ให้สัมภาษณ์กับ York University ประเทศแคนาดา

วันที่ 6 มิถุนายน 2566 เวลา 15.00 น. คุณวิบูลย์ สุภัครพงษ์กุล อุปนายกสมาคม ได้ให้สัมภาษณ์กับ Ms. Carli Melo, PhD Candidate, York University, เมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา โดยหัวข้อที่ต้องการศึกษา คือ การเข้าใจภาคการแปรรูปอาหารทะเลของประเทศไทย และประสบการณ์ของผู้ย้ายถิ่นแรงงานชาวเมียนมาร์ โดยเฉพาะในพื้นที่โรงงานแปรรูปอาหารทะเลในจังหวัดสมุทรสาคร “research project seeks to understand Thailand’s seafood processing sector and the experiences of Myanmar migrants employed in this sector, with a particular focus on seafood processing factories in Samut Sakhon Province”

โดยจากการสัมภาษณ์ มีสรุปดังนี้

1. ภาพรวมของอุตสาหกรรม โดยสมาชิกของสมาคมฯ จะแบ่งเป็นสินค้าหลักคือ กุ้ง ปลา และหมึก โดย

กุ้งเป็นสินค้าหลักที่มีห่วงโซ่อุปทานในประเทศไทย ทั้งอาหารสัตว์ วัตถุดิบกุ้งที่มีฟาร์มเลี้ยงเป็นส่วนใหญ่ และโรงงานผลิตส่งออก เป็นสินค้าที่มีการส่งออก 80% บริโภคภายในประเทศ 20% โดยอดีตประเทศไทยมีการส่งออกกุ้งเป็นอันดับต้นๆ ของโลก มีผลผลิตกุ้งปริมาณ 500,000-600,000 ตัน/ปี แต่ตั้งแต่ปี 2554 มีโรคระบาด EMS ซึ่งส่งผลให้ปริมาณวัตถุดิบกุ้งลดลงกว่า 50% โดยปัจจุบันผลผลิตที่ได้เหลือประมาณ 300,000 ตัน/ปี มีการส่งออกไปตลาดหลักคือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และแถบเอเชีย ตามลำดับ สำหรับตลาดยุโรปมีการส่งออกน้อยลงอย่างมากจากปัญหาถูกตัดสิทธิภาษี GSP

ปลามีการนำเข้าวัตถุดิบจากพม่า อินเดีย ปากีสถาน เป็นต้น ในส่วนปลาแซลมอน มีการนำเข้าจากประเทศนอร์เวย์ ชิลี เกาหลีใต้ เป็นต้น โดยเป็นสินค้าที่มีการขายในประเทศและมีการส่งออก โดยการส่งออกเป็นสินค้า Surimi Product เป็นหลักและมีเนื้อปลาแล่บางส่วน โดยตลาดส่งออกที่สำคัญคือ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และแถบเอเชีย

หมึกมีการนำเข้าวัตถุดิบจากเปรู อินเดีย จีน และอาร์เจนตินา เป็นต้น โดยเป็นสินค้าที่มีการขายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ประมาณ 90% และมีการส่งออก ตลาดส่งออกที่สำคัญคือ อิตาลี จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น

2. การระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา สมาชิกสมาคมฯ ได้มีการดำเนินการและปฏิบัติตามกฎระเบียบกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เช่น การจัดให้แรงงานได้รับวัคซีน ,การช่วยเหลือสิ่งจำเป็นสำหรับแรงงาน, การคัดแยกและมีการจัดทำ Area Isolate สำหรับผู้ได้รับเชื้อแยกออกเพื่อการดูแล

3. ผลกระทบที่ผ่านมากจากสถานการณ์โควิด-19 คือมีแรงงานพม่าจำนวนมากเดินทางกลับประเทศ และไม่สามารถกลับมาทำงานในไทยได้ ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้แรงงานข้ามชาติจำนวนมาก โดยเฉพาะแรงงานพม่า ทั้งนี้ภาครัฐได้มีการแก้ไขปัญหาในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่การเดินทางข้ามประเทศยังทำได้ยาก โดยนำแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในประเทศไทยที่ใบอนุญาตต่างๆ หมดอายุ มีการเปิดให้ต่ออายุโดยไม่ต้องเดินทางกลับประเทศต้นทาง สำหรับแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายที่อยู่ใประเทศไทย ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้ทำงานได้ และแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

4.สมาคมฯ ได้มีการนำแนวปฏิบัติที่ดีด้านแรงงาน (Good Labour Practices: GLP) ซึ่งเป็นโครงการแบบสมัครใจ มาใช้กับสมาชิกเพื่อให้เป็นแนวทางในการปฏิบัติสำหรับแรงงาน โดยได้มีการดำเนินการมากว่า 6 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้แรงงานมีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งสิ่งที่ต้องการสำหรับโรงงาน และจะเป็นการส่งผลให้โรงงานได้ให้ความสนใจ ความสำคัญกับแรงงานมากยิ่งขึ้น คือต้องมีการประชาสัมพันธ์ โปรโมท GLP ให้เป็นที่ยอมรับของลูกค้าทั่วโลก ซึ่งต้องใช้เวลา และหากสามารถดำเนินการได้จะทำให้เราไม่ต้องกังวลในเรื่องแรงงาน, IUU

สำหรับการดำเนินการ GLP จะเป็นการนำเสนอพูดคุยกับผู้บริหารของโรงงาน เพื่อให้เข้าใจ เพื่อให้เกิดการยอมรับ และส่งผลให้สามารถสั่งการ และทำให้การดำเนินการ GLP ได้รับความร่วมมือมากยิ่งขึ้น

GLP ให้ความสำคัญในเรื่องการมีส่วนร่วมของนายจ้างและลูกจ้าง, การรับฟังข้อร้องเรียนต่างๆ ผ่านคณะกรรมการสวัสดิการ, การให้ความสำคัญและดูแลแรงงานหญิง เป็นต้น


ทั้งนี้ การศึกษาหัวข้อด้านแรงงาน เป็นการศึกษาที่มีความสำคัญ เนื่องจากแรงงานเป็นปัจจัยหนึ่งที่ลูกค้าให้ความสำคัญ และมีผลกระทบต่อการค้าขายในปัจจุบันอย่างมาก ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมต่อไป


Public on 6th September 2022
Copyright of Thai Frozen Foods Association