28/09/65 สัมมนา เรื่อง “ประมวลกฎหมายแรงงานไทย : พลิกโฉมทันยุคสู่สากล”



สัมมนา เรื่อง “ประมวลกฎหมายแรงงานไทย : พลิกโฉมทันยุคสู่สากล” ในวันที่ 28 กันยายน 2565 เวลา 08.00-12.30 น. ณ ห้องบอลรูม 2 ชั้น 3 โรงแรมดิ เอมเมอรัลด์ รัชดาภิเษก โดยคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา มีพลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา เป็นประธานเปิดการสัมมนา และมีผู้แทนจากสมาคมฯ เข้าร่วมงานสัมมนา คือดร. นันทิยา อุ่นประเสริฐ ที่ปรึกษาสมาคมฯ , คุณเสาวนีย์ คำแฝง ผอ.สมาคมฯ และคุณนารีรัตน์ จันทร์ทอง รอง ผอ.สมาคมฯ

เนื่องจากการพัฒนาการของสังคมในด้านการทำงานตั้งแต่อดีต มีรูปแบบที่หลากหลายพัฒนาไปตามยุคสมัยควบคู่กับภาครัฐที่ได้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานออกมาบังคับใช้ โดยในปัจจุบันกฎหมายที่เกี่ยวกับแรงงานมีอย่างน้อย 14 ฉบับ จำนวน 822 มาตรา การมีกฎหมายประเภทเดียวกันจำนวนมาก ย่อมส่งผลต่อการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่สะดวกและยากแก่การเข้าใจ ซึ่งเพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิบัติตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญของไทย ที่ต้องการให้รัฐจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสถานการณ์หรือเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือประกอบอาชีพแก่ประชาชน จึงจะได้มีการจัดทำ (ร่าง) ประมวลกฎหมายแรงงานไทย ขึ้นโดยหลักการคือ จะเป็นการรวบรวมปรับแก้ไขให้เป็นระบบ โดยจะไม่ไปแก้ไขในเนื้อหาของกฎหมาย



สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

1. ข้อคิดพื้นฐานในการร่างกฎหมายแรงงานคือ ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของแรงงานและการออกกฎหมายแรงงาน, พื้นฐานของกฎหมายแรงงาน, กฎหมายแรงงานของต่างประเทศและอนุสัญญา ILO, การเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่กระทบต่อการจ้างแรงงาน/การทำงาน/การสัญญาจ้าง และการนำมาปรับใช้กับสังคมไทย

2. ข้อควรคำนึงในการจัดทำประมวลกฎหมาย คือ ต้องจัดโครงสร้างของกฎหมาย แบ่งหมวดหมู่ให้ชัดเจนและนำบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องมาใส่ให้ตรง เพื่อให้เนื้อหาของกฎหมายมีความสอดคล้องกันและใช้กฎหมายได้สะดวก, ตรวจสอบความสอดคล้อง/การขัดกันของเนื้อหา, ตรวจสอบความสอดคล้องกันกับ รธน. และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องและรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและ
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

3. ข้อเสนอแนะที่ประชุม

- ปรับคำนิยามเพื่อให้เกิดทัศนคติต่อการจ้างงานทั้งของผู้ว่าจ้างและผู้ถูกจ้าง เช่น ความแตกต่างในความหมายว่า แรงงานของ ILO ไม่ใช่คำว่า แรงงาน (Labour) แต่ใช้คำว่า คนงาน (Worker) แทน

- ควรเพิ่มพนักงานตรวจแรงงานและบทบาทหน้าที่เพื่อกลั่นกรองคดีความและทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยเพื่อลดจำนวนคดีความที่นำขึ้นสู่ศาลแรงงาน อีกทั้งเป็นการลดภาระการนำสืบของแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์

- จัดตั้งศาลแรงงานจังหวัดในพื้นที่ทีมีแรงงานจำนวนมาก เ เช่นพื้นที่อุตสาหกรรม จังหวัดระยอง, สมุทรปราการ เป็นต้น

- กฎหมายที่ดีต้องครอบคลุมแรงงานทุกรูปแบบ ที่สอดคล้องกับสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น อนาคตมีการใช้เครื่องจักร หุ่นยนต์มากขึ้น ก็ควรมีกองทุนไว้ดูแลแรงงานในอนาคตด้วย

- กระบวนการไกล่เกลี่ยควรมีการกำหนดที่ชัดเจน และไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด และตัวแทนฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างต้องเป็นคนทำงานตัวแทนในกลุ่มนั้นจริงๆ

- นิยามต่างๆ ต้องมีความชัดเจน เช่น ลูกจ้าง,คนทำงาน, ผู้ใช้แรงงานและนายจ้าง, ผู้ว่าจ้าง, ผู้ประกอบการ/สัญญาจ้างแรงงาน, สัญญาจ้างทำของ, สัญญาจ้างเหมาบริการ, สัญญาทางปกครอง, สัญญาผสม/ค่าจ้าง, ค่าตอบแทนการทำงาน, สวัสดิการ, สิทธิประโยชน์/ ประเด็นเฉพาะด้านของแรงงาน เช่น แรงงานข้ามชาติ, แรงงานทางทะเล, แรงงานประมงทะเล, คนพิการ เป็นต้น

- ควรจัดสัมมนาในประเด็นเรื่องโครงสร้างของประมวลกฎหมายแรงงาน
ให้ตกผลึกก่อนที่จะใส่รายละเอียดของเนื้อหา

- ในบทบัญญัติที่เป็นภาคทั่วไป สมควรมีภาคทั่วไปเพียงภาคเดียว หรือหมวดเดียวซึ่งสามารถใช้ได้กับทุกลักษณะเนื้อหาในประมวลกฎหมายแรงงาน

- ในลักษณะที่ 6 ความผิดและบทกำหนดโทษในทางอาญา สมควรจะมีเพียง 3 กรณี คือ กรณีที่ 1 เป็นการฉ้อโกงแรงงานตามนัยที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 344 กรณีที่ 2 เป็นความผิดเพราะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานในการแรงงาน และกรณีที่ 3 เป็นความผิดต่อเจ้าพนักงานในการแรงงานตามนัยที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 136-146 ส่วนกรณีอื่น ๆ เป็นเรื่องการผิดสัญญาในทางแพ่งไม่สมควรกำหนดให้เป็นความผิดอาญา เพราะคนที่กระทำความผิดอาญาเราว่า อาชญากร

- การพิจารณากำหนดความผิดทางอาญา ในด้านแรงงานควรให้อำนาจการฟ้องที่ศาลแรงงาน ซึ่งจะเข้าใจในเนื้อหาในมุมมองและสภาพการจ้างด้านแรงงาน


ทั้งนี้ ในการประชุมครั้งนี้จะรับฟังความคิดเห็น รวมทั้งข้อเสนอแนะต่อการพิจารณาศึกษาและแนวทางการจัดทำ (ร่าง) ประมวลกฎหมายแรงงาน จากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ก่อนที่จะมีการปรับปรุงต่อไป

Public on 6th September 2022
Copyright of Thai Frozen Foods Association