24 สิงหาคม 2565 Focus Group โครงการประเมิน NTMs และผลกระทบต่อการค้าและความสามารถในการแข่งขันของกลุ่มประเทศ CLMV กับประเทศไทย

วันพุธที่ 24 สิงหาคม 2565 เวลา 09.00 – 12.30 น. ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ


สมาคมฯ โดยคุณเสาวนีย์ คำแฝง ผู้อำนวยการสมาคมฯ และคุณกรวิชญ์ ทุมมานนท์ เจ้าหน้าที่สมาคมฯ เข้าร่วมประชุมระดมความคิดเห็นกลุ่มย่อย (Focus Group) เรื่อง โครงการประเมินมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Measures: NTMs) และผลกระทบต่อการค้าและความสามารถในการแข่งขันของกลุ่มประเทศ CLMV กับประเทศไทย ซึ่งจัดโดยสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) มีสาระสำคัญ ดังนี้


ผู้วิจัยให้การนำเสนอภาพรวม


การเจรจาการค้าระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนนำไปสู่การลดภาษีนำเข้า ประเทศไทยและ CLMV มีการบังคับใช้ NTMs ค่อนข้างสูง โดยในปี 2563 ไทยบังคับใช้ NTMs กับกลุ่ม CLMV  3,274 มาตรการ จำแนกเป็นมาตรการเพื่อควบคุมสินค้าเกษตร 1,026 มาตรการ มาตรการเพื่อควบคุมสินค้าอุตสาหกรรม 2,248 มาตรการ และมาตรการเพื่อควบคุมสินค้าอาหารแปรรูป 569 มาตรการ ขณะที่ CLMV บังคับใช้ NTMs กับไทย 5,328 มาตรการ จำแนกเป็นมาตรการเพื่อควบคุมสินค้าเกษตร 1,240 มาตรการ มาตรการเพื่อควบคุมสินค้าอุตสาหกรรม 4,088 มาตรการ และมาตรการเพื่อควบคุมสินค้าอาหารแปรรูป 481 มาตรการ ปัจจุบัน ทั้งไทยและกลุ่ม CLMV ยังไม่ดำเนินการค้าเสรีต่อกันอย่างแท้จริง ถึงแม้จะอยู่ภายใต้ AEC ผลกระทบของการบังคับใช้มาตรการทางการค้าดังกล่าวอาจนำมาซึ่งการสร้างต้นทุนให้ผู้ประกอบการ การบิดเบือนกลไกตลาด และมูลค่าการค้าสินค้าที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น


ประเทศไทยกับ CLMV มีมูลค่าการค้าและพึ่งพาการค้าสินค้าระหว่างกันในหลายรายการ เช่น CLMV นำเข้า ปศุสัตว์ ผลไม้สดแช่เย็นและแช่แข็ง และน้ำตาลทรายจากไทย ส่วนไทยนำเข้า ผักผลไม้และของปรุงแต่งจากผักผลไม้ สัตว์น้ำแช่เย็นและแปรรูป พืชและผลิตภัณฑ์ จากไทย โดยสินค้าอาหารแปรรูปถือเป็นกลุ่มสินค้าที่น่าสนใจ เนื่องจากไทยและ CLMV มีส่วนร่วมสูงในห่วงโซ่คุณค่าข้ามแดน ดังนั้นจึงควรอำนวยความสะดวกทางการค้าโดยลดการบังคับใช้ NTMs


แนวคิดผลกระทบของ NTM ต่อการค้าระหว่างประเทศ


1. การเข้าถึงตลาดส่งออก (Market Access)


UNCTAD (2013) ได้คำนวณ Market Access-Overall Level of Trade Restrictiveness (MA-OTR) โดยใช้ฐานข้อมูลของ UNCTAD Trains ในปี 2010 พบว่า มาตรการ NTMs เพิ่มอุปสรรคในการเข้าถึงตลาดส่งออกมากกว่ามาตรการทางภาษี 2 เท่า


2. ต้นทุนทางการค้า (Trade Cost)


UNESCAP (2019) วิจัยพบว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มาตรการ NTMs เพิ่มต้นทุนการนำเข้าสินค้าสูงถึง 15.3% ในขณะที่มาตรการทางภาษีเพิ่มต้นทุนการนำเข้าสินค้าเพียง 5.8%


3. ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค


มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) และมาตรการอุปสรรคทางการค้าทางด้านเทคนิค (TBT) ล้วนเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค


ผลกระทบของ NTM ต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI)  โดยในบางกรณีที่ประเทศผู้ผลิตต้องนำเข้าวัตถุดิบจากอีกประเทศ แต่ต้องเผชิญมาตรการ NTM สูงซึ่งกำกับโดยประเทศผู้นำเข้า บริษัทที่เป็นผู้ผลิตสินค้าเลือกที่จะลงทุนโดยตรงในประเทศที่มีวัตถุดิบ แทนการนำเข้าเพื่อลดต้นทุน


ความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมประชุม


ประเทศในอาเซียน โดยเฉพาะประเทศไทยและ CLMV ถือเป็นฐานผลิตที่สำคัญเพราะค่าแรงต่ำ มีต้นทุนการผลิตที่แข่งขันได้ การลงทุนในกลุ่มประเทศเหล่านี้ยังได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี ทั้งยังมีความสะดวกในเส้นทางการขนส่งทางบกระหว่างกันอีกด้วย


