหลือง ข้าวโพด เมล็ดทานตะวัน แป้งสาลี อาหารสัตว์ ปุ๋ย เป็นต้น

สถานการณ์ค่าระวาง

จากข้อมูล Shanghai Containerized Freight Index (SCFI) เปรียบเทียบอัตราค่าระวางระหว่างช่วงเดือนกันยายน พบว่า ค่าระวางปรับลดลงเกือบทุกเส้นทาง ได้แก่ เส้นทางยุโรป เมดิเตอร์เรนียน อเมริกาตะวันตกและตะวันออก ดูไบ ออสเตรเลีย แอฟริกาฝั่งตะวันตกและตะวันออก แอพริกาใต้ อเมริกาใต้ ญี่ปุ่น และเอเขียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนเส้นทางที่ค่าระวางปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ เกาหลี

เมื่อเปรียบเทียบค่าระวางระหว่างจีนกับไทย ในเดือนกันยายน 2565 ถึงแม้ว่าไทยจะได้อานิสงค์จากค่าเงินบาทอ่อน หากแต่จีนมีค่าเงินแข็งค่ากว่าไทยเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งไทยยังคงเสียเปรียบในเชิงต้นทุนการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศในตลาดคู่ค้าเดียวกัน

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย มีข้อเสนอแนะ ดังนี้

1. ควรเร่งส่งออกในช่วงค่าเงินบาทอ่อน แต่ต้องติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด รวมถึงพิจารณาการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงให้เหมาะสม

2. ด้านพลังงานและต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น

2.1 ขอให้ภาครัฐช่วยรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันในประเทศให้อยู่ระดับที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภคมากเกินไป

2.2 ขอให้ภาครัฐช่วยพิจารณาควบคุมหรือปรับขึ้นค่าไฟฟ้า ทั้งในภาคการผลิตและภาคครัวเรือน แบบค่อยเป็นค่อยไป


3. ขอให้เร่งแก้ไขปัญหากฎระเบียบด้านการถ่ายลำ (Transshipment) เพื่อดึงดูดเรือแม่เข้ามาให้บริการแบบ Direct Call ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการรับส่งสินค้า รวมถึงสามารถบริหารจัดการต้นทุนค่าระวางเรือให้อยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในต่างประเทศได้

Public on 6th September 2022
Copyright of Thai Frozen Foods Association