รับฟังความคิดเห็นต่อมาตรการ CBAM

วันอังคารที่ 5 กันยายน 2566 เวลา 09.00-12.30 น. ทาง Facebook Live ของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

สมาคมฯ โดย คุณวศิน วงศ์เจริญรัตน์ กรรมการสมาคมฯ และนายประมุข ตะเคียนคาม ผู้จัดการฝ่ายบริการข้อมูลวิชาการ เข้าร่วมการสัมมนารับฟังความคิดเห็นต่อมาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ของสหภาพยุโรป โดยมีสาระสำคัญจากการประชุม ดังนี้

การสัมมนาครั้งนี้ จัดโดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ, องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก 6 กลุ่มที่จะถูกกำหนดให้ใช้มาตรการ CBAM ได้แก่ 1) เหล็กและเหล็กกล้า 2) อะลูมิเนียม 3) ซีเมนต์ 4) ปุ๋ย 5) ไฟฟ้า และ 6) ไฮโดรเจน

วิทยากรได้อธิบายความเป็นมาของมาตรการ CBAM โดยในเดือนธันวาคม 2562 สหภาพยุโรปได้ประกาศนโยบาย European Green Deal โดยระบุว่าจะใช้มาตรการ CBAM เป็นเครื่องมือเพื่อป้องกันการรั่วไหลของคาร์บอน (carbon leakage) ซึ่งต่อมาในปี 2564 คณะกรรมาธิการยุโรปได้เปิดรับฟังความเห็นสาธารณะต่อร่างระเบียบ CBAM และเข้าสู่ขั้นตอนของการเจรจาหารือ 3 ฝ่าย (trilogue) ระหว่างคณะกรรมาธิการยุโรป รัฐสภายุโรป (European Parliament) และคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป (Council of the European Union) และในปี 2565 รัฐสภายุโรปเต็มคณะมีมติเห็นชอบร่างกฎหมาย CBAM และได้รับการเผยแพร่ใน Official Journal of the EU โดยช่วงตุลาคม 2566 - 31 ธันวาคม 2568 จะเริ่มบังคับใช้มาตรการ CBAM ในช่วงเปลี่ยนผ่าน (transitional period) ซึ่งผู้นำเข้ามีหน้าที่รายงานข้อมูลปริมาณสินค้าที่นำเข้าและการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิต (embedded emissions) และจะต้องซื้อใบรับรอง CBAM ตามปริมาณการปล่อยก๊าซของสินค้านั้น ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 เป้นต้นไป

สาระสำคัญของมาตรการ CBAM มีดังนี้

- ผู้นำเข้าต้องซื้อใบรับรอง CBAM ตามปริมาณการปล่อยคาร์บอน ซึ่งราคาใบรับรองจะอ้างอิงตามราคาซื้อขายใบอนุญาตปล่อยคาร์บอนในตลาดของ EU (ราคาเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2566 อยู่ที่ประมาณ 88.3 ยูโรต่อ 1 ตันคาร์บอน)

- บังคับใช้กับสินค้า 6 กลุ่ม ได้แก่ (1) เหล็กและเหล็กกล้า (2) อะลูมิเนียม (3) ซีเมนต์ (4) ปุ๋ย (5) ไฟฟ้า และ (6) ไฮโดรเจน (และครอบคลุม downstream products บางรายการด้วย เช่น นอตและสกรูที่ทำจากเหล็กและเหล็กกล้า และสายเคเบิลที่ทำจากอะลูมิเนียม) โดยวันที่ 1 ตุลาคม 2566 - 31 ธันวาคม 2568 (3 ปีแรก) เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่ผู้นำเข้าสินค้าภายใต้มาตรการ CBAM ต้องรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซฯ (เป็นรายไตรมาส) และขึ้นทะเบียนในระบบ CBAM Registry ภายใน 31 ธันวาคม 2567 และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 จะเริ่มบังคับให้ต้องซื้อใบรับรอง CBAM

