ประชุมคณะอนุกรรมการกลุ่มซูริมิและผลิตภัณฑ์ ครั้งที่ 1/2566

วันพฤหัสบดีที่ 24 สิงหาคม 2566 เวลา 10.00-12.00 น. ณ ห้องประชุมสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย และระบบการประชุม Zoom Online Meeting

คณะอนุกรรมการกลุ่มซูริมิและผลิตภัณฑ์ โดยคุณอนุชา เตชะนิธิสวัสดิ์ ประธานคณะอนุกรรมการฯ, คุณประเสริฐ นิมิตรชัย รองประธาน, คุณหทัยรัตน์ อิสระมงคลการ ผู้แทนคุณธวัชชัย รัตนพิสิฐ อนุกรรมการฯ, คุณธนรัช ธนาชีวิต อนุกรรมการฯ, คุณธีรศักดิ์ มดแก้ว อนุกรรมการฯ, คุณณัฐวิช ศรีพิทักษ์ อนุกรรมการฯ พร้อมด้วยคุณเสาวนีย์ คำแฝง เลขานุการคณะอนุกรรมการ เข้าร่วมการประชุมคณะอนุกรรมการกลุ่มซูริมิและผลิตภัณฑ์ ครั้งที่ 1/2566 โดยมีสาระสำคัญจากการประชุม ดังนี้

1. ที่ประชุมรับทราบรายนามคณะอนุกรรมการกลุ่มซูริมิและผลิตภัณฑ์และที่ปรึกษาที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566 พร้อมกับรับทราบหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะอนุกรรมการฯ

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เสนอให้ปรับหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะอนุกรรมการฯ และเสนอว่าควรแยกกลุ่มคณะอนุกรรมการฯ นี้ออกจากกลุ่มปลา เพื่อให้สามารถแลกเปลี่ยนสถานการณ์และประเด็นด้านการค้าและการส่งออกได้อย่างตรงกลุ่มสินค้ามากขึ้น

2. ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าโครงการปรับปรุงการทำประมงอวนลากฝั่งอ่าวไทย โดยโครงการดังกล่าวนี้อยู่ในการดำเนินการ (Implementation) ตามแผนปฏิบัติการปรับปรุงประมงอวนลากฝั่งอ่าวไทย (Gulf of Thailand Trawl Fishery Action Plan: FAP) และได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณการวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) เป็นจำนวนเงินรวม 21 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถตอบผลการประเมินได้ในส่วนของสถานภาพการทำประมงอวนลาก และผลกระทบด้านระบบนิเวศจากการทำประมงอวนลาก และในขณะนี้มีโรงงานผู้ผลิตปลาป่น 4 ราย ได้รับการรับรองมาตรฐานจาก Marin Trust แล้ว

3. ที่ประชุมพิจารณาแลกเปลี่ยนสถานการณ์การผลิต ส่งออกและนำเข้าซูริมิ (HS Code 030499) และผลิตภัณฑ์ (HS Code 16042099) ดังนี้

- การส่งออกรวมของซูริมิและผลิตภัณฑ์ (030499 และ 16042099) 6 เดือนแรกปี 2566 มีปริมาณ 39,778 ตัน คิดเป็นมูลค่า 5,119 ล้านบาท ปริมาณลดลง 10.58% มูลค่าลดลง 5.41% เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันในปีที่ผ่านมา และเมื่อแยกพิจารณารายพิกัดสินค้า พบว่า

เนื้อปลาบดแช่เย็นแช่แข็ง (HS Code 030499) มีปริมาณการส่งออก 7,626 ตัน มูลค่า 982 ล้านบาท ปริมาณลดลง 36% มูลค่าลดลง 34% เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันกับปีที่ผ่านมา โดยมีตลากหลักในการส่งออก ได้แก่ ญี่ปุ่น (สัดส่วน 65.11%), จีน (สัดส่วน 6.39%), สหรัฐฯ (สัดส่วน 3.88%), ฮ่องกง (สัดส่วน 3.00%) และไต้หวัน (สัดส่วน 2.66%) โดยมีการส่งออกเพิ่มขึ้นในสหรัฐฯ, ออสเตรเลีย,จีน, อินโดนีเซีย, เวียดนาม และกัมพูชา
ผลิตภัณฑ์จากซูริมิ (Hs Code 16042099) มีปริมาณการส่งออก 32,152 ตัน คิดเป็นมูลค่า 4,136 ล้านบาท ปริมาณลดลง 0.9% มูลค่าเพิ่มขึ้น 5% ตลาดหลักในการส่งออกผลิตภัณฑ์ซูริมิแช่เย็นแช่แข็ง ได้แก่ สหรัฐฯ (สัดส่วน 18.42%), กัมพูชา (สัดส่วน 17.30%), สหภาพยุโรป (สัดส่วน 8.55%), ออสเตรเลีย (สัดส่วน 8.13%), ญี่ปุ่น (สัดส่วน 6.15%) และจีน (สัดส่วน 5.03%) โดยมีการส่งออกเพิ่มขึ้นในอินโดนีเซีย, เวียดนาม, กัมพูชา, สเปน, ฝรั่งเศส และนิวซีแลนด์

