ประชุมคณะกรรมการธุรกิจประมง และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ครั้งที่ 2/2566

วันที่ 16 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา สมาคมฯ โดยคุณอนุชา เตชะนิธิสวัสดิ์ นายกสมาคมฯ, คุณชูพงษ์ ลือสุขประเสริฐ เลขาธิการสมาคมฯ, คุณเสาวนีย์ คำแฝง ผอ.สมาคมฯ และคุณวาสนา ตรังใจจริง เจ้าหน้าที่สมาคมฯ เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการธุรกิจประมง และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ครั้งที่ 2/2566 ณ ห้องประชุม 3201 สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและเข้าผ่านประชุมออนไลน์ (Google Hangouts Meet) โดยมีดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ เป็นประธานการประชุมฯ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

1.ประธานคณะกรรมการธุรกิจประมง และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และที่ประชุมเห็นชอบแต่งตั้งคุณอนุชา เตชะนิธิสวัสดิ์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยหรือผู้แทน เป็นกรรมการในคณะกรรมการธุรกิจประมง และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ประจำปี 2566-2567

2.คณะกรรมการธุรกิจประมงฯ เห็นชอบในกิจกรรมโครงการ Onsite Visit ศักยภาพของอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปของไทย ร่วมกับคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (YEC) ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ดีและคณะ YEC ได้เยี่ยมชม และดูงานด้านศักยภาพอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปของไทย ณ บริษัท ซีแวลู จำกัด(มหาชน)

3.รับรองรายงานการประชุม คณะกรรมการธุรกิจประมง และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ครั้งที่ 1/2566

4.รับทราบความคืบหน้าโครงการ ส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งกรามกรามในพื้นที่กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2566 ได้เข้าพบหารือกับดร.ถาวร ทันใจ รองอธิบดีกรมประมง และผู้บริหารกรมประมง ประมงจ.กาฬสินธุ์ ขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการพัฒนาการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามในพื้นที่กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง โดยมีแนวทางในการแก้ไขปัญหา และยกระดับการพัฒนาการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามในพื้นที่กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง โดยจะเริ่มจากเขตชลประทานเขื่อนลำปาว จ. กาฬสินธุ์เป็นพื้นที่เป้าหมาย และเป็นพื้นที่นำร่องต้นแบบในการขยายผลของโครงการฯ โดยมีกำหนดการลงพื้นที่วันที่ 24 สิงหาคม 2566

*สถานการณ์กุ้งก้ามกราม เขตชลประทานเขื่อนลำปาว จ. กาฬสินธุ์*

- พื้นที่เลี้ยงกุ้งก้ามกราม 10,000 ไร่ เกษตรกร 900 ราย

- เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นรายย่อย เลี้ยงกุ้งรายละ 2-4 บ่อ ขนาด 1-2 ไร่

- ผลผลิต 150-180 กก./ ไร่/ รุ่น เลี้ยงปีละ 2 รุ่น ผลผลิต 3,600 ตัน/ปี

- จับกุ้งขนาด 30-35 ตัว/กก. ต้นทุน 150-180 บาท

- จับกุ้งไม่แยกเพศ ราคาเฉลี่ยสูงกว่าภาคกลาง 25%-30%

- ตลาดทั่วไปใช้กุ้งไซส์เล็ก กำลังซื้อต่ำ ตลาดในเมืองต้องนำเข้ากุ้งไซส์ใหญ่จากภาคกลาง

5. คุณชูพงษ์ ลือสุขประเสริฐ เลขาธิการสมาคมฯและประธานคณะอนุกรรมการกลุ่มสินค้ากุ้งฯ รายงานสถานการณ์สินค้ากุ้ง ปี 2566 ดังนี้

*ด้านราคาและผลผลิตกุ้งไทย*

ราคากุ้งตั้งแต่ต้นปี-ต้นเดือนสิงหาคม ราคากุ้งทุกขนาดของไทยลดลงร้อยละ 28 ส่วนหนึ่งมาจากผลผลิตกุ้งของเอกวาดอร์ล้นตลาด ทำให้ราคากุ้งทั่วโลกลดลงต่อเนื่อง และจากสาเหตุราคาตกต่ำต่อเนื่องนั้น ทำให้เกษตรกรไม่มีแรงจูงใจในการเลี้ยง และหยุดเลี้ยง เพราะไม่คุ้มทุน/ไม่ได้กำไร โรงเพาะฟัก(Hatchery) ลดกำลังการผลิตร้อยละ 40, ผู้เลี้ยงลดกำลังการผลิต ร้อยละ 30-35 ส่งผลกระทบต่อผลผลิตกุ้งครึ่งปีหลัง โดยครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ผลผลิตกุ้ง 131,210 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 107,685 ตัน) เนื่องจากครึ่งปีแรกผู้เลี้ยงเปลี่ยนมาใช้ลูกกุ้งสายพันธุ์ที่ทนต่อโรคมากขึ้น และลงกุ้งบางอัตรารอดสูง แต่ครึ่งปีหลัง คาดว่าผลผลิตกุ้ง 20,000 ตัน จากสาเหตุดังกล่าวข้างต้น

