ประชุมสถานการณ์และแนวทางการส่งเสริมการส่งออกสินค้าอาหาร ครั้งที่ 2/2567

วันพุธที่ 27 มีนาคม 2567 เวลา 13.30-15.00 น. ณ ห้องประชุม 50601 กระทรวงพาณิชย์

สมาคมฯ โดย คุณอนุชา เตชะนิธิสวัสดิ์ นายกสมาคมฯ เข้าร่วมการประชุม สถานการณ์และแนวทางการส่งเสริมการส่งออกสินค้าอาหาร ครั้งที่ 2/2567 โดยมีสาระจากการประชุม ดังนี้

1. สรุปสถานการณ์ส่งออกสินค้าเกษตร อาหาร และเครื่องดื่ม ปี 2566 โดยการส่งออกของไทยปี 2566 มีมูลค่าการส่งออกรวม 284,561.81 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 9,809,008 ล้านบาท ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.00 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2565 สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตร อาหาร และเครื่องดื่ม ปี 2566 มีมูลค่ารวม 36,440.88 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 1,255,622.69 ล้านบาท โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญ 10 อันดับแรก ในปี 2566 ได้แก่

1. ผักผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง อัตราการขยายตัว 21.70%

2. ข้าว อัตราการขยายตัว 29.33%

3. ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง อัตราการขยายตัว 0.18%

4. ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อัตราการขยายตัว -16.36%

5. อาหารทะเลกระป๋อง อัตราการขยายตัว -11.63%

6. ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี อัตราการขยายตัว -3.34%

7. เครื่องดื่ม อัตราการขยายตัว 2.58%

8. ผลไม้กระป๋อง อัตราการขยายตัว -8.87%

9. ไขมันจากพืชและสัตว์ อัตราการขยายตัว -25.63%

10. สินค้าประมง อัตราการขยายตัว -8.37% ซึ่งมีตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ จีน สัดส่วน 29.11% ญี่ปุ่น สัดส่วน 11.06% สหรัฐฯ สัดส่วน 8.91% มาเลเซีย สัดส่วน 3.45% และอินโดนีเซีย สัดส่วน 2.91%

2. สำหรับแนวโน้มการส่งออกปี 2567 กระทรวงพาณิชย์กำหนดไว้ที่ขยายตัวร้อยละ 1-2 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 290,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีปัจจัยหนุนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ส่งผลให้การค้าโลกขยายตัวเพิ่มขึ้น

สำหรับการส่งออกสินค้าอาหาร ประจำเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2567 มีมูลค่ารวม 2,633 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 92,232 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.45 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2566 โดยแบ่งเป็น

อาหารสำเร็จรูป หดตัวร้อยละ 0.97

อาหารทะเลสดแช่เย็นแช่แข็ง ขยายตัวร้อยละ 11.43

สินค้าแห่งอนาคต ขยายตัวร้อยละ 16.31

เครื่องดื่ม ขยายตัวร้อยละ 16.38

ทูน่ากระป๋อง ขยายตัวร้อยละ 14.99

3. ที่ประชุมได้ชี้แจงสถานการณ์ของแต่ละกลุ่มสินค้าเพิ่มเติม ดังนี้

- อาหารสำเร็จรูป : แนวโน้มการบริโภคสินค้าสำเร็จรูปยังไม่สูงมากนัก เนื่องจากยังคงมี Stock สินค้าเหลืออยู่ อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจดีขึ้น ก็น่าจะมีการบริโภคเพิ่มขึ้นด้วย โดยคาดว่า ทั้งปี 2567 น่าจะมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 2%

- สินค้าแห่งอนาคต : น่าจะมีการขยายตัวประมาณ 2% ตลอดปี 2567 โดยมีตะวันออกกลางเป็นตลาดที่ขยายตัวสูงและน่าสนใจในการทำการค้า

- เครื่องดื่ม : น่าจะมีการขยายตัวประมาณ 2% ตลอดปี 2567 โดยมีกัมพูชา ลาว เวียดนามและเมียนมาร์เป็นตลาดที่ขยายตัวสูงและน่าสนใจในการทำการค้า

- สินค้าประมงแช่เย็นแช่แข็ง : คุณอนุชาได้เสริมว่า ในส่วนของสินค้าประมงปี 2566 มีการส่งออกราว 2,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในภาพรวมลดลงประมาณ 7%

ในส่วนของกุ้งยังมีการส่งออกอยู่ตามปกติ อย่างไรก็ตาม ต้นทุนการผลิตที่เกิดขึ้นตอนนี้ทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้

ปลาหมึก ก็ยังคงมีการส่งออกอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่เป็นในรูปแบบของการนำเข้ามาเพื่อผลิตและส่งออก และนำเข้าเพื่อการบริโภคในประเทศ

ปลา โดยเฉพาะกลุ่มปลาที่ทำซูริมิ ก็พบปัญหาซูริมิของรัสเซียที่ลดราคาขายในหลายตลาด ส่งผลให้สหรัฐฯ ที่เป็นผู้ส่งออกซูริมิรายใหญ่จำเป็นต้องลดราคาลงตามไปด้วย ซึ่งกระทบกับผู้ส่งออกซูริมิของไทยต้องปรับกลยุทธ์ทางการ
ตลาด นอกจากนี้ ชาวประมงในประเทศยังประสบปัญหาราคาวัตถุดิบสัตว์น้ำตกต่ำ ซึ่งสมาคมฯ ก็หาแนวทางในการรับซื้อปลาเพื่อช่วยพยุงสถานการณ์ในขณะนี้ไว้ สำหรับประเด็นข้อกังวลในขณะนี้ก็คือ การที่กรมประมงมีแนวทางที่จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำ จากการปรับแก้ พรบ.โรคระบาดสัตว์ และ พรก.ประมง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกรรมาธิการ โดยหากมีการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวจริงๆ อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในภาพรวมได้

นอกจากนี้ อยากให้มีการเร่งเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป เพื่อให้สามารถส่งออกไปยังสหภาพยุโรปมากขึ้นด้วย

- ทูน่ากระป๋อง : คาดว่าจะมีการขยายตัว 10%

- อาหารสัตว์เลี้ยง : โดยเฉพาะกลุ่มอาหารสุนัขและแมว คาดว่าจะขยายตัว 20%

4. แผนงาน/โครงการในปีงบประมาณ 2567 กระทรวงพาณิชย์มีแผนดังนี้

- งาน ThaiFEX Anuga 2024
- โครงการผู้แทนการค้าสินค้าอาหารเจรจาที่แอฟริกา
- Seoul Food&Hotel 2024
- Fine Food Australia 2024
- Sial 2024


Public on 6th September 2022
Copyright of Thai Frozen Foods Association