- หลังจากปี 2569 มีแนวโน้มเพิ่มกลุ่มสินค้าเคมีภัณฑ์อินทรีย์และโพลิเมอร์ รวมทั้งตั้งเป้าจะขยายขอบเขตให้ครอบคลุมทุกสินค้าที่อยู่ภายใต้ระบบของสหภาพยุโรป ภายในปี 2573

ทั้งนี้ ประเทศอื่น ๆ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะใช้มาตรการลักษณะเดียวกับ CBAM (ได้แก่ สหรัฐฯ แคนาดา สหราชอาณาจักรและออสเตรเลีย) ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าเพิ่มเติมหรือยังเป็นเพียงแนวคิด/ข้อเสนอที่อยู่ในกระบวนการหารือ

ในส่วนของข้อคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้แก่

สหภาพยุโรปอาจต้องพิจารณาเพิ่มเติมในประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา และความลับทางธุรกิจด้วย เนื่องจากข้อมูลที่ผู้ประกอบการจะแชร์เข้าสู่ระบบการรายงานของสหภาพยุโรปนั้นมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการผลิตของผู้ประกอบการจำนวนมาก

การรายงานค่า Exbedded Emission สหภาพยุโรปมีการกำหนดค่าการรายงานแตกต่างกันตามกลุ่มสินค้าภายใต้ CN Code ของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องศึกษาเพิ่มเติม อาทิ การพิจารณาสินค้าว่า เป็น Simple Goods หรือ Complex Goods เนื่องจากมีหลัการคำนวณค่า Embedded Emission ที่แตกต่างกัน

เอกสาร/มาตรการ CBAM ที่ประกาศออกมา ยังมีความไม่แน่นอน เนื่องจากมีการปรับ Version ของมาตรการอยู่เรื่อยๆ จึงขอให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศและองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ประชาสัมพันธ์มาตรการฉบับที่ต้องใช้จริงๆ ให้ผุ้ประกอบการทราบก่อน เนื่องจากผู้ประกอบการจำเป็นต้องศึกษารายละเอียดการคำนวณและรายงานผลให้เข้าใจอย่างถูกต้องและนำไปใช้กับอุตสาหกรรมตนเองได้

การจัดการฝึกอบรมในประเด็นการคำนวณค่าและรายงานผลเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ประกอบการและมีต้นทุนในการดำเนินการ หากรัฐสามารถสนับสนุนในส่วนนี้ได้ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

การทวนสอบข้อมูลยังมีข้อจำกัดกับผู้ประกอบการอยู่บ้าง อาทิ การบังคับให้ใช้ผู้ทวนสอบ/หน่วยงานทวนสอบที่ได้รับการรับรองโดย EU Accreditation Bodies โดยในปัจจุบันผู้ทวนสอบ (Verifier) ของไทยยังไม่ได้รับการรับรอง จึงเป็นภารกิจของภาครัฐของไทยที่ต้องนำไปหารือกับสหภาพยุโรป เพื่อให้เกิดการยอมรับร่วมสำหรับผู้ทวนสอบของไทย

อาจต้องหารือกับสหภาพยุโรปเพิ่มเติมเกี่ยวกับระยะเวลาช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transition Period) และการบังคับใช้ โดยแบ่งตามระดับการพัฒนาของแต่ละประเทศ (ประเทศพัฒนาแล้ว, ประเทศกำลังพัฒนา และประเทศด้อยพัฒนา) เนื่องจากอาจมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรปในอนาคต


อาจต้องหารือกับสหภาพยุโรปให้มีการประกาศค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป เนื่องจากข้อมูลที่ประกาศจะเป็นประโยชน์สำหรับในการใช้เป้นข้อมูลสำหรับการทำ Baseline Data ของแต่ละประเทศ/อุตสาหกรรม


Public on 6th September 2022
Copyright of Thai Frozen Foods Association