20 กรกฎาคม 2565 เวลา 13.30-16.30 น. ทาง Zoom Online Meeting

เรียน  สมาชิกสมาคมฯ


สรุปผลการประชุมคณะทำงาน 8 สมาคมฯ (TSFR : Thailand Sustainable Fishery Roundtable) ร่วมกับกรมประมงเพื่อพิจารณาร่างแผนปฏิบัติการพัฒนาการทำประมงอวนลากฝั่งอ่าวไทย วันพุธที่ 20 กรกฎาคม 2565 เวลา 13.30-16.30 น. ทาง Zoom Online Meeting มีสาระสำคัญ ดังนี้


 ตามที่หน่วยงาน MarinTrust ซึ่งเป็นหน่วยงานประเมินความก้าวหน้าโครงการพัฒนาและปรับปรุงการทำประมงอวนลากฝั่งอ่าวไทย (Gulf of Thailand Trawl Fishery Improvement Project) ได้แนะนำให้คณะทำงานฯ ทำการปรับปรุงแผนปฏิบัติการพัฒนาการทำประมงอวนลากฝั่งอ่าวไทย (Fishery Action Plan : FAP) ให้เป็นปัจจุบัน ซึ่งคณะทำงานฯ ได้เรียนเชิญ ผศ.ดร.จิราภรณ์  ไตรศักดิ์ อาจารย์จากคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้ทำการปรับปรุงแผนดังกล่าว


 ทั้งนี้ ผศ.ดร.จิราภรณ์ ได้ปรับปรุงร่างแผนดังกล่าวนี้เรียบร้อยแล้ว และได้ประชุมกับหน่วยงานภายในกรมประมง รวมถึงเวียนร่างแผนฯ ให้กับคณะทำงาน 8 สมาคมฯ เพื่อพิจารณาขอความเห็นเบื้องต้นแล้ว จึงได้มีการจัดการประชุมครั้งนี้ขึ้น เพื่อขอข้อคิดเห็นเพิ่มเติมจากกรมประมง ก่อนเข้าร่วมการประชุมชี้แจงร่างแผนฯ กับหน่วยงาน MarinTrust ในวันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม 2565


 ข้อคิดเห็นจากที่ประชุมในประเด็นต่างๆ ภายใต้ร่างแผนฯ มีดังนี้


1) กลุ่มสัตว์น้ำที่ถูกคุกคาม ใกล้สูญพันธุ์  และถูกคุ้มครอง (ETP Species)   


- ผู้ประเมิน แจ้งว่า ผลการประเมินเดิมยังไม่มีการบันทึกการจับ ETP Species จากการประมงอวนลาก และหลักฐานทางวิทยาศาสตร์  รวมถึงมาตรการควบคุมที่ชัดเจน  ซึ่งทางกรมประมงแจ้งว่า กรมประมงมีการดำเนินการในส่วนนี้แล้ว อาทิ การทำ Fishing Log Book ที่ระบุว่าจับ ETP Species หรือไม่, การกำหนดพื้นที่อนุรักษ์ ETP Species, การทำงานร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเกี่ยวกับมาตรการป้องกันและฟื้นฟูสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม (MMPA) ซึ่งน่าจะสามารถชี้แจงกับผู้ประเมินได้ อย่างไรก็ตาม ขอให้กรมประมงพิจารณาในส่วนของการบรรจุการรายงานผลการจับ ETP Species ลงในรายงานประจำปีของกรมประมงด้วย


2) ระบบนิเวศ


- ผู้ประเมิน แจ้งว่า ประเทศไทยยังขาดการประเมินผลกระทบของการประมงอวนลากต่อระบบนิเวศที่ชัดเจน ซึ่งกรมประมงชี้แจงว่า กรมประมงได้มีการทำการวิจัย Ecopath และ Food Web Model ของอ่าวไทยแล้ว และมีผลการวิจัยตีพิมพ์เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ หากมีผลการวิจัยเพิ่มเติมว่าสัตว์น้ำชนิดใดที่มีความเสี่ยงต่อการทำประมงอวนลาก ก็สามารถนำมาใส่ในแบบจำลองที่กรมประมงจัดทำไว้ได้ เพื่อประเมินผลกระทบของ Ecological Species ต่อการประมงฝั่งอ่าวไทย ซึงสามารถชี้แจงผู้ประเมินในประเด็นนี้ได้


3) ผลจับสัตว์น้ำที่เข้าสู่โรงงานปลาป่น


- ผู้ประเมิน แจ้งว่า จากการประเมินครั้งก่อนพบว่า ยังไม่มีมาตรการ/แผน รวมถึงการเก็บข้อมูลที่ชัดเจนในการกำหนด/ลดการจับสัตว์น้ำวันอ่อนที่จะเข้าสู่โรงงานปลาป่น ซึ่งในประเด็นนี้ กรมประมงชี้แจงว่า กรประมงมีการประเมิน Stock ของสัตว์น้ำชนิดหลักๆ อยู่ทุกปี โดยมีแผนการสุ่มและเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีวิธีการในการเก็บข้อมูลที่เชื่อถือได้และเป็นวิธีที่สากลยอมรับ โดยกรมประมง (กองวิจัยและพัฒนาประมงทะเล) รับจะเตรียมข้อมูลในส่วนนี้ เพื่อชี้แจงกับผู้ประเมินต่อไป


ทั้งนี้ ทางคณะทำงาน 8 สมาคมฯ (TSFR) ได้แจ้งที่ประชุมว่า ขอให้ทางกรมประมงจัดเตรียมข้อมูลที่ได้จากการประชุมในครั้งนี้ เพื่อนำไปชี้แจงกับผู้ประเมินในวันที่ 25 กรกฎาคม 2565 โดยทางคณะทำงานฯ จะจัดส่งหนังสือเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมต่อไป


Public on 6th September 2022
Copyright of Thai Frozen Foods Association