ประชุมหารือข้อผูกพันเปิดตลาดบริการ ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีของไทย

วันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม 2566 นายกรวิชญ์ ทุมมานนท์ เจ้าหน้าที่สมาคมฯ เข้าร่วมการประชุมหารือข้อผูกพันเปิดตลาดบริการ ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีของไทย ผ่านระบบ Zoom Meeting จัดโดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สรุปดังนี้

ความคืบหน้าการเจรจา FTA ไทย-EFTA คืบหน้าตามเป้า คาดสรุปผลกลางปี 2567

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเปิดเผยความคืบหน้าการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) ประกอบด้วยสมาชิก 4 ประเทศ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ ว่า ขณะนี้การเจรจาดำเนินไปอย่างคืบหน้าตามเป้า โดยได้จัดการประชุมเจรจาไปแล้ว 6 รอบ แบ่งเป็นการประชุมระดับหัวหน้าคณะเจรจา 2 รอบ และการประชุมกลุ่มย่อย 16 คณะ

สำหรับประเด็นหลักที่ทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างการเจรจา ได้แก่
• การเปิดตลาดสินค้าและบริการ
• กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า
• การอำนวยความสะดวกทางการค้าและพิธีการศุลกากร
• กฎระเบียบ/มาตรฐาน (SPS/TBT)
• มาตรการเยียวยาทางการค้า
• กลไกเชิงสถาบัน/การระงับข้อพิพาท
• ความร่วมมือระหว่างกัน
• E-commerce
• การแข่งขันทางการค้า
• การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ
• ทรัพย์สินทางปัญญา
• การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน (สิ่งแวดล้อมและแรงงาน)

นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการหารือประเด็นเจรจาใหม่ๆ เช่น SMEs ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญทางเศรษฐกิจ จากการเจรจาที่ผ่านมา สามารถบรรลุข้อตกลงในประเด็นสำคัญบางประการแล้ว เช่น หลักการทั่วไปของ FTA การเปิดตลาดสินค้าบางรายการ และกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า

สำหรับแผนการประชุมในอนาคตจะจัดการประชุมเจรจารอบที่ 7 ระหว่างวันที่ 6-10 พฤศจิกายน 2566 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส และรอบที่ 8 ระหว่างวันที่ 29 มกราคม-2 กุมภาพันธ์ 2567 ณ กรุงเทพฯ

กรมฯ ตั้งเป้าหมายที่จะสรุปผลการเจรจา FTA ไทย-EFTA ได้ภายในกลางปี 2567 หากผลการเจรจาประสบความสำเร็จ จะทำให้ไทยสามารถเข้าถึงตลาดสินค้าและบริการของ EFTA ซึ่งมีมูลค่ารวมกว่า 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงสำหรับสินค้าไทย

ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจาก FTA ไทย-EFTA
• ขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับ EFTA
• เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าและบริการของไทยในตลาดโลก
• ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย
• กระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างงานใหม่ๆ ให้กับคนไทย
• ส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างกัน

ความคืบหน้าการเจรจา Thailand – EU FTA

Thailand – EU FTA ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2566 โดยทั้งสองฝ่ายได้จัดการประชุมระดับหัวหน้าคณะเจรจาเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2566 ณ กรุงเทพฯ และการประชุมเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป รอบที่ 1 ระหว่างวันที่ 18-22 กันยายน 2566 ณ กรุงบรัสเซลส์

ในการประชุมรอบแรก ทั้งสองฝ่ายได้จัดตั้งคณะเจรจากลุ่มย่อย 19 กลุ่ม เพื่อพิจารณาประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การค้าสินค้า การค้าบริการและการลงทุน การค้าดิจิทัล การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ทรัพย์สินทางปัญญา การแข่งขันและการอุดหนุน รัฐวิสาหกิจ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน การระงับข้อพิพาท แต่การประชุมกลุ่มย่อยที่ยังไม่มี Text ได้แก่ การลดภาษีศุลกากร กฎถิ่นกำเนิดสินค้า พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า มาตรการเยียวยาทางการค้า อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช พลังงานและวัตถุดิบ ระบบอาหารที่ยั่งยืน ความโปร่งใสและหลักปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบ และบทบัญญัติพื้นฐาน บทบัญญัติทั่วไป บทบัญญัติสุดท้ายและบทบัญญัติเกี่ยวกับสถาบัน และข้อยกเว้น

การประชุมเจรจารอบที่ 2 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-26 มกราคม 2567 ณ กรุงเทพฯ และการประชุมเจรจารอบที่ 3 ในเดือนมิถุนายน 2567 ณ กรุงบรัสเซลส์ โดยตั้งเป้าหมายที่จะสรุปผลการเจรจาภายในปี 2568
อาเซียน-แคนาดา เจรจา FTA คืบหน้าตามคาด ตั้งเป้าสรุปผลปี 68

การประชุมเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-แคนาดา (ACAFTA) ครั้งที่ 5 ณ เมืองบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 25 - 29 กันยายน 2566 เป็นไปอย่างราบรื่น มีความคืบหน้าตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

