ประชุมสถานการณ์และแนวทางการส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตร อาหารและเครื่องดื่ม ครั้งที่ 3/2566

วันพุธที่ 21 มิถุนายน 2566 เวลา 09.30-11.45 น. ณ ห้องประชุม 50601 ชั้น 6 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

สมาคมฯ โดย คุณอนุชา เตชะนิธิสวัสดิ์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย พร้อมด้วย คุณเสาวนีย์ คำแฝง ผู้อำนวยการสมาคมฯ และนายประมุข ตะเคียนคาม ผู้จัดการฝ่ายบริการข้อมูลวิชาการ เข้าร่วมการประชุมสถานการณ์และแนวทางการส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตร อาหารและเครื่องดื่ม ครั้งที่ 3/2566 โดยมี นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ กรรมการ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เป็นประธานการประชุม ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้

1. สรุปรายงานสถานการณ์ส่งออก สินค้าเกษตร อาหาร และเครื่องดื่ม ปี 2566 (ม.ค. - เม.ย.)

การส่งออกไทยในช่วง 4 เดือน (ม.ค. - เม.ย.) ของปี 2566 มีมูลค่าการส่งออกรวม 92,003.34 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (3,110,977.21ล้านบาท) หดตัว 5.22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตร อาหาร และเครื่องดื่ม ในช่วง 4 เดือน (ม.ค. - เม.ย.) ของปี 2566 มีมูลค่ารวม 10,771.63 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (364,398.66 ล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้น 14.93% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 โดยมีสินค้าเกษตรและอาหารส่งออกที่สำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ผักผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง 2) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง 3) ข้าว 4) ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป 5) อาหารทะเลสด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋อง และแปรรูป และมีตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ จีน ญึ่ปุ่น สหรัฐฯ อินเดีย และกัมพูชา

ผลสืบเนื่องมาจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก, ความกังวลในการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและราคาพลังงานส่งผลให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สินค้าเกษตรขยายตัวได้ดี โดยการส่งออกผลไม้ทํารายได้สูงสุด, การส่งออกข้าวและไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง ยังคงขยายตัวต่อเนื่องและการส่งออกไปยังตลาดเป้าหมายยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดจีน สําหรับแนวโน้มการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566 มีทิศทางขยายตัวเล็กน้อย เป็นผลมาจากความต้องการสินค้าอาหารในตลาดโลกยังคงเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากหลายประเทศมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID - 19
คาดการณ์แนวโน้มการส่งออกปี 2566 รายสินค้า จากกระทรวงพาณิชย์ มีดังนี้

สินค้าประมง มูลค่าภาพรวม เพิ่มขึ้น 3% (เมื่อคำนวณเฉพาะสินค้าทูน่า มูลค่าเพิ่มขึ้น 3%)

อาหารสัตว์เลี้ยง เป้าหมายการส่งออก 95,296 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5%

เครื่องดื่ม มูลค่าเพิ่มขึ้น 2%

อาหารสำเร็จรูป มูลค่า เพิ่มขึ้น 2%

อาหารแห่งอนาคต (Future Food) มูลค่า เพิ่มขึ้น 2%

2. สถานการณ์ แนวโน้ม และแนวทางการส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตร อาหาร และเครื่องดื่ม ในช่วงเดือนมกราคม - เมษายน 2566 แยกรายสินค้า

สินค้าประมง

การส่งออกสินค้าอาหารทะเลสด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋อง และแปรรูป ช่วงเดือนมกราคม - เมษายน 2566 มีมูลค่าทั้งสิ้น 1,290.93 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (43,620.72 ล้านบาท) มีอัตราการปรับตัวลดลง 9.09 % เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปี 2565 โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และประเภทของสินค้าส่งออกสําคัญ ได้แก่ ทูน่ากระป๋อง อาหารทะเลกระป๋องอื่นๆ และปลาหมึก มีชีวิต สด แช่เย็น แช่แข็ง

การส่งออกสินค้ากุ้งสดแช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป ช่วงเดือนมกราคม –เมษายน 2566 มีมูลค่าทั้งสิ้น 277.60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (9,385.10 ล้านบาท) มีอัตราการปรับตัวลดลง 14% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปี 2565 โดยมีตลาดส่งออกสําคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และประเภทของสินค้าส่งออกสําคัญ ได้แก่ กุ้งสด แช่เย็น แช่แข็ง และกุ้งแปรรูป

