ประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรปูม้าของไทยอย่างยั่งยืน ครั้งที่ 2/2565

วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม 2565 เวลา 09.00-14.00 น. ทางระบบ Zoom Online Meeting และห้องประชุมพะยูน กรมประมง

สมาคมฯ โดยคุณตรีรัตน์ เชาวน์ทวี ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการกลุ่มผลิตภัณฑ์ปู พร้อมด้วยคุณโอปอ ศรีผา คณะอนุกรรมการฯ และนายประมุข ตะเคียนคาม เจ้าหน้าที่สมาคมฯ เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรปูม้าของไทยอย่างยั่งยืน ครั้งที่ 2/2565 โดยมีนายอำนาย คงพรม ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาประมงทะเล เป็นประธานที่ประชุม มีสาระสำคัญจากการประชุม ดังนี้

1. ที่ประชุมรับรองรายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรปูม้าของไทยอย่างยั่งยืน ครั้งที่ 1/2565

2. รับทราบแผนการจัดการประชุมรับฟังความเห็นต่อแผนปฏิบัติการบริหารจัดการการทำประมงปูม้าของไทย โดยมีลำดับแผนการ ดังนี้

• กองวิจัยและพัฒนาประมงทะเล (กพท.) ได้ดำเนินการจัดประชุมภายในกองฯ เพื่อเตรียมการ ซักซ้อมและวางแผนการดำเนินโครงการจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นกับหน่วยงานผู้จัดประชุม (เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2565)

• ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเล (ศพท.) (หน่วยงานผู้จัดประชุม) ดำเนินการจัดทำประมาณการค่าใช้จ่ายในส่วนที่ยังไม่ครอบคลุมรวมถึงกำหนดผู้ประสานงาน วัน เวลา และสถานที่ในการจัดประชุม จัดส่งไปยัง กพท. (ภายใน ส.ค. 2565)

• กพท.เสนอยื่นขออนุมัติเพื่อจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อกรมประมง (ก.ย. 2565)

• ประชุมรับฟังความคิดเห็นภายหลังจากแผนปฏิบัติการฯ ผ่านการพิจาณาและเห็นชอบ (ดำเนินการในช่วง ก.ย. 65 – ต.ค. 65)

• รายงานความก้าวหน้าต่อคณะกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรปูม้าของไทยอย่างยั่งยืน นำไปใช้/ปรับปรุงแก้ไข (ภายใน พ.ย. 2565)

ทั้งนี้ การจัดการประชุมฯ จัดจำนวน 18 ครั้ง ซึ่งที่ประชุมเสนอให้กรมประมงพิจารณาองค์ประชุมให้ครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงกับการประมงปูม้า โดยเฉพาะชาวประมงลอบปูและอวนจมปู (ทั้งประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์)

3. รับทราบข้อคิดเห็นต่อแผนฯ ในเวทีการประชุมต่างๆ โดยกรมประมงได้นำแผนฯ ไปเสนอในที่ประชุมคณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงพื้นบ้าน ครั้งที่ 2/2565 และคณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพประมงพาณิชย์และการประมงนอกน่านน้ำ ครั้งที่ 2/2565 เมื่อเดือนเมษายน 2565 และได้ปรับปรุงร่างแผนฯ เป็นฉบับแก้ไขครั้งที่ 2 เพื่อเสนอในที่ประชุมครั้งนี้ โดยส่วนใหญ่เป็นการปรับแก้ไขข้อความให้สอดคล้องกับสถานภาพการประมงปัจจุบันและสอดคล้องกับมาตรฐาน MSC

4. พิจารณาร่างแผนฯ โดยกรมประมงได้ปรับเนื้อหาของร่างแผนฯ ให้ล้อตามนโยบายและแผนบริหารจัดการประมง พ.ศ.2566-2670 ซึ่งประกอบไปด้วย 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

(1) ผลักดันการมีส่วนร่วมในการสอดส่องดูแลการทำประมงและบริหารจัดการทรัพยากรอย่างสมดุล

(2) ฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำให้สามารถทำประมงได้อย่างยั่งยืน

(3). สร้างมาตรฐานการบังคับใช้กฎหมายและกระจายอำนาจ

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เสนอแก้ไขร่างแผนฯ ในประเด็นสำคัญ ดังนี้

- ประเด็นการติดตามสถานภาพทรัพยากรปูม้า ขอให้จัดทำในภาพกว้าง โดยให้สอดคล้องตามจุดอ้างอิง (Reference Point) อาทิ MSY, LB-SPR เพื่อให้สามารถใช้จุดอ้างอิงอื่นได้ในอนาคต เมื่อมีการคำนวณสถานภาพทรัพยากรด้วยวิธีการอื่นนอกเหนือจาก 2 วิธีการข้างต้น

- ปรับเนื้อหาบทนำและบทสรุปผู้บริหารให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนบริหารจัดการประมง พ.ศ.2566-2670

- ขอเพิ่มคณะกรรมการฯ, คณะอนุกรรมการฯ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประมงปูม้า ระบุใน หัวข้อ 2.3 เพื่อให้เห็นคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการตัดสินใจและแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับการทำประมงปูม้า

- ปรับเป้าหมายการลดการจับลูกปูม้า และปูไข่นอกกระดอง ให้แยกออกจาากกัน เพื่อความชัดเจนในการบริหารจัดการ

- เพิ่มเติมการทวนสอบและติดตามประสิทธิภาพของแผนฯ โดยแบ่งเป็นการเสนอที่ประชุมคณะกรรมการฯ ทุก 2 เดือน, การทำ Formative Evaluation ทุก 2 ปี และทำ External Evaluation โดย 3rd party เมื่อแผนฯ ครบรอบการประกาศใช้หรือเมื่อจำเป็นต้องมีการจัดทำแผนฯ ฉบับใหม่ให้สอดคล้องกับสภาวะการทำการประมงปูม้า
โดยฝ่ายเลขาฯ จะนำข้อคิดเห็นที่ได้จากการประชุมปรับแก้ให้แล้วเสร็จภายใน 26 สิงหาคม 2565 และจะเวียนให้กับคณะกรรมการฯ พิจารณาภายใน 31 สิงหาคม 2565 ก่อนปรับปรุงเป็นร่างแผนฯ ฉบับแก้ไข ครั้งที 3 และนำเสนอต่อที่ประชุมขอความเห็นต่อร่างแผนฯ 18 ครั้ง ภายในช่วงเดือน กันยายน-ตุลาคม 2565 #TFFA


Public on 6th September 2022
Copyright of Thai Frozen Foods Association