เสวนา "ปัญหาและแนวทางการแก้ไขภาวะกุ้งขาวแวนนาไมราคาตกต่ำ”

23 มิถุนายน 2566 เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุมใหญ่   ตลาดทะเลไทย จ.สมุทรสาคร นายชูพงษ์ ลือสุขประเสริฐ เลขาธิการสมาคมฯและประธานกลุ่มสินค้ากุ้งสมาคมฯ เข้าร่วมเสวนา "ปัญหาและแนวทางการแก้ไข ภาวะกุ้งขาวแวนนาไมราคาตกต่ำ โดย ดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม ประธานบริษัท มหาชัยร่วมใจพัฒนา จำกัด เป็นผู้ดำเนินการเสวนาฯ สรุปมุมมองของวิทยากรต่อแนวทางและการแก้ปัญหาราคาตกต่ำ ดังนี้


1.นายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง


โครงการประกันราคาขั้นต่ำที่ผ่านมาของ Shrimp Board เป็นโครงการที่มีประสิทธิภาพที่สุด และช่วยพยุงราคากุ้งในประเทศได้จริง ตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อเดือนตุลาคมปี 2564 ถึงต้นปี 2566 และกรมประมงได้จัดตั้งคณะทำงานหลายคณะ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว อาทิ คณะทำงานถอดบทเรียนสำหรับพัฒนาการเลี้ยงกุ้ง เพื่อศึกษาฟาร์มตัวอย่างที่เลี้ยงสำเร็จ, คณะทำงานคัดเลือกสายพันธุ์กุ้งให้เหมาะสมต่อพื้นที่การเลี้ยง และคณะทำงานด้านการตลาด ซึ่งได้มีการประชุมหารือกันทุกเดือน เพื่อแลกเปลี่ยนสถานการณ์ระหว่างกัน


2.นายชูพงษ์ ลือสุขประเสริฐ เลขาธิการสมาคมฯและประธานกลุ่มสินค้ากุ้งสมาคมฯ 


อดีตประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการผลิตกุ้ง แต่ปัจจุบันไม่ใช่แล้ว ต้องยอมรับและปรับตัวเอง ปัจจุบันราคากุ้งไทยที่ตกต่ำในไซส์ 50 ตัว ยังแพงกว่าเอกวาดอร์ 30 บาท


ไทยจะครองตลาดหลักได้ไม่นาน ต้องปรับตัว เนื่องจากตลาดหลักอเมริกาและญี่ปุ่นประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจซบเซา การลดต้นทุนจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจสั่งซื้อสินค้า อเมริกาเริ่มส่งสัญญาณชะลอคำสั่งซื้อและ มีสินค้าในสต๊อกอยู่ได้ถึง 9 เดือนโดยไม่ต้องนำเข้า ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวไม่เคยเกิดขึ้นพร้อมกัน วิกฤตที่เกิดขึ้นหากไทยยังไม่ปรับตัวและราคายังคงสูงกว่าประเทศอื่น ไทยจะไม่อยู่ในสายตาของผู้ซื้อ


ตลาดจีน(กุ้งเป็น)พรีเมี่ยม Head onหรือกุ้งต้ม ในอนาคตหากจีนสามารถเลี้ยงและทำสีได้เอง ต้องระวังตลาดจีนมากขึ้น


ด้านการนำเข้ากุ้ง โรงงานมีความจำเป็นต้องนำเข้าเนื่องจากบางช่วงวัตถุดิบมีน้อย แต่โรงงานมีค่าแรงเกิดขึ้นทุกวันจึงจำเป็นต้องรักษาคนงาน ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนม.ค.-พ.ค. โรงงานนำเข้ากุ้งขาวเพาะเลี้ยงไม่ถึง 5% ของกุ้งนำเข้าทั้งหมด


ผู้เลี้ยงกุ้งควรประเมินสถานการณ์ผลผลิตที่ออกสู่ตลาด หากปริมาณล้นตลาด ควรชะลอการเลี้ยง แต่การหยุดเลี้ยงกุ้งไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น และวางแผนการจับให้ตรงรอบกับการรับซื้อของห้องเย็น เนื่องจากห้องเย็นมีคิวรับซื้ออย่างต่อเนื่อง  ทั้งนี้ ตลาดในประเทศช่วงเดือนส.ค.-ก.ย.นี้จะเริ่มเห็นความสมดุลระหว่าง Demand-Supply ดังนั้น ผู้เลี้ยงควรคัดเลือกสายพันธุ์กุ้งที่ทนต่อโรค เลี้ยงแบบปล่อยบาง เน้นต้นทุนต่ำแบบยั่งยืน


3.ดร.พยุง ภัทรกุลชัย กรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลฯ


ปัจจุบันเอกวาดอร์และอินเดีย เป็นผู้ผลิตกุ้งรายใหญ่ของโลกโดยเอกวาดอร์ตั้งเป้าผลผลิตกุ้งที่ 1.2 ล้านตันอินเดีย 800,000 ตัน และจีนมีการพัฒนาการเลี้ยงอย่างต่อเนื่องในอนาคตจีนสามารถควบคุมการเลี้ยงในระบบปิดได้ และจะมีผลผลิตกุ้งมากขึ้น  