- การนำเข้าเนื้อปลาบดแช่เย็นแช่แข็ง เดือนมกราคม-มิถุนายน 2566 มีปริมาณ 27,592 ตัน คิดเป็นมูลค่า 2,264 ล้านบาท ปริมาณลดลงร้อยละ 26.77 และมูลค่าเงินบาทลดลงร้อยละ 30.11 สำหรับตลาดหลักในการนำเข้าเนื้อปลาบดแช่เย็นแช่แข็ง ได้แก่ เวียดนาม (สัดส่วน 51.83%), อินเดีย (สัดส่วน 31.51%), ปากีสถาน (สัดส่วน 6.96%), สหภาพยุโรป (สัดส่วน 3.90%) และจีน (สัดส่วน 1.95%) โดยมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นในสหรัฐฯ, รัสเซีย,จีน, อินโดนีเซีย, ญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้นำเสนอการนำเข้าซูริมิ (HS Code 0304) ของญี่ปุ่น 6 เดือนแรกของปี 2566 โดยการนำเข้ารวม 99,168 ตัน แบ่งเป็น

กลุ่มผลิตภัณฑ์ Alaska Pollock (HS Code 030494010) ญี่ปุ่นมีการนำเข้ารวม 42,617 ตัน โดยนำเข้าจากสหรัฐฯ และรัสเซีย

กลุ่มผลิตภัณฑ์ Other Whiting (HS Code 030495110) ญี่ปุ่นมีการนำเข้ารวม 520 ตัน โดยนำเข้าจากสหรัฐฯ

กลุ่มผลิตภัณฑ์ Itoyori Surimi (HS Code 030499993) ญี่ปุ่นมีการนำเข้ารวม 6,774 ตัน โดยนำเข้าหลักจากอินเดีย เวียดนาม และไทย

กลุ่มผลิตภัณฑ์ Other Surimi (HS Code 030499999) ญี่ปุ่นมีการนำเข้ารวม 49,255 ตัน โดยนำเข้าจากจีน เวียดนาม ไทย มาเลเซีย และอินเดีย

ทั้งนี้ สำหรับภาคการส่งออกซูริมของไทยนั้น ที่ประชุมมีการวิเคราะห์ร่วมกันว่า มีการหดตัวในหลายตลาด เนื่องจากประเทศผู้นำเข้ายังคงมี Stock สินค้าเหลืออยู่ จึงมีการชะลอคำสั่งซื้อออกไปก่อน สำหรับตลาดในประเทศก็มีแนวโน้มหดตัวเช่นเดียวกัน โดยมียอดขายลดลงประมาณ 10% ในส่วนของการนำเข้าซูริมิก็หดตัวเช่นเดียวกัน แสดงให้เห็นว่า กลุ่มผลิตภัณฑ์ซูริมิในประเทศก็จะหดตัวไปด้วย อย่างไรก็ตาม คงต้องรอนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่กำลังอยู่ระหว่างการจัดตั้งว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการค้าอย่างไร

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้แลกเปลี่ยนประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรม อาทิ

ซูริมิที่นำเข้าจากเวียดนามและใช้ในการผลิตเพื่อส่งออกไปยังบางประเทศในสหภาพยุโรป ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากติดปัญหาเรื่อง IUU Fishing ของเวียดนาม และการออกเอกสาร Catch Certificate
การตรวจต่ออายุใบรับรอง COVID-19 ของกรมประมง พบว่า แต่ละศูนย์ตรวจสอบคุณภาพสินค้าประมง (ศตส.) ของกรมประมง มีแนวทางและความเข้มงวดในการตรวจประเมินที่แตกต่างกัน จึงขอให้กำชับกับกองตรวจสอบคุณภาพสินค้าประมง (กตส.) เพื่อแจ้งให้มีมาตรฐานการตรวจประเมินที่ตรงกันและป้องกันความสับสนของผู้ประกอบการในการปฏิบัติตามมาตรการของ GACC และขอให้ กตส.ประสานไปยัง GACC เพื่อพิจารณาผ่อนปรนความเข้มงวดของมาตรการ COVID-19

การขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการที่ส่งออกสินค้าประมงไปยังซาอุดิอาระเบีย พบว่า มีความล่าช้า จึงขอให้สมาคมฯ ช่วยประสานไปยัง กตส. เพื่อเร่งกระบวนการขึ้นทะเบียนให้กับผู้ประกอบการ


การเร่งรัดการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป เนื่องจากจะช่วยให้สินค้าประมงของไทยสามารถกลับมาแข่งขันได้ในตลาดสหภาพยุโรปอีกครั้ง

Public on 6th September 2022
Copyright of Thai Frozen Foods Association