ประชุมคณะกรรมการธุรกิจประมง และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ครั้งที่ 3/2566

วันที่ 2 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย โดยคุณอนุชา เตชะนิธิสวัสดิ์ นายกสมาคมฯ, ดร.ผณิศวร ชำนาญเวช นายกกิตติคุณสมาคมฯ, คุณบุญเลิศ ฝูงวรรณลักษณ์ นายทะเบียนสมาคมฯ, คุณอำไพ หาญไกรวิไลย์ ที่ปรึกษาสมาคม ฯ ดร.นันทิยา อุ่นประเสริฐ ที่ปรึกษาฯ คุณเสาวนีย์ คำแฝง ผอ.สมาคมฯและคุณนารีรัตน์ จันทร์ทอง รองผู้อำนวยการสมาคมฯ เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการธุรกิจประมง และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ครั้งที่ 3/2566 ณ ห้องประชุม 3201 สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและผ่านประชุมออนไลน์ (Google Hangouts Meet) โดยมี ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ และ ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ เป็นประธานการประชุมฯ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ดร.พจน์ ได้แจ้งว่า ในวันพฤหัสบดีที่ 5 ตุลาคมนี้ หอการค้าไทย จะเข้าพบและหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อนำสรุปประเด็นปัญหาและข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไข ปัญหา ที่กระทรวงเกษตรจะต้องมีการดำเนินการอย่างเร่งด่วน อีกทั้งยังได้กล่าวถึงแนวโน้มการดำเนินการ IUU ของประเทศไทย ภายใต้การบริหารของคณะรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งอุตสาหกรรมและการค้าจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจะมีผลกระทบทั่งทางตรงและทางอ้อมกับสินค้าประมงของไทย ในอนาคต

2.ในวาระต่อมา คุณอนุชา เตชะนิธิสวัสดิ์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย รายงานความคืบหน้างานสถานการณ์สินค้ากุ้ง ตามที่ได้รับมอบหมายจากการประชุมครั้งก่อนนั้น เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2566 สมาคมฯ ได้ประชุมหารือกับ stakeholder ในส่วนของต้นน้ำเช่น Hatchery & Nursery and Feed mill ซึ่งได้รับทราบปัญหาและขอให้เร่งแก้ไข 4 ประเด็น ดังนี้

2.1 การปรับปรุงสายพันธุ์กุ้ง (กุ้งขาว กุ้งกุลาดำ) รวมถึง ขอให้กรมประมงยืดหยุ่นเรื่อง การขึ้นทะเบียนโรงเพาะฟักปลอดโรค

2.2กรมประมงออกระเบียบเรื่อง นำเข้าอาร์ทีเมีย ซึ่งกรมประมงจะต้องรับรองแหล่งนำเข้าอาร์ทีเมีย จากระเบียบฯ ดังกล่าวส่งผลให้ ราคาอาร์ทีเมียปรับสูงขึ้นมาก และในอนาคตอาจขาดแคลนอาร์ทีเมีย ขอให้กรมประมงพิจารณาผ่อนผันระเบียบดังกล่าวฯ เพื่อให้ Hatchery ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เนื่องจากอาร์ทีเมียเป็นอาหารหลักของลูกกุ้ง

2.3อาหารกุ้งของไทย มีโปรตีนประมาณ 32-38 % แต่อาหารกุ้งต่างประเทศใช้โปรตีนเพียง 24-26 % ประเด็นดังกล่าวได้หารือกับทางผู้ผลิตอารหารสัตว์น้ำแล้ว ว่าลดโปรตีนได้หรือไม่ เพื่อลดต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์น้ำ หรือให้โปรตีนที่เหมาะสมต่อสายพันธุ์กุ้ง

2.4ลดภาษีนำเข้า และส่วนผสม (Ingredient) เช่น ถั่วเหลืองเสียภาษี 2 % หากลดภาษีเป็นศูนย์ จะช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ผลิตอาหารสัตว์น้ำได้ และsupply chain รวมถึง การลดต้นทุนด้านพลังงานไฟฟ้า

3.คุณเอกพจน์ ยอดพินิจ นายกสมาคมกุ้งไทย เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมกุ้งไทย ดังนี้

3.1 สถานการณ์กุ้ง เดือน ม.ค.-ส.ค. 2566 ผลผลิตกุ้งรวม 184,375 ตัน เพิ่มขึ้น 11% ผลผลิตเพิ่มเนื่องจากต้นปีอากาศเหมาะสม ทำให้กุ้งโตดี แต่ปลายปีคาดว่าผลผลิตลดลง เนื่องจากส่วนใหญ่ชะลอการเลี้ยงกุ้ง ด้านส่งออกสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ประกอบกับราคากุ้งถูก ทั้งนี้ คาดว่าผลผลิตไม่เกิน 300,000 ตัน ขอให้แก้ไขด้านการเพิ่มผลผลิตก่อน โดยจัดตั้งคณะทำงานเพื่อวิจัยและแก้ไขปัญหาโรคกุ้ง พร้อมให้งบประมาณในการแก้ไขปัญหา เช่น ให้ศูนย์ที่ฉะเชิงเทราเป็นต้นแบบ ทำเป็นรูปธรรมให้เป็นแหล่งคัดพันธุ์ที่แข็งแรง ทนโรค

