ประชุมระดมความคิดเห็นเรื่อง "เพิ่มโอกาสการค้าการลงทุนด้วย FTA ไทย-GCC และ CEPA ไทย-UAE” ครั้งที่ 4

วันที่ 11 สิงหาคม 2566 คุณเสวนีย์ คำแฝง ผู้อำนวยการสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย และคุณกรวิชญ์ ทุมมานนท์ เจ้าหน้าที่สมาคมฯ เข้าร่วมการประชุมระดมความคิดเห็นเรื่อง "เพิ่มโอกาสการค้าการลงทุนด้วย FTA ไทย-GCC และ CEPA ไทย-UAE” ครั้งที่ 4 จัดโดยบริษัท โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย) จํากัด ผ่านระบบ Zoom Meeting สรุปดังนี้

คณะมนตรีความร่วมมืออ่าวอาหรับ หรือกลุ่ม GCC เป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลาง ประกอบด้วย บาห์เรน คูเวต โอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE)

เศรษฐกิจ GCC เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยในปี 2021 มี GDP รวมกันประมาณ 2.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ แต่รัฐบาล GCC กำลังพยายามที่จะกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจโดยการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น การท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ และเทคโนโลยี

อย่างไรก็ตาม การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของ GCC เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นทั่วโลก GCC ต้องประสบปัญหากับความต้องการใช้น้ำมันและราคาน้ำมันที่ลดลง ตลอดจนการหยุดชะงักในภาคส่วนต่างๆ เช่น การท่องเที่ยว รัฐบาลประเทศต่างๆ ใน GCC ได้ดำเนินมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบของการแพร่ระบาด ซึ่งรวมถึงมาตรการกระตุ้นทางการเงินและการสนับสนุนสำหรับธุรกิจและบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต

GCC มีนโยบาย มาตรการ และกฎระเบียบต่างๆ เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและการค้า รวมถึงเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของสมาชิก GCC ซึ่งครอบคลุมถึง การค้า การลงทุน การเงิน แรงงาน สิ่งแวดล้อม และพลังงาน

GCC ได้มีการจัดตั้ง FTA ระหว่างกัน สินค้าและบริการที่ผลิตใน GCC สามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรีโดยไม่เสียภาษี มีการจัดตั้งโครงการความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างกัน ซึ่งช่วยให้นักลงทุนสามารถลงทุนในโครงการต่างๆ ในประเทศสมาชิกได้อย่างสะดวก

ปัจจุบัน พบว่าพฤติกรรมผู้บริโภคในอนาคตของ GCC จะเปลี่ยนแปลงไป คาดว่าภูมิภาคตะวันออกกลางจะมีความต้องการอาหารฮาลาลที่เป็นอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากมีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้แนวโน้มการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะสินค้าประเภท Functional และ Healthy Products เพิ่มมากขึ้น

มีความต้องการอาหารฮาลาลที่เป็นอาหารแห้งและอาหารกระป๋องเป็นอย่างมาก เนื่องจากภูมิภาคนี้มีสภาพอากาศร้อนจัด อาหารกระป๋องซึ่งเก็บรักษาได้นานจึงเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค นอกจากนี้ GCC มีความต้องการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารที่หลากหลายทั้งระดับราคาและรสชาติ เนื่องจากผู้บริโภคมาจากหลากหลายเชื้อชาติและฐานะ

FTA ไทย-GCC จะช่วยยกระดับความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างไทยและ GCC ในการส่งเสริมการลงทุน และขจัดอุปสรรคทางการค้า โดยจะมีข้อตกลงครอบคลุมหลากหลายภาคส่วน รวมถึงสินค้า บริการ และการลงทุน
สำหรับสินค้าอาหารทะเล ความตกลง FTA ไทย-GCC คาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างมาก เนื่องจากกลุ่มประเทศ GCC เป็นตลาดสำคัญของสินค้าอาหารทะเลไทย โดยในปี 2565 ไทยส่งออกสินค้าอาหารทะเลไปยังกลุ่มประเทศ GCC มูลค่ากว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

FTA ไทย-GCC คาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อไทยอย่างมาก โดยจะช่วยลดภาษีศุลกากรลงอย่างมาก ซึ่งจะทำให้สินค้าอาหารทะเลไทยสามารถแข่งขันในตลาดนี้ได้มากขึ้นและมีโอกาสที่จะขยายตลาดไปยังภูมิภาคตะวันออกกลางมากขึ้น และมีการขยายการเข้าถึงตลาดและขยายการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ GCC ซึ่งมีประชากรเพิ่มขึ้นและมีความต้องการอาหารทะเลสูง แต่ก็ยังมีความท้าทายสำหรับผู้ส่งออก เนื่องจาก GCC มีมาตรฐานความปลอดภัยและคุณภาพของอาหารที่เข้มงวด และการปฏิบัติตามมาตรฐานเหล่านี้ส่งผลให้ต้นทุนสำหรับผู้ผลิตและผู้ส่งออกเพิ่มขึ้น

UAE เป็นตลาดที่น่าสนใจสำหรับสินค้าอาหารทะเลระดับพรีเมี่ยม สินค้าประมงที่นำเข้าหลัก ได้แก่ ปลาทูน่ากระป๋อง การนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารของ UAE ต้องมีใบรับรองเพิ่มเติม ได้แก่ ใบรับรองสุขภาพตันฉบับที่ออกโดยหน่วยงานรัฐบาลที่ของประเทศผู้ส่งออก เพื่อยืนยันถึงความเหมาะสมของผลิตภัณฑ์สำหรับการบริโภค