การส่งออกสินค้าทูน่ากระป๋องและแปรรูป ช่วงเดือนมกราคม – เมษายน 2566 มีมูลค่าทั้งสิ้น 647.05 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (21,853.22 ล้านบาท) มีอัตราการปรับตัวลดลง 4.88% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของ ปี 2565 โดยมีตลาดส่งออกสําคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และซาอุดิอาระเบีย และมีสินค้าส่งออกสําคัญ ได้แก่ ทูน่ากระป๋อง และทูน่าแปรรูป

อาหารสัตว์เลี้ยง

การส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยง ช่วงเดือนมกราคม – เมษายน 2566 มีมูลค่าทั้งสิ้น 750.07 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (25,365.36 ล้านบาท) มีอัตราการปรับตัวลดลง 22.57% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปี 2565 โดยมีตลาดส่งออกสําคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ซึ่งมีประเภทของสินค้าส่งออกสําคัญ ได้แก่ อาหารสุนัขและแมว และอาหารสัตว์อื่นๆ

เครื่องดื่ม

การส่งออกสินค้าเครื่องดื่ม ช่วงเดือนมกราคม - เมษายน 2566 มีมูลค่าทั้งสิ้น 999.12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (33,770.44 ล้านบาท) มีอัตราการปรับตัวลดลง 0.41% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปี 2565 โดยมีตลาดส่งออกสําคัญ ได้แก่ กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม และประเภทของสินค้าส่งออกสําคัญ ได้แก่ เครื่องดื่มอื่นๆ น้ําแร่น้ําอัดลมที่ปรุงรส และน้ําผลไม้อื่น ๆ

อาหารสำเร็จรูป

การส่งออกสินค้าอาหารสําเร็จรูป ช่วงเดือนมกราคม - เมษายน 2566 มีมูลค่าทั้งสิ้น 4,763.32 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (160,938.85 ล้านบาท) มีอัตราการปรับตัวลดลง 2.10 % เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปี 2565 และมีตลาดส่งออกสําคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ อินเดีย และจีน สำหรับประเภทของสินค้าส่งออกสําคัญ ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป

ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสําเร็จรูป และไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์

อาหารแห่งอนาคต

การส่งออกสินค้าอาหารแห่งอนาคต (Future Food) ช่วงเดือนมกราคม –เมษายน ของปี 2566 มีมูลค่าทั้งสิ้น 1,184.67 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (40,034.18 ล้านบาท) มีอัตราการปรับตัวลดลง 3.55% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปี 2565 โดยมีตลาดส่งออกสําคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ จีน และเวียดนาม และมีประเภทของสินค้าส่งออกสําคัญ ได้แก่ อาหารฟังก์ชั่น (Functional Food) อาหารใหม่ (Novel Food) อาหารทางการแพทย์ (Medical Food) และอาหารอินทรีย์ (Organic Food)

ความเห็นที่ประชุม

สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย โดยคุณอนุชา แจ้งที่ประชุมว่า สำหรับสินค้ากุ้งยังพบปัญหาเรื่องผลผลิตในประเทศมีปริมาณไม่เพียงพอต่อการผลิต ปัญหาโรคระบาดก็ยังคงพบอยู่อย่างต่อเนื่อง ในส่วนของสินค้าประมงจับจากทะเล เนื่องจากวัตถุดิบในประเทศราคาค่อนข้างสูง ทำให่แข่งขันได้ค่อนข้างยาก อย่างไรก็ตาม ขอให้รัฐ โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์พิจารณาแนวทางการนำเข้าสินค้าประมงจากต่างประเทศเพื่อนำมาใช้ในการผลิตเพื่อการส่งออก รวมถึงลดอุปสรรคในการนำเข้า เพื่อสนันสนุนภาคอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าประมงให้อยู่รอดได้