3.2 สนับสนุนและส่งเสริมให้มีการพัฒนาสายพันธุ์กุ้ง ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในการเลี้ยง แข็งแรง โตเร็ว และทนโรค

3.3 ส่งเสริมการขยายตลาดภายในประเทศ โดยเน้นนักท่องเที่ยว และผู้บริโภคในประเทศ โดยส่งเสริมการขาย โดยการจัดกิจกรรมรวมกับภัตตาคาร โรงแรม รวมถึง ส่งเสริม รณรงค์ด้านการบริโภคสินค้ากุ้งแช่แข็งมากขึ้น

3.4 เร่งเจรจาจัดทำข้อตกลง ทางการค้า (FTA)

3.5 ลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกร เช่น ลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบ โดยเฉพาะอาหารสัตว์น้ำ ลดค่าพลังงานไฟฟ้า เช่น มาตรการลดค่า FT ให้กับเกษตรกร และการใช้โซล่าเซลล์

3.6 ส่งเสริมและสนับสนุนฟาร์มกุ้งให้ได้การรับรองมาตรฐาน BAP/ ASC ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล โดยตั้งเป้าหมายผลักดันให้ฟาร์มได้รับมาตรฐาน BAP/ ASC ร้อยละ 50 ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า

3.7 ขอให้กรมประมง เข้มงวดตรวจสอบกุ้งนำเข้า เพื่อไม่ให้มีความเสี่ยงในการนำโรคอุบัติใหม่เข้ามา รวมถึง
ขอให้ผู้นำเข้าใช้วัตถุดิบกุ้งนำเข้าในช่วงที่ภายในประเทศมีวัตถุดิบน้อยและไม่เพียงพอต่อการผลิต

4.กรมประมง ให้ข้อมูลเพิ่มเติม ดังนี้

-กรมประมง รับพิจารณาทบทวนประกาศกรมประมง เรื่องกำหนดเงื่อนไขนำเข้าอาร์ทีเมีย และไข่อาร์ทีเมีย พ.ศ. 2566 อีกครั้ง โดยจะประชุมกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อไป

-ปัจจุบันกรมประมงอยู่ระหว่างยกระดับมาตรฐานกุ้งของไทย โดยนำ มกษ.7401 เทียบเคียง(Benchmark) กับ GSSI ซึ่งหากเทียบเคียงสำเร็จ จะลดต้นทุนให้กับเกษตรกรในการยกระดับมาตรฐานฟาร์มกุ้งของไทย

-กรมประมง ดำเนินการตรวจสอบกุ้งนำเข้าอย่างเข้มงวดมาโดยตลอด

-กรมประมงได้พัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์กุ้งขาวสำเร็จ ทำให้เลี้ยงง่าย ทนโรค และอัตรารอดสูง คือ สายพันธุ์กุ้งขาวสิชล 1

5.รับทราบความคืบหน้าโครงการส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามในพื้นที่กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง โดยหอการค้าจังหวัดกาฬสินธุ์ และเครือข่ายเกษตรกร ได้ทำหนังสือข้อเสนอขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งก้ามกราม (ริเริ่มจังหวัดกาฬสินธุ์) ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อไป

6.รับทราบ ความตกลงการค้าเสรี FTA ไทย-EU ซึ่งหากไทยสามารถเจรจา FTA ได้สำเร็จคาดว่าสินค้าประมงจะได้รับยกเว้นภาษีสินค้าประมงทันที

7.รับพิจารณาข้อเสนอประเด็นปัญหาการนำเข้าปลากะพงจากประเทศเพื่อนบ้าน (มาเลเซีย) ที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรไทยของสมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาทะเลไทย และ ข้อเสนอประเด็นปัญหาของสมาคมปลานิลไทย ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อไป


ที่ประชุม ประธานฯ จะมีหนังสือไปยังกรมประมง เพื่อหารือตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรมกุ้ง เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการดำเนินการแก้ไข พัฒนาและส่งเสริม เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมกุ้งไทย ในอนาคต รวมถึงปัญหาอุปสรรคที่ส่งผลกระทบต่อภาคการเลี้ยงสัตว์น้ำอื่นๆ ด้วย


Public on 6th September 2022
Copyright of Thai Frozen Foods Association