เข้าพบนายยรรยง พวงราช ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี กระทรวงพาณิชย์

วันที่ 8 พฤษภาคม 2567 เวลา 13.30 น. ณ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย โดยนายอนุชา เตชะนิธิสวัสดิ์ นายกสมาคมฯ, ดร.ผณิศวร ชำนาญเวช นายกกิตติคุณสมาคมฯ, นายชูพงษ์ ลือสุขประเสริฐ เลขาธิการสมาคมฯ และประธานคณะอนุกรรมการกลุ่มกุ้งฯ, นายนคร หาญไกรวิไลย์ กรรมการสมาคมฯ, นายศิลปชัย ภูวเศรษฐ กรรมการสมาคมฯ, นางสาวเสาวนีย์ คำแฝง ผู้อำนวยการสมาคมฯ และนางสาววาสนา ตรังใจจริง เจ้าหน้าที่สมาคมฯ พร้อมด้วย นายเอกพจน์ ยอดพิพินิจ นายกสมาคมกุ้งไทย, นายสมชาย ฤกษ์โภคี นายกสมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย และ นายสมภพ เอื้อทรงธรรม เลขาธิการสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ได้เข้าพบนายยรรยง พวงราช ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งสมาคมฯ ได้เสนอประเด็นการส่งเสริมตลาด และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมสินค้าประมงต่อกระทรวงพาณิชย์ ดังนี้


1. ส่งเสริมการขยายตลาดโดยเฉพาะตลาดจีนที่มีความเชื่อมั่นในสินค้ากุ้งไทย และมีโอกาสในการขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งสินค้ากุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง และสินค้ากุ้งต้ม โดยขอให้จัดสรรงบประมาณผู้ประกอบการและผู้เลี้ยง ในการออกบูธ โดยกระทรวงพาณิชย์ภายใต้ Thailand Pavilion ในงานแสดงสินค้าอาหารทะเลระดับใหญ่ๆ ของจีน อาทิ China Fisheries & Seafood Expo 2024 (Qingdao), World Seafood Shanghai (SIFSE),และ Fishery & Seafood Expo-Fishex Guangzhou รวมถึง เน้นตลาดโซน asia เช่น ประเทศเกาหลี และไต้หวัน ซึ่งเป็นตลาดที่มีกำลังขยายตัว สำหรับตลาดอเมริกา ยังบริโภคกุ้งเยอะ แต่หันไปซื้อตลาดอื่นแทน เช่น เอกวาดอร์ อินเดีย ส่วนตลาดญี่ปุ่น ยอมลดคุณภาพ เพื่อแลกกับราคาที่ถูกลง ทั้งนี้ ราคายังเป็นตัวกำหนดในการตัดสินใจซื้อสินค้า


2. ขอให้ส่งเสริมการบริโภคสินค้ากุ้งภายในประเทศ จัดกิจกรรม และจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์การบริโภคกุ้ง ในพื้นที่สนามบิน รถไฟฟ้า และจังหวัดแหล่งท่องเที่ยวของไทย โดยสร้าง soft power ให้กับสินค้ากุ้งไทย เช่น ประเทศเวียดนาม มีการประชาสัมพันธ์โดยใช้สื่อVDO สั้นๆเกี่ยวกับเมนูกุ้ง ทำให้ผู้บริโภคสนใจ แเพื่อกระตุ้นการบริโภคกุ้ง


3. เร่งเจรจา FTA-EU โดยขอให้สินค้ากุ้งแช่เย็นแช่แข็งและกุ้งแปรรูป ได้รับการยกเว้นอากร(ลดภาษีเป็น 0%) ทันที ที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ โดยสินค้าทั้ง 2 รายการเป็นสินค้าที่ถูกสหภาพยุโรปตัดสิทธิ GSP ตั้งแต่ปี 2557 ทำให้ต้องเสียภาษีกุ้งในอัตราร้อยละ 12 และ 20 ทำให้ไม่สามารถแข่งขัน กับประเทศคู่แข่งที่ได้สิทธิ GSP เช่น เวียดนาม และอินโดนีเซียได้ และเวียดนามเป็นประเทศที่ผลิตกุ้ง เพื่อการส่งออก ร้อยละ 95 ไม่มีตลาดในประเทศรองรับ


4. ขอให้กระทรวงพาณิชย์ช่วยพิจารณาทบทวนลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบสำหรับผลิตอาหารกุ้ง โดยเฉพาะวัตถุดิบ เช่น กากถั่วเหลือง และปลาป่น โดยกากถั่วเหลืองเสียอัตราภาษีนำเข้า 2% และขอให้นำเข้ากากถั่วเหลืองจาก3 ปี เป็น 1 ปี ทั้งนี้ สำหรับการนำเข้าปลาป่นรัฐบาลอนุญาตให้นำเข้าเฉพาะปลาป่นที่มีโปรตีนสูงกว่า 60% โดยเสียอัตราภาษี 15% สำหรับปลาป่นนำเข้าจากเปรู ขอให้พาณิชย์พิจารณาปรับ ลดภาษีนำเข้ากากถั่วเหลืองและปลาป่น เป็น 0 และอนุญาตให้นำเข้าคราวละ 3 ปี เช่นเดิม เพื่อให้สามารถลดต้นทุนการผลิต


5. ขอให้กระทรวงพาณิชย์ ประสานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการใให้งบแก้ไขปัญหาโรคกุ้ง และศึกษาวิจัยด้านโรคอย่างต่อเนื่อง รวมถึง การสนับสนุนการจัดทำมาตรฐาน ASC, BAP ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ทางลูกค้าต้องการ

อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงพาณิชย์เห็นด้วยในการผลักดัน การบริโภคกุ้งภายในประเทศ ให้มี Soft power เพื่อกระตุ้นการบริโภคกุ้ง ในประเทศ อาทิ เมนูต้มยำกุ้ง และการจัด Modern trade และงาน Thaifex Anuga Asia 2024 ของไทย เป็นการส่งเสริมตลาดภายในประเทศ


สำหรับประเด็นการเจรจาต่อ FTA-EU หรือขอสิทธิประโยชน์ GSP นั้นต้องใช้เวลาพอสมควรประมาณ 2-3 ปี ซึ่งกระทรวงฯจะติดตามให้อย่างต่อเนื่อง


Public on 6th September 2022
Copyright of Thai Frozen Foods Association