ที่ประชุมเสนอความเห็นว่าในอนาคตอาจจะต้องแยกเวียดนามแยกออกจาก CLM เพราะเวียดนาม มีการเติบโตทางเศรษฐกิจจากจำนวนประชากรที่อยู่ในวัยแรงงานจำนวนมาก มีค่าแรงที่อยู่ในเรทแข่งขันได้ ทำให้มีต้นทุนการผลิตต่ำ และประชากรส่วนมากอยู่ในชนชั้นกลาง ทำให้มีโอกาสเติบโตจากการบริโภคภายในประเทศอีกด้วย รวมถึงมีแผนพัฒนาของรัฐบาลในการลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานในเขตนิคมอุตสาหกรรมที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้งยังดึงดูดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติได้มาก หลายบริษัทมีการย้ายฐานการผลิตจากจีนมาอยู่ที่เวียดนามมากขึ้น


ปี 2050 เวียดนามมุ่งมั่นที่จะเป็นประเทศที่มีภาคการเกษตรติดชั้นนำของโลก ด้วยอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ทันสมัย ​​มีประสิทธิภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งไทยเองก็มีเป้าหมายเติบโตไปพร้อมๆ กับเวียดนาม แต่เพราะความแตกต่างด้านการเมืองการปกครองที่เวียดนามเหนือกว่าเพราะเป็นนโยบายของรัฐบาล คิดจะทำอะไรก็สามารถทำได้เลย แต่ไทยเองไม่สามารถทำได้เต็มที่เพราะยังมีความห่วงเรื่องคะแนนเสียง


คุณเสาวนีย์ นำเสนอว่า ในมุมมองของผู้ประกอบการที่ผลิตและส่งออกของไทย มีโอกาสในการนำเข้าวัตถุดิบมาแปรรูปเป็นสินค้ามูลค่าเพิ่มเพื่อผลิตและส่งออกอีกครั้ง และประเทศผู้นำเข้าของไทยต่างก็ให้ความสำคัญในเรื่องความยั่งยืนของวัตถุดิบที่มาจากการทำประมง โดยต้องมีระบบที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ของแหล่งจับและแหล่งเลี้ยงต้องมีเอกสารรับรองที่ชัดเจน ซึ่งปัญหาอุปสรรคที่พบจะเป็นความเชื่อมโยงหรือความล่าช้าจากกระบวนการตรวจสอบรับรองของหน่วยงานที่กำกับดูแลและส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ และค่อนข้างเป็นอุปสรรคต่อการอำนวยความสะดวกทางการค้า กรณีที่มี NTMs นั้น อยู่ในขั้นที่ผู้ประกอบการต้องพยายามที่จะปรับแก้ปัญหาได้ อย่างไรก็ตามรัฐต้องเข้ามาช่วยยกระดับพื้นฐานของเกษตกรเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ต่อไป


นอกจากนี้ที่ประชุมยังให้ข้อสังเกตและเสนอแนะต่องานวิจัย ดังนี้


·       ควรมีการกำหนดกลไกในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าที่เกิดจาก NTMs และต้องใช้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างรัฐ-เอกชน รวมถึงพิจารณาผลระทบของผู้ประกอบการเชิงลึก และพัฒนากลไกสนับสนุนการปรับตัว หรือเยี่ยวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ


·       การออกประกาศมาตรการ NTM ใหม่ ต้องมีความรอบคอบโดยพิจารณา ความพร้อมของผู้ประกอบการ หน่วยงานรัฐ โครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และต้องไม่ขัดกับพันธกรณีความตกลงภายใต้ WTO รวมถึงควรติดตามตั้งแต่ระดับของการร่างกฎระเบียบ สร้างมาตรฐานเพื่อลดการเกิด Trade Barrier


·       ควรศึกษาวิเคราะห์ภาพรวมเพื่อให้แห็น 2 ด้านของมาตรการ ทั้งของมาตรการประเทศเพื่อบ้านที่กระทบไทย และไทยมีมาตรการอะไรที่กระทบตลาดเพื่อนบ้าน จากนั้นจึงมาวิเคราะห์ว่า ประเด็นปัญหานั้นๆ เกี่ยวข้องกับภารกิจของหน่วยงานใดบ้าง-เก็บข้อมูล และนำเสนอในการเจรจาภาพรวมของประเทศ


·    ประเทศไทยควรมีแนวทางการเจรจาที่ชัดเจนและผู้เกี่ยวข้องเข้าใจร่วมกัน เพื่อให้การเจรจาเป็นไปในแนวทางของประเทศร่วมกันรวมถึงการออกกนโยบายต้าน NTMs ต่างๆ ควรคำนึงถึงสถานการณ์ภาพรวมของประเทศในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งรัฐต้องมีมาตรการรองรับและช่วยเหลือกลุ่มผู้ที่จะได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม


·       อาจส่งเสริมให้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการลดการใช้ NTMs เช่น หากผู้ประกอบการนำ blockchain มาใช้ช่วยตรวจสอบย้อนกลับ สร้างความโปร่งใส อาจส่งผลให้ลดการใช้ SPS TBT ได้ โดยอาจเป็นกลไกทดแทนที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภค


·    กรณีสินค้าเกษตร เนื่องจากกลุ่ม CLMV มีการผลผลิตสินค้าเกษตรค่อนข้างคล้ายกัน แต่ละประเทศอาจเจรจาร่วมกันเพื่อกำหนดเวลาในการนำเข้าส่งออกสินค้าให้มีความเสื่อมเวลากัน เพื่อลดปัญหาผลผลิตล้นตลาดในแต่ละประเทศ ซึ่งจะทำให้การใช้มาตรการ NTMs ลดลงได้


Public on 6th September 2022
Copyright of Thai Frozen Foods Association