สำหรับประเด็นการค้าสินค้า ได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการลดภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าส่วนใหญ่ โดยสินค้าที่มีมูลค่าการค้าสูง เช่น สินค้าเกษตร เครื่องจักร และสินค้าอุปโภคบริโภค คาดว่าจะได้รับการลดภาษีศุลกากรลงอย่างมาก หรือถึงระดับปลอดภาษี

นอกจากนี้ ยังหารือเกี่ยวกับกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (ROOs) เพื่อกำหนดเงื่อนไขว่าสินค้าใดบ้างที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ ACAFTA สำหรับประเด็นการลงทุน ได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมการลงทุนและคุ้มครองนักลงทุน โดยมีความสนใจที่จะส่งเสริมการลงทุนระหว่างกัน

สำหรับประเด็นการค้าบริการ ได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการลดอุปสรรคทางการค้าในภาคบริการ โดยมีความสนใจที่จะเปิดตลาดบริการระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการด้านการเงิน เทคโนโลยีสารสนเทศ และโลจิสติกส์
สำหรับประเด็นอื่นๆ เช่น การแข่งขันทางการค้า กฎระเบียบทางเทคนิค และสิ่งแวดล้อม ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับแนวทางในการส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมและยั่งยืน

มีแผนจัดการประชุมเจรจาต่อเนื่องในปี 2567 และปี 2568 เพื่อเร่งผลักดันการเจรจาให้สรุปผลได้ในปี 2568 ตามที่ AEM-Canada ตั้งเป้าไว้

ไทยและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) อยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Comprehensive Economic Partnership Agreement: CEPA) โดยการประชุมเจรจารอบที่ 4 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-28 กันยายน 2566 ณ กรุงเทพฯ โดยได้หารือในประเด็นต่างๆ ที่สำคัญ อาทิ การค้าสินค้า กฎถิ่นกำเนิดสินค้า การค้าบริการและการค้าดิจิทัล ทรัพย์สินทางปัญญา ความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและ MSMEs เป็นต้น

การเจรจาครั้งนี้ได้บรรลุข้อตกลงในหลายประเด็นสำคัญ อาทิ การเปิดตลาดสินค้าและบริการ การอำนวยความสะดวกทางการค้า การลดอุปสรรคทางการค้า และความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการลงทุน

สำหรับการประชุมเจรจารอบถัดไป คาดว่าจะเป็นช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 โดยตั้งเป้าจะสรุปผลการเจรจา ให้แล้วเสร็จภายในปี 2566

การจัดทำ CEPA ไทย-UAE คาดว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ ดังนี้
• ขยายโอกาสในการเข้าสู่ตลาด UAE ของไทย ทั้งสินค้าและบริการ
• ดึงดูดนักลงทุน UAE มาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น
• ดึงดูดนักท่องเที่ยว UAE มาเที่ยวในไทย
• สร้างสภาพแวดล้อมทางการค้าและการลงทุนที่คาดการณ์ได้ โปร่งใส และเข้าถึงได้ง่าย

ทั้งนี้ UAE เป็นตลาดส่งออกศักยภาพและเป็นมิตรต่อนักลงทุน มีระบบโลจิสติกส์และระบบโครงสร้างพื้นฐานมีคุณภาพสูง เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ การเงิน และการธนาคารในภูมิภาค และเป็นจุดกระจายสินค้าไทยไปยังประเทศในตะวันออกกลาง ยุโรป และแอฟริกา

ไทย-ศรีลังกาเจรจา FTA คืบหน้า 80% ตั้งเป้าสรุปผลภายในปี 2566

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2566 คณะเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-ศรีลังกา (SLTFTA) ได้เสร็จสิ้นการประชุมรอบที่ 7 ณ กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา โดยทั้งสองฝ่ายได้บรรลุข้อตกลงในประเด็นสำคัญหลายประการ ได้แก่
• การลดและยกเลิกภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าส่วนใหญ่ในทันทีหรือตามตารางเวลา
• การเปิดตลาดการค้าบริการ
• การให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุน
• ความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญา

ทั้งนี้ ยังคงมีประเด็นที่ต้องเจรจาต่อในบางประเด็น เช่น กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า และมาตรฐานสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช โดยมีเป้าหมายที่จะสรุปผลเจรจาให้ได้ภายในปี 2566 และลงนามความตกลงในปี 2567


สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญจากไทยไปยังศรีลังกา ได้แก่ ยางพารา ผ้าผืน อัญมณีและเครื่องประดับ เม็ดพลาสติก และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญจากศรีลังกา ได้แก่ เครื่องเพชรพลอยและอัญมณี เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช และเคมีภัณฑ์ หากการเจรจา FTA ไทย-ศรีลังกา ประสบความสำเร็จ คาดว่าจะส่งผลให้การค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้นประมาณ 10% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ


Public on 6th September 2022
Copyright of Thai Frozen Foods Association