สำหรับสินค้าอ่อนไหวที่ UAE อาจไม่เปิดตลาด ได้แก่ สุกร อาหารทะเล เครื่องดื่ม ภายใต้การเจรจาในครั้งนี้

นัยต่อการเจรจาจัดทำ FTA ระหว่างไทยกับ GCC และ CEPA ระหว่างไทยกับ UAE สมาชิก GCC ได้ลงนามความตกลงทางการค้ากับหลายประเทศ/กลุ่มประเทศคู่ค้าทั่วโลก เพื่อผลักดันให้สมาชิก GCC เป็นศูนย์กลางการค้าโลกและประเทศเป้าหมายที่สำคัญของการลงทุน เมื่อการเจรจากับประเทศไทยสำเร็จจะเป็นอีกโอกาสสำคัญให้กับการค้าของ GCC ในตลาดภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายแสวงหาตลาดทางการค้าการลงทุนกับต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มสัมพันธ์ด้านการลงทุนและโอกาสสินค้าของ GCC สู่ตลาดสากล

ประเทศไทยเป็นพันธมิตรทางการค้าและการลงทุนที่สำคัญของ GCCโดยเฉพาะ UAE โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใตั รัฐบาล UAE มีความยินดีในการเติบโตทางการค้าทวิภาคีที่แข็งแกร่งของสองประเทศในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และเชื่อว่า CEPA จะมอบโอกาสมากมายในภาคส่วนต่างๆ เช่น การท่องเที่ยวความมั่นคงด้านอาหาร ไอที โลจิสติกส์ และบริการทางการเงิน

สมาชิก GCC เปิดตลาดการค้าสินค้าอย่างเต็มที่ภายใต้ความตกลงทางการค้าที่สมาชิก GCC มีระหว่างกัน และเปิดตลาดทั้งการค้าสินค้า การค้าบริการและการลงทุน และการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐภายใต้ความตกลงกับคู่ภาคี ดังนั้น การเจรจาจัดทำ FTA กับประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับทั้งการเปิดตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการและการลงทุน

UAE มีข้อตกลง CEPA กับ 4 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย อิสราเอล อินโดนีเซีย และตุรกี ทั้งนี้สองฉบับแรกมีผลบังคับใช้แล้ว และการลงนามในข้อตกลงอีกสองฉบับจะตามมาในภายหลัง ขณะนี้ UAE กำลังเจรจากับตลาดที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์มากขึ้นในระดับภูมิภาคและระดับโลกเพื่อสร้างข้อตกลงที่คล้ายคลึงกัน

การจัดทำ CEPA ระหว่างไทยกับ UAE เป็นความตกลงการค้าเสรีฉบับแรกที่ไทยทำกับประเทศในตะวันออกกลาง โดย UAE เป็นคู่ค้าสำคัญของไทยในตะวันออกกลาง ถือเป็นตลาดศักยภาพของไทย มีบทบาทเป็นศูนย์กลางการค้า การธนาคาร และการคมนาคมในตะวันออกกลางตลอดจนเป็นแหล่งขนถ่ายและส่งต่อสินค้าไปยังประเทศอื่น ๆ ทั้งในและนอกภูมิภาค

การสำรวจตลาดและโอกาสของผู้ประกอบการไทยใน UAE

ผู้บริโภคชาว UAE นั้นมีตัวเลือกสินค้าที่นำเข้าจากหลากหลายประเทศ โดยพบว่าสินค้าด้านอาหารของไทยมีอยู่ค่อนข้างมาก เช่น เครื่องดื่ม อาหารกระป๋อง อาหารแห้ง ผลไม้ ผัก ซอสปรุงรส เป็นต้น

ทั้งนี้ ยังถือว่าผลิตภัณฑ์จากไทยนั้นค่อนข้างน้อยหากเทียบกับชั้นวางของประเทศอื่นๆ เช่น อินเดีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม เป็นต้น ซึ่งหากมีการจัดทำ CEPA ระหว่างกันย่อมมีความเป็นไปได้ที่ผลิตภัณฑ์ด้านอาหารของไทยจะสามารถส่งออกไปยัง UAE ได้มากยิ่งขึ้น

บางผลิตภัณฑ์ เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง และข้าวหอมมะลิ ที่ไทยมีความโดดเด่นในการส่งออก ยังพบเห็นได้น้อยในตลาด UAE โดยจากการสำรวจตลาด พบว่า ปลาทูน่ามีการส่งออกไปแต่ให้แบรนด์ของ UAE ติดฉลาก
กลุ่มสินค้าอาหารในไทยมีความต้องการส่งออกอาหารไปยังกลุ่ม GCC ที่ทราบว่ามีศักยภาพสูงในการบริโภค แต่ยังคงเผชิญกับปัญหาการรับรองฮาลาล เช่นในซาอุดีอาระเบีย และ UAE จะต้องมีการขอใบอนุญาตนำเข้า ดังนั้นขั้นตอนก็จะเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ไทยเสียโอกาสทางการค้าไป จึงถือเป็นประเด็นที่ควรมีการผลักดันต่อไป และควรมีการผลักดันด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation)


ในด้านสินค้าเกษตร ไทยควรให้ความสำคัญเรื่องประสิทธิภาพในการผลิตให้ได้มาตรฐานและในจำนวนที่เพียงพอต่อความต้องการของกลุ่ม GCC โดยพัฒนาคุณภาพการผลิตของเกษตรกรรายเล็กและใหญ่เพื่อให้ส่งออกสินค้าไปขายกับ GCC ที่มีตลาดขนาดใหญ่และมีความสามารถในการซื้อสูง


Public on 6th September 2022
Copyright of Thai Frozen Foods Association