สัมมนาคณะกรรมาธิการแรงงาน วุฒิสภา เรื่อง “การจัดทำประมวลกฎหมายแรงงานไทย : พลิกโฉมทันยุคสู่สากล ครั้งที่ 2”

วันพฤหัสบดีที่ 22 มิถุนายน 2566 เวลา 09.00-14.00 น. ผู้แทนสมาคมฯ คุณนารีรัตน์ จันทร์ทอง รอง ผอ. สมาคมฯ เข้าร่วมสัมมนาคณะกรรมาธิการแรงงาน วุฒิสภา เรื่อง “การจัดทำประมวลกฎหมายแรงงานไทย : พลิกโฉมทันยุคสู่สากล ครั้งที่ 2” ณ ห้องบอลรูม1 ชั้น3 โรงแรมดิเอมเมอรัลด์

ประธานที่ประชุม พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา

พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวว่า เนื่องจากพัฒนาการของสังคมในมิติด้านการทำงานเป็นเรื่องที่เกิดขึ้น ในทุกสังคมตั้งแต่อดีตและมีรูปแบบการทำงานที่หลากหลาย และในขณะเดียวกันภาครัฐก็ได้มีการตรากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแรงงานออกมาใช้บังคับในสังคมเฉพาะเรื่องตามความเหมาะสมในแต่ละยุคสมัยเรื่อยมา ซึ่งการตรากฎหมายประเภทเดียวกัน ใช้บังคับมากขึ้นเรื่อย ๆ อาจนำไปสู่ การเกิดสภาวะความไร้ระบบระเบียบหรือการมีกฎหมายมากกว่าความจำเป็น

ซึ่งในทางวิชาการเรียกว่า "กฎหมายเฟ้อ" ได้ ซึ่งปัจจุบันพบว่า ประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแรงงานกระจัดกระจายอยู่อย่างน้อย ๑๔ ฉบับ ทั้งนี้ การมีกฎหมายประเภทเดียวกันปรากฏอยู่ใน กฎหมายฉบับต่าง ๆ ย่อมเป็นที่มาของปัญหาความไร้ระบบระเบียบของกฎหมาย ไม่สะดวกต่อการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐทุกฝ่าย และสิ่งสำคัญที่สุด คือ สภาพดังกล่าวย่อมทำให้ประชาชน ไม่สามารถเข้าถึงตัวบทกฎหมายได้โดยสะดวกและไม่สามารถเข้าใจกฎหมายได้

ดังนั้น การจัดสัมมนาในวันนี้ จึงถือได้ว่าเป็นโอกาสอันดียิ่งในการที่คณะกรรมาธิการจะได้รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะอย่างกว้างขวางจากวิทยากรและผู้เข้าร่วมสัมมนาทุกท่าน ซึ่งล้วนเป็นผู้มีความรอบรู้เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการแรงงานจากทุกภาคส่วน อย่างเปิดกว้างในทุกมิติ เพื่อที่คณะกรรมาธิการจะได้นำข้อมูลต่าง ๆ ไปประกอบการพิจารณาศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการจัดทำร่างประมวลกฎหมายแรงงานของคณะกรรมาธิการด้วยความละเอียดรอบคอบ มีแนวทางการทำกฎหมายให้เป็นระบบและลดความซ้ำซ้อนของกฎหมาย ให้เป็นไปอย่างประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามวัตถุประสงค์ของการพิจารณาศึกษาเรื่องดังกล่าวของคณะกรรมาธิการ ในระยะต่อไป

ความเป็นมา เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานอยู่ในกฎหมายหลายฉบับ อย่างน้อย 13 ฉบับ คือ

-พรบ แรงงานสัมพันธ์ 2518
-คำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 49 วันที่ 21 ตค 2519
-พรบ จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน 2528
-พรบ ประกันสังคม 2533
-พรบ เงินทดแทน 2537
-พรบ คุ้มครองแรงงาน 2541
-พรบ แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ 2543
-พรบ ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน 2545
-พรบ คุ้มครองคนรับงานไปทำที่บ้าน 2553
-พรบ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน 2554
-พรบ แรงงานทางทะเล 2558
-พรก การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 2560
-พรบ คุ้มครองแรงงานในงานประมง 2562

ซึ่งการมีกฎหมายประเภทเดียวกันอยู่จำนวนมากแยกส่วนกัน ส่งผลต่อการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่สะดวกและยากแก่การทำความเข้าใจกฎหมายอย่างเป็นระบบ ต้องเชื่อมโยงกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับในเวลาเดียวกัน ทำให้ไม่สะดวกในการปฏิบัติตนให้ถูกต้องและต่อการบังคับใช้กฎหมาย คณะกรรมาธิการฯ จึงมีหน้าที่ในการพิจารณา และประสานองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษา ติดตาม เสนอแนะ แนวทางการจัดทำร่างประมวลกฎหมายแรงงานขึ้น

ผลที่คาดว่าจะได้รับคือการที่ร่างประมวลกฎหมายถูกขับเคลื่อนไปสู่การตราเป็นกฎในอนาคต ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนในการเข้าถึงตัวบทกฎหมาย เข้าใจกฎหมายได้ง่าย และเพื่อปฏิบัติตามได้ถูกต้อง

ประเด็นเสนอที่สัมมนา

1.ต้องอาศัยหลักการพื้นฐานในการร่างกฎหมาย , มาตรฐานขององค์กรสากล เช่น ILO
2.มีการเสนอเรื่องใหม่ พรบ คุ้มครองแรงงานอิสระ, สหภาพข้าราชการ
3.ความคุ้มครองและสวัสดิการ ลูกจ้างชั่วคราว เจ้าหน้าที่ราชการ เป็นต้น

Public on 6th September 2022
Copyright of Thai Frozen Foods Association