ในส่วนของสถานการณ์การส่งออก ในช่วงต้นปี 2566 คำสั่งซื้อค่อนข้างน้อย เนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าไม่ค่อยดี โดยเฉพาะการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ คาดว่า ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566 การส่งออกสินค้าประมงน่าจะมีแนวโน้มดีขึ้น จากการฟื้นตัวของสถานการณ์ COVID-19 และคาดว่า การส่งออกสินค้าประมงภาพรวมปี 2566 น่าจะใกล้เคียงหรือขยายตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ สมาคมฯ ขอเชิญร่วมงาน "เทศกาลกินกุ้ง" ณ ตลาดทะเลไทย สมุทรสาคร โดยงานจะจัดในระหว่างวันที่ 22-25 มิถุนายน 2566 เวลา 10.30-20.00 น. เพื่อช่วยกระตุ้นการบริโภคสินค้ากุ้งในประเทศด้วย

สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย ชี้แจงที่ประชุมเพิ่มเติมว่า ในส่วนของสินค้าทูน่า มีการนำเข้ามาเพื่อผลิตจำนวนมาก ผู้ประกอบการหลายรายเริ่มหันมาสนใจเรื่อง BCG มากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นของ Carbon Footprint ซึ่งสมาคมฯ จะเริ่มนำประเด็นนี้มาประชาสัมพันธ์ในการจัดงานแสดงสินค้าและการประชุมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ สำหรับการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง มีแนวโน้มหดตัวลง เนื่องจากการฟื้นตัวของสถานการณ์ COVID-19 ส่งผลให้ผู้บริโภคออกมาทำงานและใช้ชีวิตข้างนอกมากขึ้น รวมถึงซื้ออาหารสดมาเพื่อเลี้ยงสัตว์ได้ และมีการวิจัย พบว่า สัตว์เลี้ยง อาทิ แมว มีอุปนิสัยเบื่ออาหารง่าย จึงทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนสูตรอยู่เรื่อยๆ คาดว่า ปี 2566 การส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงอาจมีแนวโน้มลดลง 8%

สำหรับอาหารสำเร็จรูป พบว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หลายประเทศมีความกังวลเรื่องความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป การส่งออกอาหารสำเร็จรูปจึงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันสถานการณ์ต่างๆ เริ่มดีขึ้น ประกอบกับเกิดปัญหาเศรษฐกิจในบางประเทศ การส่งออกอาหารสำเร็จรูปจึงลดลงตามไปด้วย โดยตัวเลขการส่งออก น่าจะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา หรือมีแนวโน้มกลับสู่ตัวเลขฐานส่งออกเดิมก่อนที่จะมีการระบาดของ COVID-19 (2564)

ในส่วนของอาหารแห่งอนาคต พบว่า ภาคการผลิตยังไม่เป็น Mass Production มากนัก แต่ก็มีแนวโน้มการบริโภคอาหารกลุ่มนี้มากขึ้น โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ของผู้ประกอบการไทย ยังแข่งขันได้ยาก เนื่องจากรสชาตอาจยังไม่เหมาะกับการบริโภคในฝั่งตะวันตก และส่วนใหญ่เน้นที่กลุ่มอาหาร Fast Food ประเทศไทยจึงมีแนวโน้มการผลิตสินค้าประเภท Thainess Future Food แทน แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับจากตลาดได้ดีเท่าที่ควร จึงเสนอให้ภาครัฐจัดกิจกรรมส่งเสริมการบริโภคอาหารประเภทนี้ในประเทศเพิ่มมากขึ้น และจัดกิจกรรม Business Matching ให้กับผู้ประกอบการ โดยสินค้าที่น่าจะส่งออกได้เพิ่มขึ้น ได้แก่ กลุ่ม Plant Based และ โปรตีนจากแมลง

3. สรุปผลการจัดงานแสดงสินค้าอาหาร 2566 (THAIFEX – ANUGA ASIA 2023) พบว่า ตลอดการจัดงาน มีมูลค่าการซื้อขาย 120,002.09 ล้านบาท และมีจํานวนผู้เข้าร่วมงาน (Exhibitors) ทั้งผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการต่างชาติ รวมทั้งสิ้น 3,034 บริษัท จำนวน 5,859 คูหา โดยมีจํานวนผู้เข้าชมงานระหว่างวันที่ 23 – 27 พ.ค. 66 มีจํานวนทั้งสิ้น 131,039 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 57.63 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งโซนสินค้าที่มีการสั่งซื้อมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ Fine Food, Fruits &Vegetables, Food Technology, Coffee & Tea และ Food Service และประเทศที่มีการสั่งซื้อมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ จีน ไทย สหรัฐฯ มาเลเซีย และญี่ปุ่น

Public on 6th September 2022
Copyright of Thai Frozen Foods Association