สัมมนา TFMA TALK 2

วันจันทร์ที่ 2 ตุลาคม 2566 เวลา 14.00-15.45 น. ทางระบบการประชุม Zoom Online Meeting

คุณตรีรัตน์ เชาวน์ทวี ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการกลุ่มผลิตภัณฑ์ปู และนายประมุข ตะเคียนคาม ผู้จัดการฝ่ายบริการข้อมูลวิชาการ เข้าร่วมการสัมมนา TFMA TALK 2 การประมงยั่งยืน:ปัญหาเศรษฐกิจหรือสิ่งแวดล้อม ซึ่งจัดโดย สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย มีสาระสำคัญจากการสัมมนา ดังนี้

1. ไขข้อสงสัยที่มาของ IUU Fishing ปัญหาเศรษฐกิจหรือสิ่งแวดล้อม โดย ศ.ดร.ทวนทอง จุฑาเกตุ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ศ.ดร.ทวนทอง จุฑาเกตุ ได้ชี้แจงความเป็นมาของ IUU Fishing ว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสหภาพยุโรปได้มีการประกาศใช้ระเบียบการทำการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือ IUU Fishing โดยมีการบังคับใช้กับประเทศที่มีการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำไปยังสหภาพยุโรป โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อควบคุมการทำการประมงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และไม่เกิด Overfishing และหากเกิดการประมงที่ Overfishing รัฐเจ้าของธงของประเทศนั้น ควรจัดสร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพ สำหรับการติดตาม ตรวจสอบ ควบคุม และบังคับใช้กฎระเบียบด้านการประมงภายใต้ขอบเขตอำนาจ เพื่อทำให้แน่ใจว่ามีการปฏิบัติตามมาตรการอนุรักษ์ และจัดการทรัพยากรและการประมงที่ตนได้กำหนดขึ้น รวมถึงต้องมีการศึกษาวิจัยมาเป็นข้อมูลพื้นฐานในการกำหนดมาตรการต่างๆ อันจะเห็นได้จากการสนับสนุนของแต่ละประเทศในการจัดทำโครงการปรับปรุงการทำประมงของไทยอย่างยั่งยืน (Fishery Improvement Project : FIP) ซึ่งประเทศไทยก็มีการจัดทำ FIP แล้ว 3 FIP ได้แก่ FIP ปูม้า, FIP อวนลาก และ FIP อวนล้อม โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณการวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.)

2. ทำความรู้จักกับ TSFR (Thailand Sustainable Fishery Roundtable) โดย คุณวรพงษ์ เอี่ยมตระกูล ผู้จัดการโครงการ FIP อวนลาก
คุณวรพงษ์ ได้นำเสนอว่า TSFR หรือคณะทำงานการพัฒนาระบบการผลิตสินค้าประมงและผลิตภัณฑ์ประมงของไทยเป็นคณะทำงานร่วม 8 สมาคมที่เกี่ยวข้องภายใต้อุตสาหกรรมประมงและประมงต่อเนื่อง ได้แก่ สมาคมประมงแห่งประเทศไทย สมาคมประมงนอกน่านน้ไทย สมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมกุ้งไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย และสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินโครงการแนวทางพัฒนาการประมงอวนลากในอ่าวไทยสู่ความยั่งยืนตามแนวปฏิบัติสากล เพื่อความมั่นคงของทรัพยากร

ทั้งนี้ ในส่วนของการจัดทำโครงการ FIP นั้น มีกรอบการดำเนินการ 4 ขั้นตอนหลัก ได้แก่

ขั้นตอนที่ 1 การรวมตัวของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

ขั้นตอนที่ 2 การประเมินสถานภาพการประมงที่เป้นปัจจุบัน

ขั้นตอนที 3 การจัดทำ Action Plan เพื่อปิดช่องว่างที่เกิดจากการทำการประมง

ขั้นตอนที่ 4 การปฏิบัติตาม Action Plan

โดย FIP อวนลากฝั่งอ่าวไทย ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่ 4 และในช่วงปลายปี 2566 จะมีการประเมินความก้าวหน้าของโครงการฯ โดยหน่วยงานผู้ประเมินจากภายนอกด้วย นอกจากนี้ FIP อวนลากของไทยนี้ นับเป็น FIP แรกของโลกที่อยู่ระหว่างการทดลองจัดทำแนวทางการทำประมงแบบหลากหลายสายพันธุ์ (Multi-species FIP) ซึ่งหากตองการดูข้อมูลเพิ่มเติมของโครงการ สามารถดูได้ที่ www.tsfr.in.th

3. แนวโน้มอุตสาหกรรมปลาป่นของไทย โดยคุณอำนวย เอื้ออารีมิตร นายกสมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย
คุณอำนวย ชี้แจงว่า อุตสาหกรรมปลาป่นมีมากว่า 50 ปีแล้ว โดยมีการจับปลาป่นเพื่อการผลิตได้ประมาณ 400,000-500,000 ตัน จนกระทั่งประเทศไทยประสบกับปัญหา IUU Fishing ก็มีปริมาณปลาป่นเหลือเพียง 260,000-300,000 ตันเท่านั้น ส่งผลให้โรงงานปลาป่นลดลงจาก 100 กว่าราย เหลือเพียง 60-70 รายเท่านั้น อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมปลาป่นก็ได้ให้ความสำคัญในประเด็นของความยั่งยืนของทรัพยากรและให้ความร่วมมือกับกรมประมงด้วยดีเสมอมา


ในส่วนของสถานการณ์ปัจจุบัน พบว่า ปรากฎการณ์เอลนินโญ่ทำให้ปริมาณปลาป่นลดลง ราคาวัตถุดิบปลาป่นจึงมีแนวโน้มปรับราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคู่แข่งของการส่งออกปลาป่น ได้แก่ เปรู ปัจจุบันประเทศไทยมีการส่งออกปลาป่นไปยังประเทศจีนเป็นหลัก (90% ของปริมาณปลาป่นทั้งหมด) มีการคาดการณ์ว่า ในช่วง 3 เดือนหลังของปี 2566 สถานการณ์วัตถุดิบและราคาน่าจะกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติได้

Public on 6th September 2022
Copyright of Thai Frozen Foods Association