ประชุมคณะทำงานด้านการค้าสินค้า (WG-TIG) ครั้งที่ 6 ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทย – ศรีลังกา (SLTFTA)

วันจันทร์ที่ 30 ตุลาคม 2566 นายกรวิชญ์ ทุมมานนท์ เจ้าหน้าที่สมาคมฯ เข้าร่วมการประชุมคณะทำงานด้านการค้าสินค้า (WG-TIG) ครั้งที่ 6 ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทย – ศรีลังกา (SLTFTA) ผ่านระบบ Zoom Meeting จัดโดยฝ่ายส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สรุปดังนี้

ทั้ง 2 ฝ่ายได้หารือเพื่อจัดทำบทการค้าสินค้า โดยปัจจุบันได้ข้อสรุปแล้วเกือบทั้งหมดประกอบไปด้วย 15 ข้อบท (จากทั้งหมด 16 ข้อบท) ครอบคลุมประเด็นสำคัญ ได้แก่ การลด และ/หรือ ยกเว้นอากรศุลกากร การเร่งยกเว้นภาษี ค่าธรรมเนียมการจัดการและพิธีการ มาตรการที่มิใช่ภาษี กระบวนการออกใบอนุญาตนำเข้า และข้อจำกัดเพื่อปกป้องดุลการชำระเงิน

การเจรจาเปิดตลาด

ศรีลังกาจะลดอากรนำเข้าประกอบด้วย อากรศุลกากร ค่าสนับสนุนการส่งออกสินค้า (Commodity Export Support Scheme: CESS) และค่าธรรมเนียมท่เรือและท่าอากาศยาน (Ports and Airport Development Levy: PAL) โดยเป็นการลดในสัดส่วนที่เท่ากัน

ไทยและศรีลังกาได้ข้อสรุปต่อระดับการเปิดตลาดในภาพรวมที่ร้อยละ 85 ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด (Tariff Lines: TLs) และมีระยะเวลาในการทยอยลด/ยกเว้นอากรในระยะยาว

ไทยและศรีลังกาได้แลกเปลี่ยนข้อเรียกร้องการเปิดตลาด (Request List) ระหว่างกัน เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2566 โดยไทยเรียกร้องให้ศรีลังกาเปิดตลาดจำนวน 4,663 รายการ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 57 ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด อาทิ ปลาแห้งรมควัน อาหารกระป๋อง ส่วนศรีลังกาเรียกร้องให้ไทยเปิดตลาดจำนวน 3,765 รายการ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 33 ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด อาทิ ชา พริกไทย น้ำมันมะพร้าว ปลาแช่แข็ง กุ้งแช่แข็ง ยารักษาโรค


ทั้งสองฝ่ายมีกำหนดแลกเปลี่ยนข้อเสนอการเปิดตลาดสินค้า (Offer List) ระหว่างกัน ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 โดยไทยจะพิจารณารายการสินค้าที่นำมาเปิดตลาดทันทีจากสินค้าที่ไทยมีอัตราอากร MFN เป็นร้อยละ 0 หรือยกเว้นอากรให้กับคู่เจรจาภายใต้ความตกลงการค้าเสรีทุกกรอบ หากทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุข้อตกลงได้ภายในปีนี้ ไทยและศรีลังกาจะสามารถลงนามความตกลงการค้าเสรีไทย – ศรีลังกา (SLTFTA) ได้ภายในต้นปี 2567

หากไทยและศรีลังกาสามารถลงนามความตกลงการค้าเสรีไทย – ศรีลังกา (SLTFTA) ได้สำเร็จ จะส่งผลดีต่อภาคธุรกิจไทยในหลายด้าน ได้แก่

• เพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าไปยังศรีลังกา
• ช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย
• ส่งเสริมการลงทุนระหว่างไทยและศรีลังกา
• สินค้าไทยที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการเปิดตลาดภายใต้ SLTFTA ได้แก่ สินค้าอาหาร ปลาแห้ง อาหารแห้ง เป็นต้น

Public on 6th September 2022
Copyright of Thai Frozen Foods Association