สำหรับอุตสาหกรรมกุ้งไทย แบ่งได้ 3 ยุค ยุคบุกเบิก เป็นยุคเริ่มต้นเลี้ยงกุ้ง/ ห้องเย็นยังมีน้อยยุครุ่งเรือง ห้องเย็นขยายตัวมาก และยุคตกต่ำ เกษตรกรประสบปัญหาโรคและห้องเย็นบางส่วนปิดกิจการ

หลังเกิดวิกฤติในปี 2564 ทำให้เกษตรกร ห้องเย็น และภาครัฐ ได้หารือร่วมกันและจัดตั้งเป็นคณะ Shrimp Board เพื่อแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมกุ้ง และในปี 2565 Shrimp Board ได้ตั้งเป้าการผลิตกุ้ง และมีโครงการประกันราคาขั้นต่ำทำให้ทั้งปีเกษตรกรสามารถค้าขายได้อย่างสบายใจเพราะมีราคาประกัน แต่อุตสาหกรรมยังได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าอาหาร และในปีนี้ผลผลิตกุ้งโลกล้นส่งผลให้ราคากุ้งทั่วโลกตกต่ำ แต่ในวิกฤตอยากให้มองว่ามีโอกาสแต่ต้องเปลี่ยน mindset ผู้เลี้ยงต้องหาวิธีการเข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง เช่นการใช้ influencer ช่วย promote การบริโภคกุ้ง หรือการใช้ social media ในการขายสินค้าออนไลน์


4.นายบรรจง นิสภวาณิชย์ ประธานสมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย 


เกษตรกรควรเลือกสายพันธุ์กุ้งคุณภาพ ปลอดโรค และปล่อยกุ้งลงเลี้ยงที่อัตราความหนาแน่นที่เหมาะสม สอดคล้องกับรูปแบบการบริหารจัดการฟาร์มของตนเอง เพื่อลดความเสียหายระหว่างการเลี้ยง ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น


5.นายมานิตย์ จิตรชุ่ม  นายกสมาคมการค้าปัจจัยการผลิตสัตว์น้ำไทย  


ย้อนเมื่อปี 2554 ไทยเลี้ยงได้ 600,000 ตัน หลังจากนั้นก็ประสบกับปัญหาโรคระบาด และถดถอยมาตลอด 


ในปีนี้ตัวเลขการลงลูกกุ้งเฉลี่ยเดือนละ 3,000 ล้านตัว เอกวาดอร์ประกาศเพิ่มผลผลิตกุ้งมากขึ้น และปีนี้กุ้งเอกวาดอร์ออกเยอะมาก ส่งผลให้กุ้งล้นตลาด เกิด over supply  รวมถึงปัญหาโลกร้อนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การผลิตข้าวยากขึ้น เน้นเก็บเป็นอาหารมากกว่าที่จะมาซื้อกุ้ง  ทำให้กุ้งที่ล้นต้องขายในราคาถูก ดังนั้น ผู้เลี้ยงควรชะลอเลี้ยง ไม่ลงหนาแน่น และไม่ควรหยุดเลี้ยง ราคากุ้งไทยยังอิงราคาตลาดโลก ไม่นานจะเกิดสมดุลระหว่างความต้องการและการผลิตกุ้ง แนะนำควรใช้ลูกกุ้งสายพันธุ์ที่โตดี ทนต่อโรค หรือลูกกุ้งที่เหมาะสมในพื้นที่

 

6.นายครรชิต  เหมะรักษ์ นายกสมาคมเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทย


เดือนมีนาคม-มิถุนายน ราคากุ้งจะตกต่ำไม่มีเสถียรภาพ เป็นปัญหาที่ต้องเจอทุกปี ราคาจะดีในไตรมาสที่ 3 ถึงต้นปี แนวทางพยายามดูปัญหาระยะยาว เพื่อจะลดต้นทุน ไม่ให้กำไรเฉลี่ยลดลง การมี Shrimp Board เพื่อให้ราคากุ้งเสถียร ไม่แกว่งขึ้นลง แนวทางแก้ไขมี 3 วิธี

1) รัฐแทรกแซงราคา 

2) ห้องเย็นช่วยรับประกันราคา 

3)เกษตรกรหาวิธีลดต้นทุนและพัฒนาการเลี้ยง 


ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา กรมการค้าภายในได้อนุมัติโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งปี 2566 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากราคาตกต่ำ โดยชดเชยราคากุ้งให้กับเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ กิโลกรัมละ 20 บาท และค่าบริหารจัดการกิโลกรัมละ 10 บาท ซึ่งจะเริ่มปลายเดือนมิ.ย.-ก.ย.2566



Public on 6th September 2022
Copyright of Thai Frozen Foods Association