*ด้านตลาดหลักกุ้ง (อเมริกา-ญี่ปุ่น-จีน)*

*ตลาดอเมริกา* เศรษฐกิจถดถอย(Recession) มาตั้งแต่ปีก่อน จากการคุยกับผู้นำเข้าตลาดอเมริกายังไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น ผู้นำเข้าประเมินสถานการณ์อาจยาวถึงกลางปีหน้า และตลาดแรงงานมีการชะลอตัวสูง ปริมาณสินค้าในคลังคงเหลือสูง (Inventories) ผู้นำเข้าชะลอคำสั่งซื้อ

*ตลาดญี่ปุ่น* หลังจาก Covid เปิดประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแต่ก็ยังไม่ฟื้นตัว เปีนี้เงินเยนอ่อนค่า ลูกค้ากังวลเรื่องเงินเยนอ่อน โดยนำเงินเยนมาคำนวณราคาซื้อด้วย ปัจจุบันผู้บริโภคประหยัดและระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายมาก อีกทั้ง ในอดีตญี่ปุ่นซื้อสินค้าเน้นด้านคุณภาพ มาตรฐาน แต่ปัจจุบันหันมาซื้อสินค้าราคาถูกมากขึ้น

*ตลาดจีน* หลังโควิดจีนเปิดประเทศ เศรษฐกิจดีขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ ปัจจุบันเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว หยุดการสั่งซื้อ และด้วยราคากุ้งทั่วโลดลดลง ทำให้จีนเร่งซื้อสินค้ากุ้งจากเอกวาดอร์ มากขึ้นกว่า 50 % จากปีก่อน ทำให้จีนมีสินค้าค้างสต็อกเยอะ และหลังจากนี้ ต้องรอดูว่าปลายปีนี้ จะมีแนวโน้มเป็นอย่างไรอีกครั้ง แต่คาดว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ตามอเมริกา และญี่ปุ่น

*คุณเอกพจน์ ยอดพินิจ นายกสมาคมกุ้งไทย* ให้ความเห็นว่าจากสถานการณ์สินค้ากุ้งครึ่งปีที่ผ่านมา เห็นได้ชัดเจนว่าตลาดสินค้ากุ้งหดตัวลงทุกประเทศ ยกเว้น จีนที่ตัวเลขส่งออกขยายตัว
ดังนั้น ภาครัฐควรมีนโยบายแก้ไขปัญหาราคากุ้งตกต่ำ หรือมีแนวทางลดต้นทุนด้านการผลิต และแก้ไขปัญหา FTA-EU รวมถึงปัญหาโรคกุ้ง หากรัฐบาลมีงบประมาณให้กรมประมงในการแก้ไขปัญหาโรคกุ้ง สายพันธุ์กุ้ง เพื่อให้อาชีพเลี้ยงกุ้งยั่งยืน

6. ที่ประชุมมอบหมายให้ 2 สมาคมฯ (สมาคมอาหารฯ และสมาคมกุ้งไทย) ร่วมแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมกุ้ง โดยสมาคมอาหารฯ เสนอในส่วนของตลาดหลักกุ้ง และสมาคมกุ้งไทย เสนอด้านต้นทุนการผลิต การเลี้ยง และความเสี่ยงของโรค และภายใน 2 สัปดาห์ กำหนดให้จัดประชุมหารือร่วมกันกับรมประมงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

7. ทราบประเด็นการนำเข้าปลากะพงขาวจากประเทศมาเลเซีย ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรภายในประเทศ ทั้งนี้ ประธานฯ เสนอขอให้ประสานงานนายกสมาคมปลาทะเลไทย เพื่อหารือในแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึง การแจ้งรับรองแหล่งที่มาของปลากะพงขาว และสนับสนุนให้เลี้ยงปลากะพงทอง แทนปลากะพงขาว


8. พิจารณาระดมความคิดเห็นปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะต่อความตกลงการค้าเสรี FTA ไทย-EU ประธานฯ ขอความร่วมมือสมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการตอบแบบสอบถาม และมอบหมาย คุณนพวรรณ ฉลองพันธรัตน์ กรรมการ สรุปความคิดเห็น และเชิญหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมต่อไป


Public on 6th September 2022
Copyright of Thai Frozen Foods Association